วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552

ร้องเพลง พ้อเลป่า

ร้องเพลง พ้อเลป่า

ส่งมาเมื่อ 18 เม.ย. 2009 - 00:00:00.  หมวด: ชีวิต  ป้าย:

ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย

เพลง พ้อเลป่า

คำร้อง-ทำนอง ลีซะ ชูชื่นจิตสกุล

 

ตำนานแผ่นดินของโลกป่า ที่ผู้คนเข้าใจว่าถึกเถื่อน

กำเนิดอักษรแห่งทุ่งเขา เสียงผู้เฒ่าดังก้องกังวาน

เขียนเรื่องโลกป่าด้วยสองมือ สื่อเรื่องราวชีวิตในเผ่าพันธุ์

จารึกชีวิตด้วยสีขาว ให้โลกรู้ปัญญาของโลกป่า

พ้อเลป่า ผู้เฒ่าแห่งแม่แฮ

เขียนชีวิต เขียนแผ่นดินด้วยเลือดเนื้อ

พ้อเลป่า ผู้เฒ่าแห่งแม่แฮ

เขียนชีวิต เขียนแผ่นดินด้วยวิญญาณ โฮ...

จากมือที่หยิบถ่านไม้ขีด เป็นเรื่องราวรอยเท้าเหนือทุ่งเขา

เกิดเป็นนักเขียนบ่ต้องตาย นักเขียนตายคนเกิดเป็นร้อยคน

คน คนต้องตาย แต่คนไม่ตายได้ต้องเขียนหนังสือ

ขับโลกให้เคลื่อนด้วยอักษรเป็นตำนานนักเขียนแห่งทุ่งไร่

 





*** เราร้องเพลงร่วมกัน ลีซะ ,สุวิชานนท์ ,ชิ สุวิชาน ,ดึ๊พอและคือวา

ร้องเพลงอำลาผู้เฒ่าพ้อเลป่า

ในตอนใกล้เที่ยง วันจันทร์ที่ 6 เมษายน 2552

ณ สุสานแม่แฮใต้

http://blogazine.prachatai.com/user/chonklumnoi/post/1937

 



Rediscover Hotmail®: Get e-mail storage that grows with you. Check it out.

เยือนรัง “พ้อเลป่า”ปราชญ์ปกากะญอ คนเขียนหนังสือ: เขียนชีวิตและจิตวิญญาณ (1)

เยือนรัง "พ้อเลป่า"ปราชญ์ปกากะญอ คนเขียนหนังสือ: เขียนชีวิตและจิตวิญญาณ (1)

  09 เม.ย. 2009 - 00:00:00.  หมวด: ชีวิต  ป้าย:

ผมหยิบงานที่ผมเขียนถึง 'พ้อเลป่า' ปราชญ์ปกากะญอขึ้นมาอ่านอีกครั้ง หลังทราบข่าวจาก 'หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง' ว่า 'พ้อเลป่า' เสียชีวิตอย่างสงบแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา... ก่อนที่ผมและเพื่อนกำลังออกเดินทางไปบนทางสายเก่า สายนั้น...



ที่มาภาพ
: www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=308.105

1.

ก่อนนั้น การเดินทางของผู้คนบนภูเขานั้นต้องเดินด้วยเท้า ก้าวย่างไปบนถนนดิน เส้นทางป่าอย่างเงียบง่าย มิรีบเร่ง มิรีบร้อน ไปมาหาสู่กันในหมู่ญาติพี่น้อง เอาของป่าไปขายในเมือง และกลับคืนมาสู่หมู่บ้านกลางป่าพร้อมของใช้ที่จำเป็นบางอย่าง
ทว่ามาบัดนี้เดี๋ยวนี้ บางสิ่งเริ่มแปลกเปลี่ยนไป เมื่อมีการสร้างถนนคอนกรีต ถนนลาดยางสีดำคล้ายดั่งงูใหญ่ที่เลื้อยลัดเลาะจากเมืองเบื้องล่างหันหน้าข้ามหุบห้วยขุนเขา ดงป่ามาถึงหมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมืองบนภูเขา แล้วเหมือนมีบางอย่างเข้าทำลายและกลืนกินทุกสรรพสิ่ง
ใช่, มันพร้อมกับความเปลี่ยน ความโลภและความเร็ว!
เมื่อหลายเดือนก่อน, ผมและผองเพื่อนอีกห้าชีวิต มีโอกาสได้เดินทางไปเยือนรังผู้เฒ่าปกากะญอ "พ้อเลป่า" ณ หมู่บ้านแม่แฮใต้ บนดอยสูงในเขตอำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่
นาม "พ้อเลป่า" นั้นหลายรู้จักมักคุ้นกันดี ว่าคือผู้เฒ่านักเขียนปกากะญอผู้ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยใช้ถ่านไม้สีดำข้างเตาไฟ นำมาขีดเขียนบนฝากระดานไม้ ด้วยตัวหนังสือ ปกากะญอที่คิดค้นกันมาในภายหลัง ก่อนที่ 'วีรศักดิ์-กัลยา ยอดระบำ' นำมาถ่ายทอดแปลเป็นภาษาไทยให้เราได้อ่านได้เรียนถึงคมความคิด วิถีปรัชญาปกากะญอว่าแหลมคมและสอดคล้องสัมพันธ์ กับวิถีธรรมชาติและโลกนี้เพียงใด
หากทว่า พ้อเลป่า ในห้วงวัยชรายามนี้ ไม่อาจนั่งขีดเขียนได้เหมือนเก่าก่อน เพราะสังขารและความชราโรยนั้นเข้ามาเยี่ยมเยือนชีวิต
"สายตาบ่ค่อยดีแล้ว เพ่งผ่อเมินบ่ได้ น้ำตามันจะไหล" พ่อเฒ่ากับเราในยามเย็นย่ำของชีวิต
แต่นั่นไม่เป็นสำคัญมากนัก เมื่อขีดเขียนหนังสือไม่ได้ แต่การนั่งพูดคุย สนทนากัน แล้วมีคนนำไปเขียนบันทึกเรื่องราวเก็บไว้มันย่อมมีคุณค่าอยู่ในตัวหนังสือ
"เป็นเขียนหนังสือแม่นก่อ เขียนต่อไปนะอย่าหยุด ผมจะบอกกับนักเขียนที่มาเยี่ยมเยือนเสมอว่า ถึงตายไป แต่หนังสือนั้นยังพูดได้ ตัวหนังสือไม่มีวันตาย" พ้อเลป่าเอ่ยย้ำอยู่อย่างนั้น
ทำให้ผมอดครุ่นคิดคำนึงไปถึงนักเขียนอาวุโสอีกท่านหนึ่ง ซึ่งความป่วยไข้เข้ารุมเร้าชีวิต จนครั้งนั้น ท่านไม่สามารถจับดินสอ ปากกา ขีดเขียนเป็นตัวหนังสือได้ ทว่าหัวใจนั้นยังแกร่งและเปี่ยมศักดิ์ศรีแห่งนักเขียน ไม่ยอมแพ้ แม้มีนักเขียนคนหนึ่ง เคยเอ่ยกับท่านว่า ช่วยบอกเล่าด้วยคำพูดแล้วเขาจะช่วยจดบันทึก ลงในกระดาษให้ หากนักเขียนอาวุโสคนนี้กลับแกร่ง มิยอมจำนน นานนัก- -กับการพยายามอดทนต่อสู้กับความป่วยไข้ ที่สุด ท่านก็กลับมาขีดเขียนหนังสือได้- -ดุจอินทรีผู้กางปีกกล้าบินอยู่เหนือดอยสูงอีกครั้ง
อากาศหนาวห้วงนั้น แปรปรวนเปลี่ยนไปไม่เหมือนแต่ก่อน เมื่อวานฝนตกกระหน่ำ หนักหน่วง วันนี้อาการจึงร้อนอบอ้าวมากยิ่งขึ้น
"ผมว่าที่โลกร้อนนั้น อาจเป็นเพราะโลกเฮา เมืองเฮามีถนนปูนเพิ่มมากขึ้น"พ่อเฒ่าเอ่ยรำพึงกับเรา เมื่อหลายคนบ่นถึงธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม
อาจจริง- -อย่างพ่อเฒ่าพ้อเลป่าพูดถึง ถนนปูน ถนนคอนกรีตนั้นเหมือนอยากสื่อความหมายถึง การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง จึงทำให้โลกเปลี่ยน ธรรมชาติเปลี่ยน เช่นทุกวันนี้!
 

เยือนรัง “พ้อเลป่า”ปราชญ์ปกากะญอ คนเขียนหนังสือ: เขียนชีวิตและจิตวิญญาณ(2)

 

ส่งมาเมื่อ 17 เม.ย. 2009 - 00:00:00.  หมวด: ชีวิต  ป้าย:

 
ที่มาภาพ : www.thaioctober..com/forum/index.php?topic=308.105

เมื่อเราพูดถึงเรื่อง การพัฒนาและความเจริญ ที่คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งไปทางนั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา และมันกำลังรุกคืบคลานเข้ามาในวิถีบนบ้านป่าบ้านดอยอย่างต่อเนื่อง
"ก็ดีๆ หมดนั่นแหละ แต่จะถูกหรือบ่ถูกนั้นบ่ฮู้ ต้องมันเกิดเสียก่อนจึงจะฮู้"พ้อเลป่า รำพึงในความเปลี่ยน ผมจ้องมองในดวงตาของพ่อเฒ่ารื้นชื้นด้วยน้ำใสๆ
พ่อเฒ่าหยิบกล้องยาสูบออกมาจากกระเป๋าเสื้อ มืออันเหี่ยวย่นล้วงหยิบยาสูบในถุง เอายาสูบยัดใส่กล้อง ผมจุดไฟให้ พ่อเฒ่านั่งชันเข่าสูบยา ปล่อยให้ควันยาลอยอ้อยอิ่งก่อนจางหายพร้อมกับความคิดคำนึง
"เพราะคนส่วนใหญ่ชอบใช้ชีวิตอยู่ด้วยตากับหูแต่บ่ใช้ใจ"
ผมนิ่งฟังและครุ่นคิดเงียบงันในคำพูดนั้น ก่อนพ่อเฒ่าจะอธิบายให้หูตาสว่างกระจ่างแจ้ง
"คนเฮา ถ้าใช้หูมากนักล้ำไป ทำให้เฮาเกิดความอยาก ความบ่ฮู้จักพอ  คิดจะทำอะไรบ่ค่อยได้ใช้ใจตรองดูเสียก่อน กว่าจะฮู้ มันก็ทำลายชีวิตเฮาหมดเลย"
จริงสิ เราชอบใช้หูใช้ตามากเกินไป กิเลส ความไม่รู้จักพอจึงพอกพูนไปทั่ว หากไม่รู้จักหยุดจักยั้งใจไว้บ้าง อยากได้โน่นอยากได้นี่ สร้างโน่นสร้างนี่ อยากกอบโกย และครอบครองทุกสิ่ง แม้กระทั่งธรรมชาติ
ครั้นเมื่อความมืดเข้าคลี่คลุมหมู่บ้าน
ธรรมชาติยามค่ำคืนก็เริ่มฉายภาพความงามให้มองเห็น เด่นตาเด่นใจ
โน่น เดือนเสี้ยวเริ่มทอแสง ดวงดาวผุดพรายกระพริบวิบวาว สุกใสกลางฟ้า กิ่งไม้โยกไกวไหวไปไหวมา หอมกลิ่นดอกกาแฟ ยามลมภูเขาพัดโชยระรื่นชื่นเย็น แหละนั่นหิ่งห้อยวิบวับวับแวมไปมาไม่อยู่นิ่ง บางตัวเหมือนพยายามจะพาตัวเองบินขึ้นสู่ที่สูง และเมื่อทุกคืนเงียบนิ่ง จักยินเสียงฮอก กระดึงวัวดังก๊องแก๊งๆ ประสานเสียงแมลงกลางคืนสอดรับกัน คล้ายวงมโหรีแห่งดงดอยบรรเลงขับขาน
พีหน่อตึ๊รี แม่เฒ่าคู่ชีวิตของพ้อเลป่าสาละวนอยู่ในครัวไฟ ตะโกนเรียกให้พวกเรากินข้าวกันได้แล้ว
เรานั่งอยู่ตรงนี้ ล้อมวงกันอยู่นอกระเบียงบ้านหลังเล็กๆ ตะเกียงดวงเดียวในบ้านถูกจุดสว่างทอแสงวอมแวม สาดส่องใบหน้าทุกคนนั้นเป็นสีเหลืองอบอุ่นและเปี่ยมสุข
กลางวงนั้นมี "ถาดไม้เก่อหม่า" ถาดไม้โบราณใส่ข้าวสุกข้าวไร่จนพูนเต็ม กับข้าวมื้อนี้ช่างเอร็ดอร่อยและเรียบง่าย แกง "หน่อย" หรือมันป่าใส่เนื้อหมู แกงผักกูด แหนมเนื้อเก้งจิ้มพริกเกลือ พ่อเฒ่าบอกว่า ชาวบ้านเขาไปหามาและแบ่งปันให้
ผมจ้องมอง ของใช้คู่กายของพ้อเลป่าด้วยความสนใจ นอกจากกล้องยาสูบแล้ว ยังมีช้อนไม้ไผ่ที่ตัดกระบองให้เฉียง มีกิ่งโค้งยาวงอเป็นด้ามจับ เวลาจะตัก พ่อเฒ่าจะค่อยๆ ช้อนข้าวที่วางกองในถาดไม้นั้น เหมือนกับอะไรหนอ เหมือนกับอะไรหนอ ผมพูดกับตัวเอง
"เอ้า! หมู่เฮากินข้าวกันได้แล้ว ส่วนผมกำลังใช้แบคโฮตักข้าวบนดอยแล้ว.."พ้อเลป่ามักพูดด้วยอารมณ์ขัน อารมณ์ดี กับทุกคนที่มาเยี่ยมเยือน
"พ้อเลป่า อ่อเม เด้อหน่อเทอกวาบอ
พ้อเลป่า กินข้าว ด้วยช้อนไม้ไผ่.."
เพื่อนคนหนึ่งพูด พึมพำ พึมพำไปมา ..เหมือนกับกำลังท่องจำไว้ไม่ให้ลืมเลือน
หมายเหตุ : ผมหยิบงานที่ผมเขียนถึง 'พ้อเลป่า' ปราชญ์ปกากะญอขึ้นมานำเสนออีกครั้ง หลังทราบข่าวจาก 'หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง' ว่า 'พ้อเลป่า' เสียชีวิตอย่างสงบแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
ดูภาพเล่าเรื่อง... ประตูสุดท้าย "พ้อเลป่า" ทอดร่างนิ่งสงบอยู่กลางป่า ในคอลัมน์การเดินทางของนักรบที่ไม่มีใครรู้จัก http://blogazine.prachatai.com/user/chonklumnoi/
 

ผบ. ร.12 พัน.2 รอ.แจงผ่านเน็ตไม่ได้ทำร้ายหญิงเสื้อแดงเมื่อ 13 เม.ย.

ผบ. ร.12 พัน.2 รอ.แจงผ่านเน็ตไม่ได้ทำร้ายหญิงเสื้อแดงเมื่อ 13 เม.ย. 

 

ที่มาของคลิป อัลจาซีร่า

 

ตามที่มีกระแสข่าวในอินเตอร์เน็ตว่า ชายที่ปรากฏในภาพข่าวอัลจาซีร่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และสื่ออื่นๆ ซึ่งได้กระจากศีรษะผู้ชุมนุม นปช. ที่เป็นสตรี ที่ย่านดินแดง เมื่อ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา คือ พ.ท.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช ผู้บังคับกองพัน กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ (ร.12 พัน.2 รอ.) ค่ายนิมมาณกลยุทธ ซึ่งมีที่ตั้งที่ ต.แซร์ออ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว นั้น

 

วันนี้ (16 เม.ย.) ในเว็บไซต์ของค่ายนิมมาณกลยุทธ (http://www.nimmarn.net/) ผู้ดูแลเว็บหรือเว็บมาสเตอร์ได้ตั้งหัวข้อ "กรณีชายนิรนามทำร้ายผู้หญิงเสื้อแดง ในวันสลายม็อบ" โดยมีคำชี้แจงดังนี้

 

กรณีชายนิรนามทำร้ายผู้หญิงเสื้อแดง ในวันสลายม็อบ

 

 

ภาพชายนิรนามทำร้ายผู้หญิงเสื้อแดง

 

จากการกล่าวหาพาดพิงถึง พ.ท.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช ไปเกี่ยวข้องกับชายนิรนาม จริงหรือไม่

 

ผมเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์ตลอดช่วงที่ทหารสลายม็อบ ทุกช่วง ผมอยู่ห่างจากเหตุการณ์นี้เพียง 5 เมตรเท่านั้น

 

ภาพที่กล่าวหา ว่าชายนิรนามเสื้อเขียวในภาพนั้น คือ พ.ท.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช  นั้นไม่เป็นความจริง เพราะ

 

1. ในวันนั้น เวลานั้น พ.ท.เกรียงศักดิ์ ไม่ได้สวมชุดพลเรือน

 

 

นี่คือภาพ เวลานั้นที่ พ.ท.เกรียงศักดิ์ กำลังปฏิบัติงานควบคุมดูแลในการรักษาความสงบเรียบร้อย

 

2.ให้ดูจากนาฬิกาของชายนิรนามใส่ จะเป็นสีดำ แต่ พ.ท.เกรียงศักดิ์ เป็นเหล็กสีบรอนซ์ แถมใส่สายรัดข้อมือของในหลวงอีก

 

 

3.รูปร่างลักษณะชายนิรนามในภาพ ผิวดำ เป็นรูปร่างสูง สังเกตได้จากตัวสูงกว่าทหารที่ยืนอยู่แถวหน้าถือโล่ ซึ่งถูกคัดมาให้มีรูปร่างสูงใหญ่แข็งแรง แต่ พ.ท.เกรียงศักดิ์ เป็นคนผิวขาว และสูง แค่ 163 ซม. หนักแค่ 58 กก. เอง

 

 

อยากให้ทุกท่านที่เข้าเยี่ยมชมเวบไซต์ค่ายนิมมาณกลยุทธ ได้โปรดรับข้อมูลที่ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้สื่อต่างๆเพื่อหวังผลทาง การเมืองโดยใช้วิธีสกปรก ใส่ร้ายป้ายสี  ผมซึ่งอยู่ในเหตุการณ์นี้ เมื่อ 13 เมษา มาโดยตลอด (คนใส่ชุดฝึกที่มีกระดาษสีขาวเหน็บที่กระเป๋ากางเกงด้านขวา) ขอรับรองว่า ทหารไม่เคยทำร้ายประชาชนแน่นอนครับ ดังคำกล่าวที่พวกผมท่องไว้อยู่ในใจเสมอว่า

 

"เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน"

 

 

 

นอกจากนี้ในวันนี้ (16 เม.ย.) ในเว็บไซต์พันทิพ ห้องราชดำเนิน คุณ "สมภพ เจ้าเก่า" ได้ตั้งกระทู้หัวข้อ P7755737 "ผู้ชายที่จิกผมผู้หญิง ไม่ใช่ทหารนอกเครื่องแบบนามว่า พ.ท.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช" โดยผู้ตั้งกระทู้ได้เผยแพร่อีเมล์ชี้แจง พ.ท.เกรียงศักดิ์ ซึ่งขี้แจงว่า

 

 

 

 

ภาพที่แนบมาโดย พ.ท.เกรียงศักดิ์

 

ก่อนอื่นขอขอบคุณครับที่สอบถาม ข้อเท็จจริงมา ผมขอยืนยันว่าไม่ใช่ผมที่ทำร้ายผู้หญิงอย่างที่เป็นข่าวใน web ต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนของคนเสื้อแดง ในวันนั้นผมปฏิบัติหน้าที่ในการยุติความรุนแรงและสลายการชุมนุมใน พท.ดินแดงและ ถ.ราชปรารภ โดยแต่งเครื่องแบบทหารตามรูปที่แนบมาให้ดู ผมอยู่กลุ่มกลางภาพทางขวามือ ให้สังเกตที่ที่ข้อมือซ้ายของผมจะใส่นาฬิกาสายแสตนเลส ส่วนผู้ชายในรูปที่คุณส่งมาให้ดูจะใส่นาฬิกาสายหนังหรือพลาสติกสีดำ และส่วนสูงของผมและผู้ชายคนดังกล่าวก็แตกต่างกันมาก เพราะผมสูงประมาณ 164 ซม. ส่วนผู้ชายในรูปน่าจะสูงไม่ต่ำกว่า 170 ซม. วันนั้นผู้ชายคนนั้นเป็นกลุ่มสื่อมวลชนที่ไปทำข่าว ผู้หญิง 2 ท่านที่มาประท้วงหน้าแถวทหารห่างจากพวกผมประมาณ 50 เมตร และมีการโต้เถียงกันจนเป็นเหตุดังกล่าว

 

และที่สำคัญครับ ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกคนในพื้นที่นั้น สวมเครื่องแบบทหารชุดฝึกเต็มรูปแบบ ไม่มีใครใส่นอกเครื่องแบบ เพราะเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่เน้นย้ำ...

 

คิดว่าคุณคงได้รับคำตอบที่ชัดเจน และถูกต้องแล้วน่ะครับ อย่างไรช่วยชี้แจงให้ทุกท่านที่เข้าใจผิดทราบด้วยครับ เพื่อยุติความขัดแย้งต่อกันของคนในชาติ เพราะพวกผมอยากทำงานเสียสละให้ชาติมากกว่าการทำหน้าที่อย่างวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา....

 

ด้วยความเคารพ

พ.ท.เกรียงศักดิ์  นันทโพธิ์เดช

 

 

 

จากข้อมูลของเว็บไซต์ค่ายนิมมาณกลยุทธนั้น กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ หรือ ร.12 พัน.2 รอ.ค่ายนิมมาณกลยุทธ ต.แซร์ออ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ถือกำเนิดจากการจัดตั้งหน่วย ผส.2 ร.พัน.4 ซึ่งเป็น พัน. ร. เบา (อจย. 7 - 1) มีที่ตั้ง ปกติชั่วคราว อยู่ที่บริเวณ รพ.ค่ายจักรพงษ์ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เมื่อปี 2523 ได้เคลื่อนย้ายหน่วยเข้าประจำที่ตั้งปกติถาวร ณ ค่ายนิมมาณกลยุทธ ต.แซร์ออ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ต่อมาได้มีการแปรสภาพหน่วย ตามลำดับดังนี้

 

ในปี 2522 ได้แปรสภาพหน่วยจาก ผส.2 ร.พัน.4 เป็น ร.2 พัน.4 ปี 2524 ได้แปรสภาพหน่วยจาก พัน.ร.เบา เป็น พัน.ร.มาตรฐาน ปี 2526 ได้ปรับโอนการบังคับบัญชาจากหน่วยในอัตราของ ร.2 รอ.มาขึ้นการบังคับบัญชาเป็นหน่วย ในอัตราของ ร.12 ปี 2532 ได้แปรสภาพหน่วยจาก พัน.ร.มาตรฐานเป็น พัน.ร.ยานเกราะ ใช้นามย่อว่า "ร.12 พัน.2 รอ." จนถึงปัจจุบัน

 

สำหรับเกียรติประวัติของหน่วย เมื่อ 3 ธ.ค. 2523 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตสถาปนาเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ (ภปร.) เมื่อ 30 ธ.ค.2523 เข้าร่วมพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ เมื่อ 19 มี.ค.2524 ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหาร

 

เมื่อ 27 มี.ค.2527 ได้รับพระราชทาน พระบรมราชานุญาตเปลี่ยนเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ 5 มี.ค.2533 ได้รับพระราชทานนามค่ายว่า "ค่ายนิมมาณกลยุทธ" (ผู้วางแผนการยุทธอันล้ำเลิศ) เพื่อเป็นเกียรติ พ.ต.นิ่ม ชโยดม และ เมื่อ 2 ธ.ค.2542 จัดกำลังพล 1 หมู่ธงชัยเฉลิมพล เข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนามของหน่วยทหาร รักษาพระองค์

 

สำหรับภารกิจหน่วยคือ 1. เข้าประชิดข้าศึกโดยใช้อำนาจการยิงและการดำเนินกลยุทธ เพื่อทำลายและจับข้าศึก 2. ผลักดันการเข้าตีของข้าศึก ด้วยการยิง การรบประชิด และการตีโต้ตอบ

 

สำหรับปฏิบัติการราชการสนามของ ร.12 พัน.2รอ.ที่ผ่านมานั้น เมื่อ 2521 กองร้อยอาวุธเบาที่ 3 ขึ้นบังคับบัญชากับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 ขึ้นปราบปราม ผกค.และป้องกันชายแดนร่วมกับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2

 

กองร้อยอาวุธเบาที่ 1 ขึ้นบังคับบัญชากับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 ปฏิบัติการรบร่วมกับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 บริเวณพื้นที่ฐาน บ.โคกระกา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว

 

เมื่อ 2522 1 พ.ค. 2522 จัดส่วนบังคับบัญชา แทนกำลังพลหน่วยเฉพาะกิจ กองพลที่ 2 และ 1 กองร้อยอาวุธเบาตามคำสั่ง ทบ.ที่ 80/2522 ลง 15 พ.ค. 2522 1 ต.ค. 2522 จัดกำลังเพิ่มอีก 1 กองร้อยอาวุธเบาในการปราบปราม ผกค.ขึ้นตรงกับหน่วยเฉพาะกิจกองพลที่ 2

 

เมื่อ พ.ศ. 2523 16 พ.ค. 2523 จัดกำลังปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับส่วนบังคับบัญชา หน่วยเฉพาะกิจ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 1222 ตามคำสั่ง 10-/2523 ลง 9 พ.ค. 2523

 

เมื่อ พ.ศ. 2525 จัดกำลัง 1 กองพันทหารราบขึ้นปฏิบัติหน้าที่ตามแผนป้องกันประเทศ ตามคำสั่ง ทบ.ที่ 754/2528 ลง 24 ธ.ค. 2524

 

เมื่อ พ.ศ. 2528 7 ม.ค. 2528 จัดกำลัง 1 กองพันทหารราบขึ้นปฏิบัติหน้าที่ตามแผนป้องกันประเทศในพื้นที่ กกล.บูรพาตามคำสั่ง ทภ.ลับ ที่ 121/2528 ลง 11 มี.ค.28

 

เมื่อ พ.ศ.2531 1 ต.ค. 2531 30 ก.ย. 2535 จัดกำลัง 1 ทก.ยว.122 และ 1 ร้อย.ร.(ก.) ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนป้องกันประเทศของ กกล.บูรพา ในพื้นที่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว

 

เมื่อ พ.ศ.2535 1 ต.ค. 2535 30 ก.ย. 2536 จัดกำลัง 2 ชุดปฏิบัติการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการหมู่บ้าน ปชด. ปี 2536 ในพื้นที่ บ.ป่าไร่ และ บ.คลองหว้า อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

 

เมื่อ พ.ศ.2536 1 ต.ค. 2536 30 ก.ย. 2537 จัดกำลัง 1 ส่วนบังคับบัญชา และ 1 ร้อย.ร.(ก.) ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนป้องกันประเทศ ของ กกล.บูรพา ในพื้นที่ ฉก.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

1 ต.ค. 2536 -30 ก.ย. 2544 จัดกำลัง 1 ชุด ปฏิบัติการ ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการทับทิมสยาม ๐8(เขาอีด่าง) อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว

 

เมื่อ พ.ศ. 2538 1 ต.ค. 2538 30 ก.ย. 2539 จัดกำลัง 3ชุดปฏิบัติการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการหมู่บ้าน ปชด. ปี 2539 ในพื้นที่ บ.ป่าไร่, บ.เขาน้อย และ บ.คลองหว้า อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

 

เมื่อ พ.ศ. 2539 2543 1 ต.ค. 2539 30 ก.ย. 2540 จัดกำลัง 1 ส่วนบังคับบัญชาและ 1 ร้อย.ร.(ก)ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนป้องกันประเทศของ กกล.บูรพา ในพื้นที่ ฉก.อรัญประเทศ บ.ดงยาง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

 

1 เม.ย. 2542 30 ก.ย. 2542 จัดกำลัง 1 ร้อย.ร. (ก)ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนป้องกันประเทศของ กกล.บูรพา ในพื้นที่ ฉก.ร.12 รอ. บ.ดงยาง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ 1 ต.ค. 2539 - 30 ก.ย. 2543 จัดกำลัง 1 ชุดปฏิบัติการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการหมู่บ้าน ปชด. ในพื้นที่ บ.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

 

 

 

 

ที่มาของข่าว: เว็บไซต์ค่ายนิมมาณกลยุทธ [1] [2] [3] [4]

กระดานข่าวพันทิพห้องราชดำเนิน [1]

 




http://www.prachatai.com/05web/th/home/16463

โดย : ประชาไท   วันที่ : 16/4/2552


Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.

รายงาน ‘เขื่อนสิรินธร’ : ความยุติธรรมที่ล่าช้า การพัฒนาที่ทำร้ายคนจน

รายงาน 'เขื่อนสิรินธร' : ความยุติธรรมที่ล่าช้า การพัฒนาที่ทำร้ายคนจน 

โดย อาจารย์และนักศึกษา

วิชาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

เป็นเวลากว่าสี่สิบปีมาแล้วที่ผืนดินอันประกอบด้วยไร่นา หมู่บ้าน วัดวาอารามจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันไร่ ต้องจมอยู่ภายใต้ท้องเขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี นับแต่สำนักงานพลังงานแห่งชาติมีมติให้สร้างเขื่อนภายใต้นโยบาย 'การพัฒนา' ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ขีดเส้นชะตาชีวิตของคนจนมาตั้งแต่มีแผนพัฒนาฯฉบับแรกในปี 2504 จนปี 2552 คนจนเหล่านี้ก็นับวันจะจนมากยิ่งขึ้น เพราะการพัฒนาภายใต้แผนฯ นั้นแท้ที่จริงคือการแย่งชิงทรัพยากรไปจากคนจนอย่างที่นักวิชาการวิจารณ์ไว้

 

เป็นเวลาสิบห้าปีนับแต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรเข้าร่วมกับสมัชชาคนจนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมอันเนื่องจากการพัฒนาของรัฐจนได้รับเงินชดเชยจำนวนหนึ่งพันสองร้อยล้าน หลังจากที่ชุมนุมกดดันหลายครั้งหลายครา ผ่านการประชุม ครม. ถึงสิบครั้ง ผ่านนักการเมืองผู้รับผิดชอบนับสิบคน ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมา 10 แผน เมื่อเทียบกับการประชุมของรัฐมนตรีเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่อนุมัติงบประมาณนับแสนล้านเพื่อกระตุ้น 'เศรษฐกิจ' ที่พังพินาศเพราะระบบทุนนิยมภายใต้แผนฯ ที่ตอบสนองผลประโยชน์เพียงไม่กี่ตระกูลแล้ว ช่างห่างไกลจนยากจะอธิบาย

 

 

 

1

'ทองปาน: ตำนานคนค้านเขื่อน'

  

ดังนั้น 7-8 กุมภาพันธ์ 2552 คนจนจากเขื่อนสิรินธรจึงฉลองชัยชนะครั้งสำคัญ พร้อมจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่เพื่อส่งกุศลถึงกัลยาณมิตรบนสวรรค์ เช่น วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ นันทโชติ ชัยรัตน์ บุญกุ้มข้าวใหญ่ในวันนั้นมีนักศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเข้าร่วมการเฉลิมฉลองชัยชนะด้วย ก่อนที่จะเดินทางไปดูผลกระทบจากปัญหาการสร้างเขื่อนจริงๆ นักศึกษาได้มีโอกาสดูหนังเรื่องทองปาน ที่มี 'ดารานำ' อย่าง ศ.เสน่ห์ จามริก และ ส.(สุลักษณ์) ศิวลักษณ์ นักคิดนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของสังคม

 

" … แม้ไม่ใช่ ส.อาสนจินดา ดาราหนุ่มหล่อเจ้าบทบาทในยุคนั้น แต่ทั้งสองสอก็ตีบท 'คนค้านเขื่อน' และนักรัฐศาสตร์ 'ทวนกระแส' ได้กระจุยดังชีวิตจริง" นอกจากนี้ยังมีหงา คาราวาน นักดนตรีเพื่อชีวิตที่ถ่ายทอดความทุกข์ของคนจนผ่านเส้นเสียงดนตรี เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินอาวุโส เจ้าของผลงาน ร่างพระร่วง ผู้ชิงกวีซีไรท์ ซึ่งหากใครได้ผ่านไปซอยวัดอุโมงค์หรือ bevery hill (ในอดีต)ของเชียงใหม่จะมีโอกาสได้ดื่มด่ำผลงานชั้นเทพจากรั้วศิลปากรใน gallery อันร่มรื่นที่รอบล้อมได้ไม้ไผ่ ยังมีใครอีกหลายคนที่ผู้เขียนคุ้นชื่อแต่ไม่คุ้นหน้าที่สวมบทฝรั่งจากธนาคารโลก นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ของรัฐ... บัดนี้คนเหล่านั้นยังโลดแล่นอยู่บนสายธารการต่อสู้ของคนทุกข์

 

'ทองปาน' คือชายหนุ่มคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เป็นหนังที่สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านจนๆ จำต้องยอมรับชะตากรรมอันเกิดจากการพัฒนาไม่ว่าในรูปแบบใด เพราะเขาไร้อำนาจการต่อรองทางการเมือง

สำหรับนักรัฐศาสตร์แล้ว 'ทองปาน' บรรจุทฤษฎีการเมืองเล่มใหญ่ไว้ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบอุปถัมภ์ มาร์กซิสต์ การรวมศูนย์อำนาจรัฐ ทฤษฎีพึ่งพิงที่สะท้อนให้เห็นถึงการจัดลำดับประเทศพัฒนาและประเทศ 'ด้อยพัฒนา' โดยธนาคารโลก (พ่อมดทุนนิยม) การพึ่งพิงที่ดูดซับทรัพยากรจากประเทศ 'ด้อยพัฒนาหรือประเทศโลกที่สาม' ไปปรนเปรอประเทศที่เรียกตัวเอง 'พัฒนา' แล้ว ตลอดจนทฤษฎีการ(ไม่)มีส่วนร่วมทางการเมือง(ที่แม้แต่ตัวละครนักวิชาการในเรื่องก็มองไม่เห็น) ภาษาและถ้อยคำของตัวละครใน 'ทองปาน' ล้วนสะท้อนปัญหาคนจนในระดับรากเหง้าเชื่อมโยงให้เห็นถึงปัญหาระดับโครงสร้างของสังคมการเมืองไทย เป็นต้นว่า "หมออนามัยหน้าตาเป็นจั๋งใด๋ยังบ่เคยเห็น" ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าประชาธิปไตยคืออะไร รู้แต่ว่าเมื่อวาน "รถสัมปทานไม้เฉี่ยวคนตกถนน ตอนนี้นอนอยู่โรงพยาบาล เป็นตายยังไม่รู้" "… เราสามารถถอดทฤษฎีการเมืองไทยหลายๆ เรื่องได้จากทองปานเพียงเรื่องเดียว ขณะนี้ 'ทองปาน' จำนวนมากกำลังรอนักศึกษาอยู่ที่บ้านดอนโจด อำเภอสิรินธร

 

 

2

 'หนุ่มสาวผู้แสวงหา….

ยามอุษาของดอกไม้บาน'

 

เรา ทั้งหมดราวร้อยยี่สิบชีวิตออกเดินทางจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในเช้าตรู่วันเสาร์ที่ 7 ท่ามกลางลมหนาวปลายฤดูเมืองดอกบัว หากพูดด้วยท่วงทำนองของ หงา คาราวาน ก็ต้องบอกว่า เยาวชนคนหนุ่มสาวผู้แสวงหากำลังมุ่งสู่หมู่บ้านเพื่อหาคำตอบของชีวิต นักศึกษาหนุ่มสาวคึกคักกันแต่เช้า อาจารย์กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น เจ้าของรางวัลวิทยานิพนธ์เพื่อสร้างองค์ความรู้เพื่อคนจน กองทุนวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์/สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ และอาจารย์ญาเรศ อัครพัฒนานุกุล อาจารย์สาขาวิชาปกครอง ผู้เป็นศิษย์ของ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่งและ ดร.นฤมล ทับจุมพล แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ประสานงานให้นักศึกษาและคนยากจนจากการพัฒนาได้พบกัน ในขณะที่เจ้าของวิชาตัวจริงคืออาจารย์ ปิยะมาศ ทัพมงคล และอาจารย์เพียงกมล มานะรัตน์ วุ่นวายกับการเตรียมเดินทางเพื่อศึกษาต่อ แต่ได้โทรศัพท์มาสอบความความเคลื่อนไหวตั้งแต่เช้า

 

งานบุญวันนี้จะมี 'คนค้านเขื่อน' จากปากมูน ราศีไศล ลำคันฉู โป่งขุนเพชร มาร่วมฉลองชัยชนะกับชาวสิรินธรหลังจากที่ได้ต่อสู้ร่วมกันมาอย่างยาวนาน 'ทองปาน' หลายคนเริ่มชรา "… ในขณะที่ 'ทองปาน' รุ่นเยาว์หลายคนเติบโตเป็นหนุ่มสาว เช่นติ๊ก สาวน้อยร่างเล็กตากลม ผมยาว นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ที่มีคนบอกว่าเธอเป็นผลผลิตของซัมเมอร์ฮิลล์..." โรงเรียนทางเลือกที่มี พิภพ-รัชนี ธงไชย เป็นเจ้าของไอเดีย เธอเป็นมือขวาการทำวิจัยของอาจารย์กิ่งกาญจน์ เราไม่ได้พบตัวจริงเสียงจริงของเปาโล เด็กที่โตมากับ 'ม็อบ' จำได้ว่าเป็นเด็กหนุ่มรุ่นฝีปากกล้าที่เคยปะทะคารมกับนายกฯทักษิณ ชินวัตร ครั้งหนึ่ง ในการพบกันระหว่างทักษิณกับสมัชชาคนจนที่ได้รับการถ่ายทอดสดจาก iTV (ในสมัยนั้น)

 

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่นักศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและท้องถิ่นลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงของความยากจนอันเนื่องมาจากการกำหนดนโยบายการพัฒนาของรัฐส่วนกลางที่ไม่คำนึงถึงคนจำนวนหนึ่งที่ต้องเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสและยาวนาน จากการสร้างเขื่อน หากอธิบายด้วยภาษาในภาษาวิชานี้ก็คือ...นี่คือปัญหาของรัฐรวมศูนย์ อันเป็นอุปสรรคสำคัญของการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น....ปัญหาอันแสนจะคลาสสิคของนักรัฐศาสตร์

 

 

 

'แม้ว่าเขื่อนจะพรากหลาย

สิ่งหลายอย่างจากเราไป'

'...แต่....'

 

 

ครั้งแรก เราไปที่ปากมูนเมื่อมกรา 51 คราวนั้นปุ๋ย นันทโชติ ชัยรัตน์ ที่เพิ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่อปี กลายได้เป็นวิทยากรบรรยายให้แก่นักศึกษา และพาชมพื้นที่หลายแห่ง เหมือนที่ปุ๋ยเคยทำเมื่อสมัยที่เป็นนักศึกษา มาครั้งนี้ไม่มีปุ๋ย แต่มีหลายคนสืบทอดอุดมการณ์ แม้หลายชีวิตจะร่วงโรยไปตามเวลา แต่การจากไปของกัลยาณมิตรคนจนเหล่านั้นกลับเป็นแรงผลักดันให้ขบวนยิ่งแข็งขันจากรุ่นสู่รุ่น " ..เราหวังว่าปัญญาชนอย่างพี่มดหรือพี่ปุ๋ยจะเป็นแบบอย่างหรือแรงบันดาลใจของนักรัฐศาสตร์รุ่นหลังได้เรียนรู้โลกที่กว้างใหญ่กว่าห้องเรียนสี่เหลี่ยมของ ม.อุบลฯ ได้เรียนรู้ทฤษฎีการเมืองเล่มใหญ่จากตำราที่พูดได้... " อย่างแม่สมปอง เวียงจัน พ่อสมเกียรติ พ้นภัย หรือพ่อบุญมี คำเรือง

 

ทันทีที่รถบัสทหารของมณฑลทหารบกที่ 22 และรถบัสมหาวิทยาลัยพาเรามาถึง พ่อบุญมี คำเรือง ขมีขมันออกมาต้อนรับเราเข้าสู่ห้องเรียนการเมืองภาคประชาชนด้วยตนเอง วันนี้พ่อสวมเสื้อรณรงค์ที่จัดทำขึ้นเพื่อรำลึกถึง พี่มด วนิดา คงไม่ต้องอธิบายถึงความผูกพันใดๆ ที่มีต่อเธอ งานถูกจัดขึ้นบริเวณริมน้ำ ที่พ่อใหญ่บอกว่าตรงนี้เป็นลำโดมน้อย เราไม่รู้ว่าตรงไหนคือลำโดมน้อยเพราะบัดนี้เบื้องหน้าคือเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ ทอดสายตาไปไกลกว่านั้น ทุ่งนา วัดวาอาราม ชีวิตและวัฒนธรรม ที่ซ่อนอยู่ใต้ท้องน้ำอันสงบนิ่งผุดขึ้นมาในมโนสำนึก ทุ่งนา วัดวาอาราม ชีวิตวัฒนธรรมกำลังร่ำไห้...ไม่มีวันหวนคืน

 

เสียงหมอลำจากเครื่องกระจายเสียงกระหึ่มสมกับเป็นงานบุญ ในขณะที่นักรัฐศาสตร์น้อยๆ ที่เรียกตัวเองว่า 'ชาวสิงห์แสดแห่งที่ราบสูง' กว่าร้อยยี่สิบชีวิตเดินกระจัดกระจายไปทำความรู้จักกับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่เพิ่งเดินทางมาถึง โจทย์สำหรับการมาครั้งนี้คือการสวมวิญญาณนักข่าว และกลับไปรายงานข่าวในเวบไซต์ความยาวเพียงคลิปวีดีโอ ซึ่งกว่าจะผ่านกระบวนการนี้ออกมาได้เล่นเอาคนสอนเหงื่อไหลไคลย้อย อย่างแรกต้องใช้เวลาราวสองครั้งหรือหกชั่วโมงเพื่อทำความเข้าใจก่อนลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อถกเถียงเกณฑ์การให้คะแนน เพื่อรื้อความคิดจากการทำรายงานทั่วๆ ไป ที่พบปัญหาเมื่อปีที่แล้วเพราะข้อมูลในรายงานที่ส่งมานั้น ส่วนใหญ่ download มาจาก website ต่างๆ เราบอกนักศึกษาว่า ถ้าต้องการให้ download ข้อมูลชนิดตัดแปะมาส่ง โดยไม่รู้เลยว่าตรงไหนเป็นความคิดของเขาเอง เราจะเสียเงินงบประมาณคราวละเกือบสองหมื่นลงพื้นที่เพื่ออะไร

 

นักศึกษาได้พบ 'ทองปาน' รุ่นพ่อใหญ่แม่ใหญ่หลายคนที่เคยเข้าร่วมกับสมัชชาคนจน เคยชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่า เคยปะทะคารมกับนักการเมือง เคยปืนรั้วทำเนียบ หลายคนมีคดีติดตัว การค้นพบโจทย์ในวันนี้มีเรื่องมากมายให้นักเรียนวิชาการเมืองภาคประชาชนได้ขบคิด ทั้งเรื่องกระบวนการยุติธรรม เรื่องผลประโยชน์ระหว่างกันในหมู่คนจน เมื่อกลับมาเล่าให้นักศึกษาหลักสูตร อบต. ฟัง เราก็ได้เห็นมุมของผลประโยชน์ที่แยบยลมากขึ้นจากข้อมูลของฝ่ายที่เรียกตนเองว่า 'องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น' ซึ่งไม่มีเวลาที่จะอธิบายในที่นี้

 

หลังจากพบพ่อใหญ่แม่ใหญ่ตามอัธยาศัยในช่วงเช้าแล้ว วงเสวนาอย่างเป็นทางการก็เริ่มขึ้นในช่วงบ่าย สดใส สร่างโศก วนิดาคนที่สองเป็นผู้ดำเนินรายการ บรรยากาศใต้ร่มไม้ดำเนินไปอย่างเป็นกันเอง " … แม้จะร้อนอบอ้าว(ในช่วงบ่ายแก่ๆ) แต่ก็อบอวลด้วยความรักของคนจนที่มีให้กัน ความอบอ้าวจึงอบอุ่นไปโดยปริยาย นี่กระมังที่เป็นคำอธิบายที่ว่า ,แม้ว่าเขื่อนจะพรากหลายสิ่งหลายอย่างจากเราไป ... แต่เราได้ความรักกลับคืนมา ... "

   

 

3

 ไป (ชุมนุม) แล้ว ' ทุกข์

แต่อยู่เฉยๆ ' ทุกข์กว่า'

 

ขณะอยู่ในวงเสวนา ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ นักสังคมวิทยา มานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่คลุกและขลุกกับปัญหาปากมูล สิรินธร และคนจนอื่นๆ โทรมาถามข่าวเป็นระยะๆ พร้อมฝากความคิดถึงมายังแม่สมปอง เวียงจันทร์ อาจารย์พานักศึกษาลงมาทำวิจัย และมีส่วนสำคัญในการผลักดันงานวิจัยไทบ้าน ผลงานการวิจัยที่ตอบโต้ข้อเท็จ(จริง)จากภาครัฐและ กฟผ. เมื่อการเสวนาจบลง อาจารย์ กิ่งกาญจน์ มอบหมายให้วัฒนา บุตรสอง หนุ่มหน้าซื่อจากเมืองยโสฯ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 กล่าวขอบคุณพ่อใหญ่แม่ใหญ่ด้วยภาษาอิสาน ภารกิจสำคัญกำลังสิ้นสุดลง

 

เมื่อกลับมาถึงคณะฯ....เราได้งานจำนวน 43 ชิ้นจากนักศึกษาทั้งหมด มีนักศึกษา 43 กลุ่มส่งตัวแทนมานำเสนอหน้าชั้นเรียน และมีกรรมการสิบคนให้คะแนน กรรมการไม่มีสิทธิให้คะแนนตัวเอง เมื่อกรรมการออกรายงาน อาจารย์เจ้าของวิชาจะเป็นกรรมการสำรอง เกณฑ์ในการให้คะแนนถูกกำหนดมาจากทุกคน แต่กระนั้นก็ตาม ถึงเวลารายงานจริงๆ เกณฑ์ยังถูกปรับใหม่จนทุกคนพอใจ หลายคนบอกเสียเวลา บอกว่าวุ่นวาย ให้อาจารย์กำหนดไปเลย แต่เราอยากสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมขึ้นมาแบบที่ภาษาปฏิรูปการศึกษาเรียกว่า child center (ไม่ใช่ควายเซ็นเตอร์อย่างที่ประชดประชันกัน !) เราไม่อยากให้ครูเปรียบเสมือนการรวมศูนย์อำนาจรัฐ " … ครูคือผู้ใช้อำนาจรัฐ นักศึกษาคือประชาชน คะแนนหรือเกรดคือผลประโยชน์ทางการเมืองหรือทรัพยากรทางการเมืองที่ในอดีตรัฐเป็นผู้มีอำนาจจัดสรรแต่เพียงผู้เดียว ... " เราบอกกับนักศึกษาว่าประชาธิปไตยคือความวุ่นวาย ภายหลังความวุ่นวายคือความสงบสุขของสังคม เพราะว่าเมื่อคะแนนนำเสนอข่าวหน้าห้องออกไป ไม่มีใครไม่พอใจกับคะแนนของตัวเองที่มาจากกรรมการสิบคนที่อาสาสมัครขึ้นมา ขอขอบคุณลูกศิษย์ที่น่ารักที่เสนอตัวเป็นกรรมการทั้งที่ต้องวุ่นวายกับการเตรียมสอบของตนเอง อันได้แก่ บัณฑิต วงค์มั่น เอกรัฐ ทาตาสุข ฉัตร แก้วเจียง จุรีภรณ์ โสภาจันทร์ วนิษฐา ฦาปัญญา สุณีพร แสงนนท์ นงนุช ป้อมหิน กรรณิกา กุแก้ว ปุณยภา งามล้ำ และอภิญญา จึงตระกูล

 

หลายคนรายงานข่าวราวกับเรียนนักเรียนวิชาสื่อสารมวลชน หลายคนมีวรรคทองทั้งจากตัวเองและจากบทสัมภาษณ์มานำเสนอ เช่น " .... เบื้องหลังชีวิตที่สวยหรูคือการเสียสละของคนลำโดมน้อย , ผู้เสียสละต้องเสียสละทั้งชีวิต, ขบวนการต่อสู้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่รวมตัวกัน, ไป(ชุมนุม)แล้วทุกข์ แต่อยู่เฉยๆ ทุกข์กว่า,อำนาจอันถูกกฎหมายแต่ไม่ชอบธรรมของรัฐ , ต่อสู้กับความจริงที่ถูกมองว่าไม่จริง, ชัยชนะที่เหนือสิ่งอื่นใดคือชัยชนะที่ได้จากตัวเอง .... " ถ้อยคำเหล่านี้กลั่นกรองมาจากเบื้องลึกของหัวใจ บ่งบอกถึงบทเรียนที่ได้มาด้วยประสบการณ์ ไม่เสียแรงที่คาดหวัง บีบคั้นให้ลูกศิษย์ได้ทำในสิ่งที่หลายคนคิดว่าตนเองทำไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือศักยภาพหรือพรสวรรค์ในตัวนักศึกษาที่รอระบบการศึกษาขุดค้นและเจียรนัย เราเห็นแววของอนาคตนักข่าวการเมืองหลายคนในตัวเขาเหล่านั้น

 

สำหรับการสัมภาษณ์ที่น่าประทับใจคงจะเป็นการสัมภาษณ์ 'ทองปาน' วัย 70 ตอนปลาย .....ซึ่งถามอย่างตอบอย่าง จนคณะล่ามลูกศิษย์แปลภาษาอิสานให้ฟังก็งงไปตามๆ กัน ภายหลังจึงรู้ว่าแกหูหนวก (ทำให้เรานึกถึงเพลงของเพลิน พรมแดน ราชาเพลงพูดที่มีบทสนทนาระหว่างคนหูดีกับคนหูหนวก)....เอกรัฐ ทาตาสุข เล่าอย่างขบขันให้เพื่อนๆ ฟังถึงบทส่งท้ายการให้สัมภาษณ์ของ 'ทองปาน' จิตวิญญาณขุนแผนว่า พ่อใหญ่มีเมียบ่หลายดอก.....พ่อใหญ่มีสี่คนเอง......เมื่อเล่าเสร็จนักศึกษาหนุ่มจากอำนาจเจริญก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากชอบใจ แต่ สาวๆ รัฐศาสตร์หลายคนกลับค้อนขวับ !

 

หวังว่ากิจกรรมการเรียนการสอนเช่นนี้จะมีประโยชน์กับใครหลายๆ คน ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้

 




http://www.prachatai.com/05web/th/home/16472

โดย : ประชาไท   วันที่ : 17/4/2552


Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.

บลูมเบิร์ก : ความแตกแยกของคนไทยอาจกระตุ้นให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้นใน “ดินแดนแห่งรอยยิ้ม”

บลูมเบิร์ก : ความแตกแยกของคนไทยอาจกระตุ้นให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้นใน "ดินแดนแห่งรอยยิ้ม" 

 

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากทีมนักแปลอาสาสมัครที่อยากให้สาธารณชนได้บริโภคข่าวสารอย่างรอบด้าน เนื่องเพราะเห็นว่าสื่อสารมวลชนของไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานในสถานการณ์วิกฤตินี้ เราจึงเลือกแปลข่าวของสื่อต่างชาติที่ยังสามารถทำงานตามหลักการวิชาชีพได้ โดยไม่มีอคติต่อฝ่ายใด และไม่มีอำนาจรัฐมาครอบงำ 

 

ทีมแปลข่าวเฉพาะกิจ

ที่มา : แปลจาก "Thai Rifts May Spur More Turmoil in 'Land of Smiles' (Update1)" เขียนโดย Daniel Ten Kate เผยแพร่บนเวบไซด์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก Last Updated: April 15, 2009 04:55 EDT

www.bloomberg.com/apps/news?pid=20601087&sid=aOb36dMmYufQ&refer=worldwide

 

 

โดย แดเนียล เตน เคท (Daniel Ten Kate)

 

 

15 เมษายน 2552 (สำนักข่าวบลูมเบิร์ก) ไม่ว่านายกรัฐมนตรีของไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะอยู่หรือไป ดูเหมือนว่าผลลัพธ์จะเหมือนกัน : มีผู้ประท้วงบนท้องถนนมากขึ้น และเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมากขึ้นในประเทศ

 

อภิสิทธิ์วัย 44 ปี กำลังต่อสู้ที่จะรักษารัฐบาลที่มีอายุสี่เดือนของเขาไว้ในการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ประท้วงที่ปิดการประชุมสุดยอดของภูมิภาคและทำให้เมืองหลวงเป็นอัมพาตก่อนที่จะยุติการประท้วงของพวกเขาเมื่อวานนี้ [14 เมษายน]  เขาขึ้นสู่อำนาจบนความเข้มแข็งของกลุ่มปฏิปักษ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ทำการปิดสนามบินเป็นเวลาแปดวันเมื่อปีที่แล้ว- และประกาศจะเดินขบวนอีก เว้นเสียแต่ว่าคนของกลุ่มฯจะอยู่ในอำนาจ

 

ผู้ประท้วง 2 กลุ่ม, กลุ่มหนึ่งสวมเสื้อแดง และอีกกลุ่มใส่เสื้อสีเหลือง, ปักเขตแบ่งขั้วในสังคมไทยที่ยังไม่มีสัญญาของความสิ้นสุดให้เห็น ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันที่ฝังรากในความเห็นขัดแย้งว่า ประเทศไทยควรมีประชาธิปไตยแค่ไหน เป็นลางร้ายที่จะเป็นชนวนของความรุนแรงเพิ่มขึ้นในชาติที่เปรียบตัวเองว่าเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม

 

"เป็นเรื่องยากขึ้นและยากขึ้นที่จะเห็นทางออกใดหรือทางออกที่สมเหตุสมผลสำหรับประเทศไทย"  ดันแคน แม็คคาร์โก ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ ให้ความเห็น และบอกว่า

 

"ในความมุ่งมั่นที่ไม่มีขอบเขตของพวกเขาที่จะต่อต้านอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายได้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นเหตุผล"

 

การคาดการณ์ต่อสถานการณ์วุ่นวายที่ขยายเวลายาวขึ้นเป็นอุปสรรคคุกคามการลงทุนจากต่างประเทศขณะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี นายกรณ์ จาติกวาณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวานนี้ว่า รัฐบาลต้องตัดการคาดการณ์ผลผลิตมวลรวมในประเทศลง 3% ในปีนี้เนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้

 

ทักษิณ ชินวัตร

กลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายเสื้อแดงที่ทำการล้อมทำเนียบรัฐบาลมากว่าสองสัปดาห์ และปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนั้นนำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร  พวกเขากล่าวว่า บรรดาผู้เล่น [เกมการเมือง] ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น ผู้พิพากษา, ข้าราชการ และที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชฯ มีอำนาจมากเกินไปเหนือผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่มีสายโยงใยกับทักษิณผู้ถูกขับไล่ [จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี] โดยการรัฐประหารในปี 2549 ชนะการเลือกตั้งทั่วไป 4 ครั้งที่ผ่านมา สองพรรคในจำนวนนั้นถูกสั่งยุบภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างในยุคทหาร

 

นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาล กล่าวผ่านทางโทรศัพท์วันนี้ว่า กระทรวงต่างประเทศของไทยได้เพิกถอนหนังสือเดินทางของทักษิณเมื่อวันที่ 12 เมษายน

 

 "กระทรวงฯสามารถเพิกถอนหนังสือเดินทางของคนไทยในต่างประเทศ ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย" ปณิธาน กล่าว "ทักษิณไม่สามารถเดินทางได้ แม้ว่าเขามีหนังสือเดินทางจากประเทศอื่น  เรากำลังแกะรอยการเดินทางไปมาของเขาจากภูมิภาคนี้กับตะวันออกกลาง"

 

หมายจับ

เมื่อวานนี้ ทางตำรวจได้ออกหมายจับทักษิณและผู้นำการประท้วงคนอื่นๆหลังจากเกิดการปะทะหลายครั้งในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 123 คน

 

"วิกฤตการณ์จะยังคงอยู่ตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญยังไม่เป็นประชาธิปไตย" นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรี กล่าว เขาเป็นหนึ่งในจำนวนนักการเมืองประมาณ 140 คนที่ถูกพิพากษาตัดสิทธิ์ [ในการสมัครรับเลือกตั้ง] ในช่วงสองปีที่ผ่านมา "ประชาชนระดับล่างของสังคมไทยเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าที่ผ่านมามาก และพวกเขาโกรธที่เสียงของพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับ"

 

กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายเสื้อเหลืองที่ยึดสนามบินหลายแห่งบอกว่า ทักษิณ, ซึ่งหลบหนีไปจากประเทศไทยไปเมื่อปีที่แล้วเพื่อหลบเลี่ยงโทษคดีทุจริตที่เขาถูกพิพากษาจำคุก 2 ปีนั้น, ได้ใช้เงินหลายพันล้านของเขาในการซื้อเสียงและทำลายสถาบันประชาธิปไตยต่างๆ ในระหว่างช่วง 5 ปีที่เขาอยู่ในอำนาจ พวกเขาบอกว่าทักษิณกำลังสร้างให้เกิดความโกลาหลเพื่อที่จะทำให้ตัวเองพ้นคดีความและกลับมาสู่อำนาจ

 

 "ทักษิณไม่มีปัญหากับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอนที่พรรคการเมืองของเขาจัดตั้งรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว แต่ตอนนี้เขาบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นธรรม" ปานเทพ พัวพงศ์พันธุ์ โฆษกของกลุ่มเสื้อเหลือง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าว "เขาเพียงแต่กำลังทำสิ่งนี้เพื่อตัวเขาเองเพื่อหลีกเลี่ยงโทษจำคุกและกลับมามีอำนาจควบคุมประเทศ"

 

กษัตริย์

ฝ่ายเสื้อเหลืองยังได้กล่าวหาทักษิณและฝ่ายเสื้อแดงว่า พยายามที่จะล้มระบอบกษัตริย์ของประเทศไทย บุคคลที่กระทำการดูหมิ่นสมาชิกราชวงศ์ [หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ] มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี

 

ที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ, ผู้ทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2489 และปัจจุบันเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในโลก, ทรงทำให้คนในประเทศกลับมารวมกันเป็นหนี่งเดียวได้ในยามที่เกิดวิกฤต ในปี พ.ศ.2535 หลังจากที่กองทัพยิงกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ประชาชนหลายล้านคนได้เฝ้าดูการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ที่ผู้นำจากฝ่ายที่เป็นคู่กรณีกันหมอบอยู่เบื้องพระพักตร์ของกษัตริย์

 

เควิน เฮวิซัน ศาสตราจารย์ด้านเอเซียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธ คาโรไลนา ให้ความเห็นว่า ปัจจบัน ดูเหมือนว่าไม่มีผู้ใดที่สามารถอยู่เหนือการแบ่งขั้วและการเจรจาเพื่อประนีประนอม สถานการณ์นี้อาจนำไปสู่ "สงครามแห่งการล้างผลาญ"

 

อนาคต

"การยันกันมีสภาพที่น่าเป็นห่วงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน" ศาสตราจารย์ เฮวิสัน กล่าว "ประชาชนในชนบทและชนชั้นแรงงานต้องการตัวแทนที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าการลงคะแนนของพวกเขาได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคคลที่ทุกคนเรียกกันว่า พวกชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม พวกนิยมกษัตริย์ หรือข้าราชการของรัฐไม่ยอมรับความต้องการนี้ของประชาชนดังสิ่งที่เห็นว่ากำลังเกิดขึ้นขณะนี้

 

อภิสิทธิ์กล่าวเมื่อวันที่ 12 เมษายนว่า เขาจะพิจารณาถึงอนาคตทางการเมืองของเขาเมื่อสถานการณ์สงบ  เมื่อมีการยึดสนามบินเมื่อปีที่แล้ว เขากล่าวตอนนั้นว่า "การเลือกตั้งใหม่เป็นจะเป็นทางออกหนึ่ง หรืออาจเป็นทางออกเดียว และพวกเราจะทำในสิ่งที่ประชาชนมอบหมายให้เราทำ"

 

พรรคการเมืองของนายอภิสิทธิ์คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2549 ซึ่งพรรคการเมืองของทักษิณชนะการเลือกตั้ง และศาลมีคำพิพากษาให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ สองสัปดาห์หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงแนะให้ผู้พิพากษาแก้ปัญหาวิกฤติรัฐธรรมนูญที่คาราคาซังอยู่

 

กระบวนการเลือกตั้ง

"สิ่งจำเป็นที่ต้องให้เกิดขึ้นคือกระบวนการเลือกตั้งที่เปิดกว้างและไม่ถูกแทรกแซง" ไมเคิล มอนต์ซาโน (Michael Montesano) นักวิจัยอาคันตุกะของสถาบันเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสิงคโปร์ ให้ความเห็น "และประชาชนต้องยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น"

 

นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2550 ผู้ประท้วงได้ออกมาบนท้องถนนเป็นเวลา 213 วัน, ศาลได้มีคำพิพากษาปลดนายกรัฐมนตรี 2 คนที่เป็นฝ่ายสนับสนุนทักษิณ, สนามบินหลายแห่งถูกยึด, ปฏิปักษ์กลุ่มต่างๆ ออกมาบนท้องถนน และมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจำนวน 4 ฉบับ มันเป็นการขยายตัวของทศวรรษแห่งความสับสนอลหม่านในหลายด้าน

 

ประเทศไทยมีการทำรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จ 10 ครั้งนับตั้งแต่การล้มเลิกระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์เมื่อปี พ.ศ.2475 มีเพียงรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับของประเทศที่บัญญัติให้มีรัฐสภาจากการเลือกตั้งเต็มรูปแบบ หากนายกรัฐมนตรีกำลังมองหาคำอุปมาสำหรับประเทศที่เต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบากของเขา เขาจะต้องพบคำหนึ่งบนปกหนังสือเล่มหนึ่งของเขา ที่มีการลำดับเหตุการณ์ความล้มเหลวของทีมฟุตบอลที่เขาโปรดปราน คำนั้นเขียนว่า "นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด: 50 ปีแห่งความขมขื่น"

 

 

....................................

ติดต่อผู้เขียน Daniel Ten Kate in Bangkok ได้ที่ <dtenkate@bloomberg.net>




http://www.prachatai.com/05web/th/home/16478

โดย : ประชาไท   วันที่ : 17/4/2552


Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.