วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วังวรดิศ

วังวรดิศ
บริเวณด้านหน้าวัง

วังวรดิศ นับได้ว่าเป็นหนึ่งในวังหลวงเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงความสวยงามและสมบูรณ์อยู่มาก วังนี้เริ่มสร้างขึ้นในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มาแล้วเสร็จในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ด้วยเงินร่วมพระราชทานจากพระองค์ และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถเป็นค่าก่อสร้างวังบนเนื้อที่ราว 100 ไร่บนที่ดินเดิมของเจ้าจอมมารดาชุ่ม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 ได้พระราชทานที่ดินรอบๆ วังเพิ่มขึ้นอีกเป็นรางวัลในการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล และกระทรวงมหาดไทยสยามใหม่ได้เป็นผลสำเร็จ แม้กระทั่งถึงวันนี้ราษฎรท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นสุขาภิบาลพระราชทานแห่งแรกอันถือเป็นรากหญ้าประชาธิปไตยของไทยก็ยังคงระลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่านอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย

(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
พระตำหนักที่ประทับของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั้นสร้างจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2454 โดยสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบ Jugenstil หรือ Art Nouveau ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของสถาปัตยกรรมเยอรมัน จากฝีมือการออกแบบของ ดร. คาร์ล ซิกฟรีด เดอริง (Karl Doehring) สถาปนิกชาวเยอรมัน ผู้ออกแบบวังบางขุนพรหมและพระรามราชนิเวศน์ที่เพชรบุรี

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทับ ณ วังวรดิศ จนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ได้เสด็จไปประทับที่หัวหินและปีนังตามลำดับ หลายปีต่อมาจึงเสด็จกลับมาประทับ ณ วังวรดิศอีกครั้งจนสิ้นพระชนม์ที่นี่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2486 หลังจากนั้นวังวรดิศได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของพระนัดดา คือ พลตรี ม.ร.ว. สังขดิศ ดิศกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ท่านผู้นี้ได้อุทิศตนตลอด 25 ปี หลังเกษียณอายุราชการ (จวบจนสิ้นอายุขัยใน พ.ศ.2546) ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วังวรดิศโดยแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนที่จะให้วังเก่าของเจ้านายแห่งนี้เป็นเสมือน "โรงเรียน" ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมแก่เยาวชนโดยเฉพาะความรักชาติบ้านเมือง โดยยึดถือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นแบบอย่าง

ตำหนักแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนร่างกายหรือพระวรกายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สะท้อนให้เห็นพระประวัติและการดำเนินชีวิต "ที่บ้าน" ของพระองค์ ทั้งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ยังคงจัดวางไว้ในสภาพที่ใกล้เคียงกับเมื่อครั้งสมเด็จฯ ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่

ห้องสำคัญที่ถือเป็นหัวใจของวังวรดิศ คือห้องพระหรือห้องพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 รวมทั้งพระอัฐิของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และบุคคลสำคัญอักหลายพระองค์ อาทิ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมงกุฎราชกุมาร

นอกจากนั้น ห้องสำคัญในในวังวรดิศได้แก่ ห้องพระบรรทมเดิม จัดใหม่เป็นแบบ Hall of Fame หรือห้องเกียรติสถิตเทิดพระเกียรติสมาชิกราชสกุลดิศกุล และห้องทรงพระอักษรซึ่งเป็นสถานที่ที่สมเด็จฯ ประทับทรงงานในเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนมักทรงประทับในมุ้งลวดเฉลียงหลัง

จากห้องทรงพระอักษรมีบันไดเวียนสู่ชั้นบน
ซุ้มประตูจากห้อง Study สู่ห้องเสวย

นอกจากนี้ ยังมีหอสมุดดำรงราชานุภาพให้บริการค้นคว้า หนังสือส่วนพระองค์ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ประมาณ 7,000 เล่ม รวมทั้งหนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือทั่วไป หนังสือวิชาการ โดยเน้นวิชาประวัติศาสตร์ โบราณคดี การเมืองการปกครอง ฯลฯ และ บริการโสตทัศนวัสดุ และยังจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์

วังวรดิศนับเป็นวังเจ้านายไทยพระองค์สำคัญที่ดำรงสถิตสถาพรมาถึงห้าแผ่นดินแล้ว ความภาคภูมิใจของประชาชนผู้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมวังวรดิศ ซึ่งปัจจุบันเปิดขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลโดยทายาทผู้สืบตระกูล คือความรู้สึกรักหวงแหนในมรดกของชาติยิ่งขึ้นอีก และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่ทรงมีต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยตราบจนทุกวันนี้

²²²²²²²²²

ลักษณะสถาปัตยกรรม

ออกแบบโดย ดร. คาร์ล ซิกฟรีด เดอริง (Karl Doehring)

วังวรดิศสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบ Jugenstil หรือ Art Nouveau มีลักษณะเป็นอาคาร 3 ชั้น รูปตัวแอล หลังคาจั่วปาดมุมทรงสูงหักมุมตอนปลาย มีความชันมากจนใต้หลังคาสามารถใช้เป็นห้องเก็บของได้ มุงกระเบื้องดินเผาเกาะยอจากสงขลา หน้าต่างมีทั้งแบบซุ้มโค้งและสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาด้านหน้าและด้านข้างมีหน้าต่างเล็กบนลาดหลังคาเพื่อระบายอากาศแบบยุโรป ภายในเป็นพื้นไม้ การตกแต่งทั้งภายนอกและภายในเป็นไม้แกะสลักและลวดบัวปูนปั้น รูปทรงโดยรวมของตัวอาคารดูหนักแน่นแต่มีชีวิตชีวาด้วยรายละเอียดที่หลากหลาย อันเป็นบรรยากาศของสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโว

กรุกระจกฝ้าที่ซุ้มโค้งเหนือกรอบประตู
ลักษณะการตกแต่ง มีลายปูนปั้นที่ผนังตอนบนใกล้หลังคา ขอบอาคารชั้นบนมุขหน้าทางทิศตะวันออก มีเสารูปครึ่งวงกลม 2 เสา คู่กันเป็นปูนปั้นคล้ายกลีบบัวเรียงกันเป็นชั้นๆ ชั้นล่างเน้นขอบของอาคารโดยรอบด้วยลายปูนปั้นพระทวารและพระแกล มีรูปร่างต่างๆ กัน

จากห้องโถงทางเข้าชั้นล่างเป็นห้องรับแขกตกแต่งแบบจีนซึ่งแยกเป็นสัดส่วนกับห้องเสวย ห้องจีนนี้ทรงจัดไว้เพื่อการศึกษาศิลปวัฒนธรรมเปรียบเทียบสายสัมพันธ์ไทยและจีนที่จะไม่มีความแตกแยกในสยามประเทศ ชุดรับแขกจีนนี้ทรงได้รับพระราชทานมาจากพระพุทธเจ้าหลวง ซี่งมีความงดงามมาก สำหรับห้องเสวยจะไม่ค่อยได้ใช้ในยามปกติ สมเด็จฯ เคยทรงใช้เป็นที่ถวายการรับรองการเสด็จพระราชดำเนินเยือนวังวรดิศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาล ตลอดจนพระราชอาคันตุกะต่างประเทศนับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งทรงใช้เป็นที่ฝึกฝนนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงในการศึกษาประเพณีวัฒนธรรมแบบตะวันตกก่อนจากบ้านเมืองไป โดยทรงเป็นครูฝึกสอนเองเพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่โดยปราศจากความยากลำบาก

จากห้องเสวยเป็นห้อง STUDY หรือห้องศึกษาวิทยาการแตกฉาน ซึ่งมีการจัดแต่งภายในเสมือนบ้านโบราณในยุโรป ทรงประทานความหมายว่า "ตราบใดบุคคลมีลมหายใจ ต้องหมั่นขวนขวายศึกษากันไม่รู้จบ" ส่วนระเบียงหลังตำหนักซึ่งสมเด็จฯ โปรดใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์แบบไทย คือ ประทับกับพื้น ในบางครั้งจัดเป็นที่เสวยกระยาหารกับพระโอรสพระธิดา หรือเป็นสถานที่เมื่อครั้งต้องการรับสั่งสนทนาหรือประทานเล่าเรื่องราวความรู้นานาเป็นวิทยาทานแก่ผู้มาเฝ้า เช่น เรื่องการเสด็จประพาสต้นที่สมุทรสาคร ราชบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี ฯลฯ เรื่องสถาบันกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นโรงเรียนประชาธิปไตยแห่งแรกของไทย เรื่องพระโอวาทที่เมืองปัตตานี เรื่องเอกลักษณ์ของคนไทยว่าด้วยความนอบน้อมถ่อมตนที่จะยิ่งทำให้ตนเองสูงขึ้นในสายตาผู้อื่น นอกจากคนโง่เขล่าที่ดูไม่ออก เป็นต้น ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นห้องโถงบันไดเวียนชึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างชั้นล่างกับชั้นบนของตัวตำหนักใหญ่

เฉลียงหน้าประดับรูปหินอ่อน
ซุ้มประตูโค้งมองสู่ห้องอื่นๆ
โต๊ะทรงอักษรเดิม
บันไดหลักของวัง

เมื่อขึ้นสู่ชั้นบนจะแลเห็นห้องเกียรติสถิต (HALL OF FAME) ภายในประดับรูปภาพของบุคคลในราชสกุลดิศกุลที่ประกอบคุณงามความดีไว้แก่ประเทศชาติ อาทิ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล, หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล, พลเรือเอก หม่อมเจ้ากาฬวรรณดิศ ดิศกุล, พลโท หม่อมเจ้าพิสิฐดิศพงษ์ ดิศกุล, หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล เป็นต้น ณ ห้องทรงพระอักษร ได้อ่านบทพระนิพนธ์อันสุดแสนไพเราะของสมเด็จฯ ที่ว่า

ภายในห้องจีนที่ชั้นล่าง
ภายในห้องเสวยจัดเครื่องเรือนสำหรับ 14 ที่
ระเบียงล่างของชั้นสอง

เดินถัดจากนั้นมาเป็นห้องแต่งพระองค์ มีชุดนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ ของพระองค์ท่านและทายาทหลายชั่วคน สัมพันธ์ถึงความหมายของนักปกครองและนักการทหารอาชีพที่จะต้องเป็นหลักแห่งความมั่นคงแก่ชาติบ้านเมือง และห้องที่มีความสำคัญสูงสุดของวัง คือ ห้องพระบรมอัฐิ อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกในรัชกาลที่ 5

โถงล่างมีบันไดขึ้นสู่ชั้นบน
..."ยามเยาว์เห็นโลกล้วนแสนสนุก
เป็นหนุ่มสาวก็หลงสุขค่ำเช้า
กลางคนเริ่มเห็นทุกข์ สุขคู่ กันนอ
ตกแก่จึงรู้เค้าว่าล้วนอนิจจัง"
วังวรดิศในปัจจุบัน

    "ในอดีต สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะเสด็จเข้าไปกราบถวายบังคมสิ่งศักดิ์ ณ ห้องพระบรมอัฐิเป็นประจำทุกวันๆ รับสั่งให้ดำรงรักษาไว้ให้จงได้ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ทั้งผู้ที่เคยเคารพบูชา มักได้รับผลตอบแทน คือ ความสุขความเจริญเหมือนกัน ซึ่งภายหลังจากที่สิ้นพระชนม์แล้ว ก็ได้อัญเชิญพระอัฐิของพระองค์ท่านมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ด้วย"
ปัจจุบันวังวรดิศยังมีหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของวัง ซึ่งเป็นที่รวบรวมสรรพตำราและพระนิพนธ์อันล้ำค่ามากมายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและทายาทไว้ได้โดยครบถ้วนอีกด้วย




ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่อยู่ 182 ถนนหลานหลวง แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
โทรศัพท์ 0-2282-9110
โทรสาร 0-2282-9110
เวลาทำการ จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
รถประจำทาง สาย 2, 8, 39, 44, 59, 60, 79
ห้องสมุด ห้องสมุดดำรงราชานุภาพ
ที่จอดรถ ภายในพิพิธภัณฑ์
การถ่ายรูป ถ่ายรูปภายในอาคารต้องขออนุญาตก่อน
สถานที่ใกล้เคียง ตลาดสะพานขาว, ตลาดมหานาค, ชุมชนบ้านบาตร, โรงพยาบาลมิชชั่น, สนามม้านางเลิ้ง
ข้อมูลอื่นๆ ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม แต่เข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์วังวรดิศ
แผนที่ คลิกดูแผนที่ตั้งของวังวรดิศ
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=62710


Hotmail® goes with you. Get it on your BlackBerry or iPhone.