วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง

เรือนคำเที่ยง เรือนไทยล้านนาหลังงามภายใต้ต้นไม้ร่มครึ้ม

ตอนนี้ธุรกิจคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ กำลังแข่งขันกันน่าดู เห็นได้จากโฆษณาต่างๆ ที่มีให้เห็นบ่อยๆ ทั้งโฆษณากันเรื่องการตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ครบชุด โฆษณากันเรื่องราคาผ่อนที่แสนถูก รวมไปถึงการโฆษณาเรื่องทำเลใกล้ไกลรถไฟฟ้ารถใต้ดินไม่กี่เมตร

ในย่านอโศกซึ่งเป็นย่านกลางเมืองของกรุงเทพฯ ก็เป็นอีกทำเลหนึ่งที่ดีเพราะมีทั้งรถไฟฟ้าและรถใต้ดินอยู่ใกล้ และไม่ห่างจากแหล่งธุรกิจเท่าไรนัก แต่สิ่งที่ฉันสนใจไม่ใช่คอนโดฯ ย่านอโศก แต่กลับเป็นบ้านเรือนไทยที่ซ่อนตัวอยู่กลางเมือง ในกรุงเทพฯ อย่างนี้แค่ได้เห็นเรือนไทยก็ยากแล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่ากลางเมืองอย่างย่านอโศกจะยังมีเรือนไทยซ่อนตัวอยู่ใต้ร่มไม้ร่มรื่น ไม่ใช่เรือนไทยภาคกลางธรรมดา แต่เป็นเรือนไทยล้านนาทางภาคเหนือ ที่ชื่อว่า "เรือนคำเที่ยง" หรือ "พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง" นั่นเอง

ลายสักของชายล้านนา พร้อมดาบอาวุธประจำตัว
เครื่องแต่งกายของหญิงล้านนาโบราณ

พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง นั้นอยู่ในการดูแลของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นสมาคมที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเรือนคำเที่ยงนี้ เป็นเรือนเครื่องสับแบบล้านนาไทยดั้งเดิม หรือที่รู้จักกันว่า "เรือนกาแล" เป็นเรือนเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี สร้างขึ้นครั้งแรกริมฝั่งน้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้สร้างคือ นางแซ้ด ลูกหลานสืบเชื้อสายธิดาเจ้าเมืองแช่ ชาวไทลื้อจากแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งถูกกวาดต้อนมาอยู่เมืองเชียงใหม่สมัยที่พระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่

ลูกหลานของนางแซ้ด ได้อยู่อาศัยในเรือนนี้อย่างร่มเย็นเป็นเวลาร้อยกว่าปี จนมาถึง พ.ศ.2506 นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินทร์ เจ้าของเรือนในขณะนั้นได้มอบเรือนเก่าแก่ของตระกูลให้แก่สยามสมาคม เพื่อจัดทำเป็น พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา และรักษาศิลปะล้านนาไทยชิ้นนี้เอาไว้ เรือนหลังนี้จึงถูกรื้อถอนขนย้ายมาประกอบขึ้นใหม่ในบริเวณปัจจุบัน พร้อมทั้งตั้งชื่อไว้ว่า "เรือนคำเที่ยง" ซึ่งมาจากชื่อของ นางคำเที่ยง อนุสารสุนทร แม่ของนางกิมฮ้อ และเป็นผู้หนึ่งที่เกิดบนเรือนหลังนี้นั่นเอง

และหลังจากการดำเนินการจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้เสด็จมาเปิดเรือนคำเที่ยงเป็นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาของสยามสมาคมอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2509 มาจนถึงตอนนี้จึงเป็นเวลา 50 กว่าปีแล้วที่พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงเกิดขึ้น และนับเป็นเวลาถึง 160 ปีแล้วหลังจากที่เรือนหลังนี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรก

เครื่องประดับสตรีล้านนาที่มีฐานะ

รู้จักที่มาของบ้านแล้วคราวนี้ก็ขอเชิญขึ้นเรือนไปชมข้าวของต่างๆ กันบ้างดีกว่า บนเรือนคำเที่ยงนี้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ คือชานบ้านซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมพื้นที่ต่างๆ ของบ้าน ถัดจากชานบ้านเข้ามาจะเป็น เติ๋น ซึ่งเป็นภาษาล้านนา หมายถึงห้องโถงเปิดโล่งยกระดับสูงขึ้นจากชานบ้าน ใช้เป็นบริเวณอเนกประสงค์สำหรับใช้รับแขก นั่งเล่น หรือกินข้าว ถัดจากเติ๋นไปก็จะเป็นห้องนอน และมีห้องครัวกับยุ้งข้าวปลูกเป็นเรือนเล็กๆ ต่อเชื่อมกันกับตัวเรือนด้วยชานบ้าน

เมื่อเดินขึ้นบันไดมาเราก็จะต้องผ่านชานบ้าน ก่อนจะถึงบริเวณเติ๋น ซึ่งหากแหงนหน้ามองไปด้านบนแล้ว ก็จะเห็นว่าบริเวณเพดานของเติ๋นนั้นจะมีตะแกรงไว้เก็บของใต้หลังคา ภาษาล้านนาจะเรียกว่า "ค่วน" ทำเป็นตะแกรงไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งไว้สำหรับเก็บคนโทดินเผา ตะกร้า หรือขันโตก และบริเวณเติ๋นนี้เองที่เป็นสถานที่ "แอ่วสาว" เพราะหญิงสาวจะมานั่งทำงานเล็กๆ น้อยๆ บริเวณนี้ แล้วชายหนุ่มก็มาแอ่วหา มาเล่นดนตรีหรือสนทนาเชิงหยอกเย้า โดยที่จะมีผู้ใหญ่ในบ้านคอยดูอยู่ห่างๆ หากใครพึงใจกันก็จะมีการแต่งงานตามประเพณีต่อไป

บริเวณเติ๋นนี้มีข้าวของจัดแสดงไว้เช่น บายศรีที่ใช้ทำพิธีเรียกขวัญ และมีหมากสุ่มหมากเบ็ง พลูสุ้ม ต้นผึ้ง ต้นเทียน สุ่มดอก ที่ชาวบ้านทำขึ้นแสดงถึงการสักการบูชาอย่างสูงสุด แล้วนำไปถวายพระพุทธรูปหรือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่วัด หรือสักการะเจ้านายก็ได้เช่นกัน

ภายในเรือนครัว

จากเติ๋นเราจะเดินเข้าไปชมภายในห้องนอนกันบ้าง แต่ก่อนที่จะก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไป ฉันก็ต้องชะงักเพราะเหลือบไปเห็น "หำยนต์" หรือหัมยนต์ เป็นแผ่นไม้แกะสลักลวดลายสวยงามที่อยู่เหนือช่องประตู ชื่อนี้อาจฟังดูไม่คุ้นหู แต่หำยนต์ถือเป็นของสำคัญ (ตามคติล้านนา) ที่ติดตั้งไว้เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้ผ่านเข้าห้องนอน หำยนต์นี้ก็มีลวดลายหลายแบบแล้วแต่จะแกะสลักให้สวยงามต่างกันไป

คราวนี้เข้ามาชมในห้องนอนกันบ้าง โดยในห้องนอนนี้จะถืออย่างเคร่งครัดว่าเป็นบริเวณสำหรับสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น วันนี้ฉันจึงขออนุญาตเจ้าของบ้านอยู่ในใจก่อนจะเดินข้ามประตูเข้ามา ภายในห้องนอนตอนนี้ถูกจัดแสดงข้าวของหลากหลายในชีวิตประจำวันของชาวล้านนา เริ่มจากทางซ้ายมือของฉันก่อน ทางด้านนี้จะเกี่ยวข้องกับผู้ชายเสียมากกว่า เพราะจัดแสดงเกี่ยวกับยันต์เทียน ซึ่งก็มีหลายประเภท เช่น ยันต์เมตตามหานิยม ให้โชคลาภ ค้าขายดี ยันต์เมตตามหานิยมให้คนเมตตา ยันต์สะเดาะเคราะห์ป้องกันภัย เป็นต้น ที่บอกว่าเกี่ยวข้องกับผู้ชายก็เนื่องจากบทบาทของชายล้านนาสมัยนั้นคือการปกป้องคนในครอบครัว จึงต้องมีความรู้ด้านนี้ไว้บ้าง

นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีของขลังพวกตะกรุด เสื้อยันต์ ยันต์หัวเสา ที่ช่วยป้องกันอันตรายจากศัตรู สัตว์ร้าย อาวุธ ภูตผีต่างๆ ได้ อีกทั้งตามร่างกายก็ยังมีการสักยันต์โดยสักจากหมึกดำที่ผสมจากวัสดุต่างๆ โดยเวลาสักจะมีการร่ายคาถากำกับ และสักตั้งแต่บริเวณหัวไหล่มาจนถึงเอว

ใต้ถุนบ้านมีเครื่องมือทำมาหากินของชาวล้านนา เช่น ไซ แซะ สุ่ม ตุ้ม

เมื่อมีเครื่องรางแล้วก็ต้องมีอาวุธไว้สู้ป้องกันตัวบ้าง โดยดาบถือเป็นอาวุธประจำตัวของชายล้านนา ส่วนมากจะเป็นมรดกตกทอดจากปู่ จากพ่อ มาสู่ลูก ด้ามดาบมักบรรจุด้วยเครื่องรางอย่างตะกรุด ผ้ายันต์ หรือชายผ้าถุงของแม่เพื่อเป็นกำลังใจในการต่อสู้

คราวนี้มาดูอีกด้านหนึ่งของห้องนอนที่เป็นเรื่องราวของผู้หญิงกันบ้าง ซึ่งก็มีทั้งเครื่องประดับของหญิงล้านนาที่มีฐานะ เช่น ปิ่นทำจากเงินหรือทอง ต่างหูแบบต่างๆ กำไล แหวน เข็มขัด สร้อยท้องแอวหรือเครื่องประดับเข็มขัด และโดยตามธรรมเนียมแล้วผู้หญิงล้านนาจะเป็นผู้ครอบครองและดูแลเรือน อีกทั้งลูกสาวคนสุดท้องจะต้องเป็นผู้สืบทอดเรือน และ "ผีปู่ย่า" ไปไว้ที่เรือนตนเอง และบนหัวนอนที่ติดกับเสาเอกจะมีหิ้งผี และมีข้าวของบูชาผีปู่ย่าอยู่ด้วย อีกทั้งจะมีประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่าเป็นประจำทุกปีอีกด้วย

นอกจากนั้นลูกผู้หญิงล้านนาก็ยังต้องทอผ้าซิ่นตีนจกเป็น โดยจะต้องฝึกหัดทอผ้ากับแม่ตั้งแต่เด็กและต้องหัดเก็บลวดลายให้ครบทุกอย่าง เมื่อชำนาญแล้วก็จะต้องทอซิ่นตีนจกไว้ใส่เองด้วย เครื่องนอนก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่หญิงล้านนาต้องหัดเย็บให้ได้ตั้งแต่ห้าขวบ เนื่องจากมีธรรมเนียมว่าหญิงสาวจะแต่งงานออกเรือนได้ต้องทำเครื่องนอนให้ได้ครบทุกอย่าง ได้แก่ ฟูก ผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม มุ้ง และหมอนนั้นก็มีอีกหลายแบบด้วยกัน เรียกว่าจะเป็นผู้หญิงล้านนาได้ไม่ใช่ง่ายๆ เลยนะนี่

เครื่องนอนที่หญิงสาวล้านนาจะต้องเย็บเองเป็น
บรรยากาศภายในยุ้งข้าว

จากห้องนอน คราวนี้ไปดูที่เรือนครัวซึ่งอยู่แยกไปจากตัวบ้านกันบ้าง ในห้องครัวตอนนี้แม่ครัวกำลังตำน้ำพริกปูและแกงแคกบ อาหารแบบล้านนาพื้นบ้าน แม่ครัวที่ว่านั้นกำลังตำให้ฉันดูในวีดิทัศน์ที่อยู่ในเรือนครัว แถมยังโฆษณาอีกว่าน้ำพริกปูของเธอนั้นอร่อยจนลืมพี่ลืมน้องเลยเดียว ชาวล้านนานั้นจะทำอาหารวันละหนในช่วงเช้า โดยอาหารหลักจะเป็นข้าวเหนียวและสัตว์เล็กๆ น้อยๆ ที่หาได้ในธรรมชาติ

และเรือนเล็กๆที่อยู่ใกล้ๆ เรือนครัวนั้นก็คือหลองเข้า หรือยุ้งข้าวที่มีบรรยากาศทะมึนเล็กน้อย ว่ากันว่าหลองเข้าบ้านไหนใหญ่โตก็แสดงว่าบ้านนั้นฐานะดี ด้านในเป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการปลูกข้าว ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการทำนา ภายในมีตาแหลว หรือเฉลวตั้งไว้กลางห้อง ซึ่งตาแหลวนี้จะใช้พิธีแฮกนา หรือแรกนา ก่อนที่จะเริ่มดำนาในแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นการบูชาผีเสื้อนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้ข้าวเจริญงอกงามดี และในพิธีก็จะมีการปักตาแหลวที่สี่มุมของบริเวณพิธี ตรงกลางปักตาแหลวหลวงหรือตาแหลวแรกนา และมีที่วางเครื่องเซ่นไว้ที่หน้าตาแหลวหลวง

ชมด้านบนทั่วแล้วอย่าลืมลงมาดูที่ใต้ถุนบ้านที่จะมีอุปกรณ์ทำมาหากินของชาวล้านนาอย่างไซ แซะ สุ่ม ตุ้มไว้จับปลา รวมไปถึงความเป็นอยู่ของชาวล้านนากับชุมชนอีกด้วย

สำหรับคนที่ชอบเรื่องราวเกี่ยวกับล้านนาก็สามารถมาเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงได้ เพราะนอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับล้านนาอย่างเต็มที่แล้ว ก็ยังไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงภาคเหนือ แต่อยู่แค่ย่านอโศกในกรุงเทพฯนี่เอง




พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง ตั้งอยู่ที่ 131 ถนนอโศกมนตรี แขวงวัฒนาเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ การเดินทาง สามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีอโศก ออกทางออกที่ 3 หรือนั่งรถไฟใต้ดินมาขึ้นที่สถานีสุขุมวิท ออกทางออกที่ 1 แล้วเดินตรงมาทางถนนอโศกมนตรีอีกประมาณ 200 เมตร พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงจะอยู่ทางซ้ายมือ เปิดให้เข้าชมในวันอังคาร - วันเสาร์ ในเวลา 09.00-17.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 100 บาท นักศึกษา 50 บาท เด็ก 20 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร 0-2661-6470 ถึง 7

https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=61783
ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ


Hotmail® goes with you. Get it on your BlackBerry or iPhone.