วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"ชุมชนบ้านบาตร"

ชุมชนบ้านบาตร
บาตรทำมือ ผลงานประณีตศิลป์ของชาวชุมชนบ้านบาตร

ความเป็นมาของชุมชนนี้ สืบเนื่องมาจากชาวเขมรที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและถูกจับมาเป็นเชลยศึกตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โดยได้รวมกันตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมคลองรอบกรุงฝั่งตะวันออกไปจนถึงวัดจางวางดิส (วัดดิสานุการาม) บริเวณถนนวรจักร ใกล้โรงพยาบาลกลางในปัจจุบัน แล้วต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวเขมรเหล่านั้นมาตั้งบ้านเรือนอาศัยรวมกันอยู่บริเวณที่เรียกว่า "เกาะเขมร" ชาวเขมรเหล่านี้มีฝีมือการทำบาตรพระติดตัวมาด้วย จึงได้ประกอบอาชีพทำบาตรพระ จนกลายเป็นบริเวณที่เรียกว่า "ชุมชนบ้านบาตร"

บาตรของชาวชุมชนบ้านบาตรมีชื่อเสียงมาก เพราะเป็นบาตรพระบุทำมือ ที่ต้องขึ้นรูปด้วยการตีเหล็กประสานเข้าด้วยกันทีละแผ่น และแบ่งหน้าที่กันทำตามกระบวนการ ประกอบด้วย ช่างตีขอบ ช่างต่อบาตร ช่างแล่น ช่างลาย ช่างตี และช่างตะไบ ซึ่งต้องอาศัยฝีมือและความอดทนอย่างสูง บาตร 1 ใบกว่าจะทำเสร็จต้องใช้เวลานานหลายวัน หลังจากทำเสร็จแล้วจะส่งไปขายที่ตลาดเสาชิงช้า ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์




แต่เดิม หน้าบ้านแทบทุกหลังในชุมชนบ้านบาตร จะมีอุปกรณ์และเครื่องมือการทำบาตรพระตั้งวางอยู่ แต่จนกระทั่งปี พ.ศ.2514 ชาวชุมชนบ้านบาตรต้องประสบปัญหาโรงงานผลิตบาตรปั๊มมาตีตลาด ด้วยสนนราคาที่ถูกกว่ามาก คือ บาตรบุด้วยมือของชาวบ้านบาตรจะมีราคาสูงกว่าบาตรปั๊มจากเครื่องจักรถึง 8 เท่า และบาตรปั๊มเมื่อพระนำไปถือออกบิณฑบาต จะรู้สึกเบาไม่หนักมือ จึงทำให้ยอดการผลิตบาตรทำมือของชาวชุมชนแห่งนี้ต้องหยุดชะงักลง จนหลายครอบครัวจำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองจากอยู่บ้านนั่งตีเหล็กเพื่อทำบาตรกลายเป็นประกอบอาชีพอย่างอื่นแทน เพราะหารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงหลงเหลือเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นในชุมชนแห่งนี้ที่ยังคงยึดอาชีพการทำบาตรพระอยู่

ต่อมาในราวปี พ.ศ.2544 นายชาญชัย วามะศิริ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายในขณะนั้น ได้รวบรวมชาวชุมชนบ้านบาตรที่ยังคงทำบาตรพระอยู่ จัดตั้งเป็นกลุ่มทำบาตรพระขึ้นมา และได้ส่งเสริมอนุรักษ์การทำบาตรพระโดยเชิงท่องเที่ยว คือ ส่งเสริมให้มีการพานักท่องเที่ยวเข้ามาดูวิธีการทำบาตรพระในชุมชน และส่งเสริมให้ชาวชุมชนทำบาตรพระในรูปแบบและขนาดต่างๆ รวมทั้งขนาดของที่ระลึกเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวด้วย ตั้งแต่นั้นชุมชนบ้านบาตรจึงค่อยเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง

ปัจจุบันชุมชนบ้านบาตรตั้งอยู่บริเวณสี่แยกในโรงปูน ซอยบ้านบาตร ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 37 งาน ที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สภาพทั่วไปเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวและสองชั้น รวมถึงบ้านปูนตามแบบสมัยใหม่ ปลูกอยู่ติดกัน ทางเดินเท้าภายในชุมชนเป็นคอนกรีตเชื่อมติดต่อกันตลอด สภาพโดยรวมแล้วแทบไม่ต่างอะไรจากแหล่งชุมชนทั่วไปในเมืองอันแออัด แต่ชุมชนแห่งนี้ยังคงเป็นที่กล่าวขานถึงฝีมือการทำบาตรพระที่มีรอยตะเข็บ 8 ชิ้น อันมีความสัมพันธ์กับพุทธประวัติ แม้ว่าจะหลงเหลือผู้ผลิตอยู่น้อยรายก็ตามที





ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่อยู่ ซอยบ้านบาตร ถนนบริพัตร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
รถประจำทาง สาย 5, 8, 21, 37, 47, 48, 49, 56, 508
ที่จอดรถ บริเวณริมถนนบริพัตรและในซอยบ้านบาตร
การถ่ายรูป สามารถถ่ายรูปได้
สถานที่ใกล้เคียง วัดสระเกศ, พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง), วัดพระพิเรนทร์, วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร, สถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง, ชุมชนบ้านดอกไม้
แผนที่ คลิกดูแผนที่ตั้งของชุมชนบ้านบาตร
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=47730

Insert movie times and more without leaving Hotmail®. See how.