วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

รู้จัก "PTEC" ศูนย์ทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าแห่งแรกของไทย

รู้จัก "PTEC" ศูนย์ทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าแห่งแรกของไทย
 

ทำไมภาพในจอโทรทัศน์ถึงไม่ชัด เมื่อมีการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือใกล้ๆกัน ? และทำไมถึงต้องห้ามใช้มือถือเมื่ออยู่ในโรงพยาบาล ? คำถามเหล่านี้ "พีเทค" ศูนย์เล็กๆ ของเนคเทค ที่ซ่อนตัวอยู่ในลาดกระบังมานานกว่า 10 ปี มีคำตอบ

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ได้มีโอกาสเยี่ยม ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือพีเทค (PTEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อเป็นหน่วยงานวิจัยและให้บริการทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด โดยอยู่ภายใต้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยพีเทคก่อตั้งขึ้นในปี 2541

พีเทคเป็นศูนย์บริการด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย โดยให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมเทคนิคการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน สำรวจสภาพแวดล้อมทางแม่เหล็กไฟฟ้า การทดสอบสายอากาศ

(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
รมว.วท. และคณะสื่อมวลชน ขณะชมการสาธิตการทดสอบความปลอดภัยของปลั๊กไฟฟ้า และแบตเตอรีโทรศัพท์มือถือ
ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายบริการทางเทคนิค พีเทค ขยายรายละเอียดของหน่วยงานให้ฟังว่า การทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า คือการทดสอบว่า อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ส่งสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนการทำงานของอุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งหรือไม่ เช่น โทรทัศน์กับคอมพิวเตอร์, คอมพิวเตอร์กับโทรศัพท์มือถือ, โทรศัพท์มือถือกับอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น

"เมื่อเราใช้งานโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ในเวลาเดียวกัน คอมพิวเตอร์ที่ให้กำเนิดสัญญาณความถี่ของแม่เหล็กไฟฟ้าที่เท่ากับหรือใกล้เคียงกับวงจรฐานเวลาหรือวงจรกำเนิดความถี่ของแม่เหล็กไฟฟ้าในโทรทัศน์ จะไปรบกวนการทำงานของวงจรฐานเวลา ทำให้ภาพที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์สั่นไหวไม่ชัดเจน เช่นเดียวกับที่โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ถูกรบกวนจากโทรศัพท์ ซึ่งการส่งสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนกันของอุปกรณ์ไฟฟ้า 2 ชนิด ตัวที่เป็นแหล่งกำเนิดการรบกวน จะต้องมีคลื่นความถี่ที่สูงกว่า และส่งผ่านพาหะหรือตัวกลาง คือ สายไฟ หรือ อากาศไปยังอุปกรณ์หรือเหยื่อที่ถูกรบกวน" ดร.ไกรสร อธิบาย

ที่สำคัญเคยมีรายงานในสหรัฐฯ ว่าโทรศัพท์มือถือไปรบกวนการทำงานของอุปกรณ์การแพทย์ในโรงพยาบาลหลายชนิดและทำให้เกิดความผิดปรกติ เช่น ตู้ควบคุมอุณหภูมิสำหรับเด็กอ่อนแรกคลอด เครื่องกระตุ้นหัวใจ และเครื่องอ่านจังหวะการเต้นของหัวใจ เป็นต้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยถึงแต่ชีวิตได้ จึงเป็นที่มาของการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในบางพื้นที่ของโรงพยาบาล และเอฟดีเอ (Food and Drug Administration: FDA) ยังได้ออกกฎให้ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจจะต้องมีเครื่องเตือนภัยเมื่อเข้าเขตพื้นที่เสี่ยง หลังจากที่พบกรณีเครื่องป้องกันขโมยตามห้างร้านต่างๆ ส่งสัญญาณรบกวนเครื่องกระตุ้นหัวใจในตัวผู้ป่วยโรคหัวใจเมื่อเดินผ่านเครื่องดังกล่าว

(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบและได้มาตรฐาน
"อุปกรณ์ที่ดีต้องไม่ส่งสัญญาณรบกวนอุปกรณ์อื่น ขณะเดียวกันก็ต้องต้านทานการรบกวนจากอุปกรณ์อื่นๆ ได้ หรือมีภูมิคุ้มกันการรบกวนนั่นเอง" ดร.ไกรสร ระบุ ซึ่งตามมาตรฐานสากลกำหนดไว้ว่าการส่งสัญญาณรบกวนกันของอุปกรณ์จะต้องอยู่ในระยะไม่เกิน 3 เมตร

ทั้งนี้ ความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า หรืออีเอ็มซี (Electromagnetic Compatibility: EMC) คือ ความสามารถของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทำงานได้ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า และในขณะเดียวกัน ต้องสามารถทนต่อการถูกรบกวนจากปรากฏการณ์ทางแม่เหล็กฟ้าจากภายนอกได้ ซึ่งการแพร่สัญญาณไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า อีเอ็มไอ (Electromagnetic Interference: EMI) และความสามารถในการต้านทานการรบกวนของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า อีเอ็มเอส (Electromagnetic Susceptibility: EMS)

ส่วนห้องแล็บทดสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดโดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล ก็เป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญมาก ซึ่งหากอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้ไม่ได้มาตรฐาน หรือใช้วัตถุดิบที่คุณภาพไม่ดี อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ เช่น ปลั๊กไฟที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ใช้วัสดุที่ทนความร้อนสูงสุดระหว่างการใช้งานไม่ได้ อาจเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ได้โดยที่หลายคนอาจไม่คาดคิด

รวมทั้งแบตเตอรีโทรศัพท์ เตารีด กระติกน้ำร้อน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สำรองไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ และอื่นๆ ซึ่งพีเทคจะต้องทดสอบความปลอดภัยในสภาวะการทำงานปรกติ และสภาวะต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้พีเทคยังมีห้องแล็บให้บริการทดสอบประสิทธิภาพแผงโซลาร์เซลล์ การสอบเทียบเครื่องมือวัดทางไฟฟ้า และเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ปัญหาสัญญาณรบกวน เช่น สนามบิน รถไฟฟ้าบีทีเอส กองทัพเรือ และธนาคารต่างๆ ส่วนการทำงานของพีเทคนั้นจะได้รับการตรวจสอบและประเมินทุกๆ ปี ตามมาตรฐานไอเอสโอ/ไออีซี (ISO/IEC 17025) ซึ่งดำเนินการโดย สมอ.และขณะนี้พีเทคมีเจ้าหน้าที่รวม 19 คน โดยให้บริการทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ตั้งแต่ขนาดเล็กๆ ไปจนถึงขนาดใหญ่ รวมถึงอุปกรณ์ที่เป็นของเล่นสำหรับเด็กด้วย

(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
ขดลวดเฮล์มโฮลทซ์ สำหรับสอบเทียบเครื่องมือวัดสนามแม่เหล็ก ภายในห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือวัดทางไฟฟ้า
พีเทคจะให้บริการทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าแก่บริษัทต่างๆ ที่ต้องการขอใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และมาตรฐานเอฟซีซี (FCC) ของสหรัฐฯ โดยการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ในโรงงาน และผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด รวมถึงให้บริการทดสอบเพื่อนำไปขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของแต่ละประเทศ เพื่อที่จะสามารถส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นได้ ซึ่งแต่ละปีจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการของพีเทคประมาณ 100 ราย เช่น โซนี เจวีซี เป็นต้น

ดร.ไกรสร บอกว่า ในอนาคตพีเทคมีแผนที่จะขยายห้องแล็บเพื่อให้บริการทดสอบในด้านอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และอุปกรณ์อาร์เอฟไอดี (RFID) รวมถึงพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งการให้บริการของพีเทคนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยไม่ต้องเสียเงินและเสียเวลาในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศ ลดการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ และลดปัญหาการว่างงานได้

ทั้งนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของพีเทค ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อวันที่ 27 เม.ย.52 ที่ผ่านมา ได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมการทำงานของพีเทคให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสินค้าในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้มีการทำงานวิจัยร่วมกับเอกชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้มีคุณภาพดีขึ้น

รวมถึงให้มีการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้ที่ว่างงานหรือกำลังจะว่างงาน เพื่อให้มีความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพต่อไปได้ สนับสนุนการร่วมมือกับเอกชนในการฝึกอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องมาตรฐานและการทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับบริษัท และหากพนักงานมีความรู้และมีฝีมือมากขึ้นก็จะช่วยลดปัญหาการเลิกจ้างงานได้



ที่มาข้อมูล : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 3 พฤษภาคม 2552
 
https://www.myfirstbrain.com/sciEvent.aspx?Id=69637

Hotmail® goes with you. Get it on your BlackBerry or iPhone.