วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ถอดบทเรียน "ไข้หวัดมรณะ" เตือนธุรกิจตั้งการ์ดก่อนสาย

วันที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4102

ถอดบทเรียน "ไข้หวัดมรณะ" เตือนธุรกิจตั้งการ์ดก่อนสาย



ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก" ได้สร้างความหวั่นวิตกให้แก่ผู้คนทั่วโลก แม้ว่าสถานการณ์ยังไม่ได้ถึงขั้นแพร่ระบาดใน วงกว้างเหมือนกับไข้หวัดมรณะครั้งก่อนๆ

แต่จำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 150 รายในเม็กซิโกซึ่งอาจเกิดจากหวัดมรณะชนิดนี้ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในอีกหลายประเทศ ประกอบกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกระดับการเตือนภัยความรุนแรงจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ที่เป็นระดับการติดต่อของไวรัสจากคนสู่คน และอาจเกิดการระบาดในชุมชน ก็ได้สร้างความหนักใจ เพราะจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญกับมรสุมครั้งใหญ่ และอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้เนิ่นช้าไปอีก

ก่อนหน้านี้ธนาคารโลกประเมินว่า หากเกิดการระบาดของโรคจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์ และส่งผลให้จีดีพีโลกหดตัวลง 4.8% ขณะที่คาดการณ์จีดีพีโลกในปัจจุบันก็อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้วจากวิกฤตเศรษฐกิจ

"วอลล์สตรีต เจอร์นัล" นำเสนอบทความของ "คอลัม เมอร์ฟี" ซึ่งเคยเขียนบทความเรื่อง "แผนปฏิบัติการไข้หวัด : หนทางอยู่รอดของธุรกิจ" ในปี 2549 โดยครั้งนี้ "เมอร์ฟี" ระบุว่า ควรนำบทเรียนจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ในอดีต มาปรับใช้เพื่อสู้กับไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก ซึ่งหากเกิดการระบาดขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจและชีวิตมนุษย์อย่างมาก

โดยการระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งรุนแรง 3 ครั้งในรอบศตวรรษ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) ในปี 2461-2462 คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก 40-60 ล้านคน ไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian flu) ในปี 2500-2501 คร่าชีวิตผู้คนราว 2 ล้าน และไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong flu) ในปี 2511-2512 มีผู้เสียชีวิต 1 ล้านคน

การสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมากเช่นนี้ย่อมจะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเมื่อปี 2548 สำนักงบประมาณของสหรัฐได้จัดทำรายงานประเมินความเสียหายจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐคิดเป็น 5% ของจีดีพี โดยราว 3% เป็นผลจากด้านอุปทาน อาทิ แรงงานและโลจิสติกส์ เพราะราว 3 ใน 10 ของชาวอเมริกันจะไม่สามารถไปทำงานได้หากเกิดการระบาดขึ้น ขณะที่อีก 2% อยู่ในส่วนของจีดีพีซึ่งมาจากปัจจัยด้านอุปสงค์ เช่น การใช้จ่ายที่ลดลงทั้งในส่วนของผู้บริโภค บริษัท และรัฐบาล

"เมอร์ฟี" ตั้งข้อสังเกตว่า ในการระบาดครั้งก่อนๆ พบว่า ความกลัวของคนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าอาการของโรคเสียอีก เช่นกรณีโรคซาร์สที่ระบาดในฮ่องกงเมื่อปี 2546 ที่มีชาวฮ่องกงเสียชีวิตราว 300 คน แต่จีดีพีลดลง 2% และยอดค้าปลีกลดลง 6.1% ดังนั้นรัฐบาลและบริษัทต้องเข้าใจเกี่ยวกับการขยายวงของโรคและการตอบสนองทางจิตวิทยาตามธรรมชาติของคน เพื่อจะรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น และอาจบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

วิธีการหนึ่งคือปรับปรุงการสื่อสารระหว่างสาธารณะและพนักงาน ซึ่ง "มอร์แกน สแตนเลย์" ลดความวิตกของพนักงาน โดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางสื่อสารกับพนักงานทั่วโลก รวมถึงให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่สำคัญๆ แก่พนักงาน ส่วน "ซิสโก้ ซิสเต็มส์" ใช้ข้อความเสียง (voice mail) สื่อสารกับพนักงาน

ภาคธุรกิจสามารถสื่อสารกับพนักงาน ซัพพลายเออร์ และลูกค้าในยามที่เกิดการระบาด ซึ่งอาจรวมถึงการให้พนักงานบางคนทำงานจากบ้าน การอบรมพนักงานให้สามารถดูแลเพื่อนร่วมงานที่ป่วย หรือการแจกหน้ากาก ซึ่งหากทำได้ก็จะช่วยลด ความกลัวและผลกระทบให้น้อยลง

ขณะที่ "ดร.ลาร์รี มอนด์ไชน์" ระบุใน china.org.cn ว่า ผลสำรวจของแฮร์ริสที่สอบถามผู้บริหารอาวุโสของ 52 บริษัทที่ติดอันดับในทำเนียบฟอร์จูน 1,000 พบว่ามีเพียง 15% ที่ได้เตรียมแผนไว้สำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุด ทั้งที่นี่จะเป็นเครื่องมือปกป้องธุรกิจในยามคับขัน เพราะไม่มีใครรู้ว่า ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกจะมีบทสรุปอย่างไร

ด้าน "บิสซิเนส เจอร์นัล" ระบุว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐได้เสนอแนะสิ่งที่ภาคธุรกิจควรจะทำ เพื่อเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดของ ไข้หวัดหมูไว้แต่เนิ่นๆ เพราะภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน รวมทั้งจะช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย

โดยลิสต์รายการที่บริษัทควรทำ ได้แก่ การกำหนดตัวทีมงานและบทบาทความรับผิดชอบในการจัดเตรียมแผนและตอบสนองแผนในยามวิกฤต การกำหนดตัวพนักงานที่เป็นแกนหลัก วัตถุดิบ ซัพพลายเออร์ สินค้าและบริการของผู้รับช่วงงาน และระบบโลจิสติกส์ที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไป การฝึกอบรมและจัดเตรียมทีมงาน การพัฒนาและเตรียมแผนสำหรับกรณีต่างๆ ในระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นหรือลดลง การกำหนดแผนทางการเงินในกรณีต่างๆ การกำหนดแผนรับมือทางธุรกิจหากเกิดผลกระทบในแง่การเดินทาง เช่น การกักกัน และการปิดพรมแดน การอัพเดตข้อมูลอยู่ตลอด และการจัดทำแผนสื่อสารและทบทวนเป็นระยะๆ ซึ่งรวมถึงการกำหนดตัวบุคคลหลักๆ ที่จะติดต่อด้วย และการทดสอบแผนและปรับปรุง ให้เข้ากับสถานการณ์


หน้า 11
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02for01040552&day=2009-05-04&sectionid=0205
 


Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.