วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร"

หอศิลป์กรุงเทพ
บริเวณด้านหน้าอาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หลังจากที่รอคอยกันมาเป็นระยะเวลานานกว่าสิบปี สิ่งก่อสร้างแปลกใหม่ในย่านสยามสแควร์ ตรงบริเวณสี่แยกปทุมวันก็สร้างเสร็จสมบูรณ์ อาคารสีขาวหลังใหญ่หน้าตาทันสมัยที่ตอนแรกหลายคนคิดว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่นี้ ในที่สุดก็เปิดตัวออกมาเป็น "หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร" หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "หอศิลป์กรุงเทพ" ที่ไม่ใช่เพื่อคนกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ต้อนรับทุกคนที่มีความสนใจทางด้านศิลปะในทุกสาขา

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2537 ศิลปินในเมืองไทยจำนวนกว่าพันคน ได้มารวมตัวกันจัดแสดงผลงานที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และแสดงให้เห็นว่า ศิลปินในเมืองไทยมีมากพอที่จะจัดสร้างหอศิลป์เพื่อเป็นสถานที่แสดงผลงาน และเป็นพื้นที่พบปะพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิด ทำให้เกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับศิลปะขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการที่จะสร้างหอศิลปวัฒนธรรมขึ้น

ด้านในหอศิลป์ ที่กำลังมีการจัดแสดงงานศิลปะ

โครงการนี้ต้องลุ้นกันน่าดู ทั้งเกือบจะโดนพับไปเสียแล้ว ด้วยผู้ว่ากทม.สมัยหนึ่ง (หมัก) ดันอยากจะให้เปลี่ยนหอศิลป์มาเป็นพื้นที่การค้าเสียเกือบหมด ทั้งที่ห้างแถบนั้นก็มีมากมายนับไม่ถ้วนแล้ว จนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในหมู่ศิลปินและประชาชน และเกิดเป็นเครือข่ายประชาชนเพื่อหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชนชาว กทม.และกลุ่มศิลปินต่างๆ

จนในที่สุดสมัยผู้ว่าคนปัจจุบันก็ได้มีการอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้างหอศิลป์ขึ้น โดยได้เริ่มก่อสร้างอาคารขึ้นในที่ดินของกรุงเทพมหานครบริเวณสี่แยกปทุมวัน และเปิดตัวโครงการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการในปี 2548 ก่อนจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้เอง โดยหอศิลป์แห่งนี้ไม่เพียงจะจัดแสดงผลงานศิลปะเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาพยนตร์ ละครเวที ดนตรี วรรณกรรม การออกแบบสร้างสรรค์ต่างๆอีกด้วย

เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ

ที่สำคัญก็คือ ทำเลของหอศิลป์นี้ถือว่าดีสุดๆ เพราะอยู่ในย่านวัยรุ่น ย่านช้อปปิ้ง มีผู้คนพลุกพล่าน โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา ซึ่งหอศิลป์ก็อาจช่วยปลูกฝังความรักศิลปะให้เกิดในจิตใจของเด็กรุ่นใหม่ได้

แม้จะยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ก็เริ่มมีการจัดแสดงงานนิทรรศการต่างๆ ให้คนได้ชมกันไปบ้างแล้ว และในวันนี้ฉันก็ได้มีโอกาสผ่านไปแถวสยาม เพื่อไม่ให้เสียโอกาสก็เลยชะแว้บเข้าไปดูภายในหอศิลป์เสียเลย ภายในอาคารหอศิลป์นี้ก็แบ่งพื้นที่เป็น9 ชั้นด้วยกัน และมีชั้นใต้ดิน บริเวณชั้น 1 นั้นเป็นห้องโถงโล่งๆ ฉันขึ้นบันไดเลื่อนไปยังชั้นที่สอง ซึ่งเป็นส่วนของร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ แต่ตอนนี้ยังไม่เปิดให้บริการ ยังคงเป็นห้องโล่งๆอยู่ ถ้าหากว่าเปิดให้บริการเมื่อไรก็คงจะคึกคักมากทีเดียว

ขึ้นบันไดเลื่อนต่อมายังชั้นที่ 3 ที่ตอนนี้กำลังมีงาน "นิทรรศการรักษ์เจ้าพระยา" จัดแสดงอยู่ในชั้น 3-4-5 ซึ่งก็มีทั้งภาพวาดของนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงชั้นมัธยม โดยมีหัวข้อของภาพวาดเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา ภาพวาดทั้งหมดจัดแสดงอยู่รอบๆ ทางเดินในชั้น 3 ส่วนชั้นที่ 4 จะเป็นการจัดแสดงภาพถ่าย "คุณค่าของสายน้ำเจ้าพระยา" ที่มีผู้ส่งภาพถ่ายงามๆเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าประกวดมากมาย เดินดูกันเพลินไปเลยทีเดียว แต่หากอยากเห็นว่าภาพของใครได้รางวัลอะไร ก็ต้องขึ้นบันไดเลื่อนไปดูต่อบนชั้น 5 ใครที่อยากดูก็ต้องรีบหน่อย เพราะงานนิทรรศการรักษ์เจ้าพระยานี้จะจัดแสดงถึงวันที่ 31 สิงหาคม หรือวันอาทิตย์นี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว

จากชั้น 5 เลื่อนกันต่อไปยังชั้น 6 บันไดเลื่อนบนชั้นนี้ออกจะน่าหวาดเสียวสักเล็กน้อยเพราะเบื้องล่างมองลงไปได้โล่งจนถึงชั้นใต้ดินเลยทีเดียว คนกลัวความสูงไม่ควรชะโงกหน้าลงไปดู และจากชั้น 6 ไปยังชั้น 7 และชั้น 8 นั้น ก็ออกแบบทางเดินให้เป็นทางเวียนเหมือนก้นหอย แต่หากใครข้อเสื่อม หัวเข่าไม่ค่อยดี จะขึ้นบันไดหรือขึ้นลิฟท์ไปแทนก็ได้

ที่ชั้น 6-7-8 ในตอนนี้ยังไม่มีงานอะไรให้ชม เพราะเขากำลังเตรียมพื้นที่เพื่อจัดแสดงงาน "รอยยิ้มสยาม : ศิลปะ + ศรัทธา + การเมือง + ความรัก" งานใหญ่อีกงานหนึ่งของหอศิลป์ที่จะมีศิลปินทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมกันกว่า 100 คน มาจัดแสดงงานศิลปะร่วมกัน ซึ่งก็มีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย ศิลปะการจัดวาง วิดีโออาร์ต ฯลฯ สำหรับรายชื่อของศิลปินชาวไทยที่จะเอาผลงานมาร่วมจัดแสดงนั้นก็มีทั้งศิลปินรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก อย่าง ชะลูด นิ่มเสมอ ถวัลย์ ดัชนี เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ปรีชา เถาทอง สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ วสันต์ สิทธิเขต วิศุทธิ์ พรนิมิต วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และอีกหลากหลายศิลปิน จะมาร่วมแสดงรอยยิ้มสยามให้เราได้ชมกันอย่างจุใจ อ้อ...แต่ต้องรอชมกันในวันที่ 20 กันยายนถึง 23 พฤศจิกายนนี้

ต้อนรับผู้คนทุกวัยให้เข้ามาชม

มาถึงชั้นบนสุดที่ชั้น 9 ที่การจัดแสดงงานเพิ่งจบไปสดๆร้อนๆ ซึ่งก็คืองานนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง" ในสมเด็จพระเทพรัตนฯ ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี สำหรับคนที่ไม่ได้ไปชมฉันก็ขอเล่าให้เสียดายเสียหน่อยว่าได้พลาดชมภาพสวยๆงามๆจากพระเนตรที่มองผ่านเลนส์จำนวน 250 ภาพ ที่ทรงบันทึกไว้ตลอด 5 ปีจาก 20 ประเทศ เช่น ไทย ลาว เขมร อิหร่าน จอร์แดน ฝรั่งเศส สวีเดน ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งก็มีทั้งภาพที่งดงามและภาพตลกน่ารักที่แสดงถึงพระอารมณ์ขันของพระองค์อีกหลายภาพด้วยกัน

จากชั้นบนสุด คราวนี้ลงไปชั้นล่างสุดที่ชั้นใต้ดินดูบ้าง เพราะที่ชั้นนี้เค้ามีห้องสมุดศิลปะขนาดย่อมๆให้เข้ามานั่งอ่านหนังสือกัน มีหนังสือเกี่ยวกับศิลปะทั้งของไทยและต่างประเทศให้เลือกอ่าน แม้จะยังดูบางตาไปสักนิด แต่เจ้าหน้าที่ในห้องสมุดก็บอกฉันว่ากำลังสั่งหนังสือเพิ่มเข้ามาอีกเรื่อยๆ และนอกจากหนังสือศิลปะแล้วก็ยังมีหนังสือทั่วไป เช่น เรื่องสั้น หรือนวนิยายให้อ่านอีกจำนวนหนึ่ง แล้วก็ยังมีโซนอินเตอร์เน็ต และห้องสำหรับเด็กซึ่งมีหนังสือนิทานหลากหลาย และของเล่นสำหรับเด็กๆอีกด้วย

มีพื้นที่แสดงงานศิลปะอย่างกว้างขวาง

หากใครมาที่หอศิลป์ในช่วงนี้ก็จะได้ชมงาน "เทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 12" ที่มีหนังสั้นคัดสรรจากหนังประกวดมากกว่า 400 เรื่อง โปรแกรมหนังสั้นจากเทศกาลหนังสั้นแคลรมองต์ เฟอร์ลอง ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นงานเทศกาลหนังสั้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก โปรแกรมหนังสั้นยอดเยี่ยมจากประเทศในอาเซียน โปรแกรมหนังสั้นเชิดชูความหลากหลายทางเพศ และหนังสั้นอีกมากมาย กำหนดฉายตั้งแต่ 29 สิงหาคม จนถึง 14 กันยายนนี้ที่ชั้น 5 และในเดือนตุลาคมก็จะมีคอนเสิร์ตเดี่ยวไวโอลินของนักไวโอลินชาวดัทช์ และเยาวชนไทยที่มีพรสวรรค์ หากใครสนใจก็ต้องติดตามกันต่อไป

กว่าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะเปิดอย่างเป็นทางการก็คงเป็นช่วงต้นปีหน้า ก็น่าดีใจที่คนกรุงเทพฯจะได้มีแหล่งพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ที่ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่เกลื่อนกลาด แต่เป็นหอศิลปวัฒนธรรม สถานที่ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ที่มาชมเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ก็ได้
มีห้องสมุดศิลปะให้ใช้บริการที่ชั้นใต้ดิน



"หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร" ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน 10330 เปิดให้บริการในวันอังคาร-วันอาทิตย์ ในเวลา 10.00-21.00 น. มีรถประจำทางสาย 11, 15, 16, 21, 25, 29, 34, 36, 47, 50, 54, 79, 93, 141, 204, 501 ผ่าน และสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ หรือสถานีสยาม แล้วเดินมาตามทางเชื่อมเข้าสู่อาคารหอศิลปวัฒนธรรมฯ ได้เลย สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร 0-2214-6638


ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=64446


Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.