วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พระที่นั่งวิมานเมฆ

พระที่นั่งวิมานเมฆ




หลังจากที่รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรปในปี 2440 ทรงพระราดำริให้มีที่ประทับในฤดูร้อนที่กรุงเทพฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่นาและสวน ระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสน ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดสร้างอุทยานสถานและพระราชทานนามพระราชวังว่า "สวนดุสิต"

พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระราชวังดุสิต (ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์เรียกว่า พระราชวังสวนดุสิต) ใน พ.ศ.2444 โดยโปรดเกล้าฯ ให้รื้อ พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชังเมื่อ พ.ศ.2435 แต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ พระราชโยธาเทพ (กร หงสกุล ต่อมาเป็น พระยาราชสงคราม) เป็นนายงานรื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์จากเกาะสีชังมาสร้างในสวนดุสิต และพระราชทานนามว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ และทรงวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2443 โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกำกับการออกแบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2444

พระที่นั่งวิมานเมฆสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่งดงามประณีตและได้รับอิทธิพลการก่อสร้างแบบตะวันตก การก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ.2444 และได้เสด็จมาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆ จนกระทั่งพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2445 สร้างเสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานเป็นการถาวร จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 และพระที่นั่งวิมานเมฆยังคงเป็นสถานที่ประทับของเจ้านายจนกระทั่งสิ้นรัชกาล เจ้านายฝ่ายในและข้าราชบริพารจึงได้กลับมาประทับที่พระบรมมหาราชวัง

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆใน พ.ศ.2468 แต่เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชายา ก็ทรงย้ายออกจากพระที่นั่งวิมานเมฆ และจากนั้นมาพระที่นั่งวิมานเมฆก็มิได้เป็นพระราชฐานที่ประทับของเจ้านายอีก

ในรัชกาลปัจจุบัน พ.ศ.2525 ซึ่งเป็นปีที่ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงขอพระบรมราชานุญาตซ่อมพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันพระที่นั่งวิมานเมฆเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของสำนักพระราชวัง รวมทั้งหมู่พระตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในด้วย

หมู่พระตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน

ลักษณะขององค์พระที่นั่ง

(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
แผนที่พระที่นั่งวิมานเมฆ
พระที่นั่งองค์นี้ ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษรตัวแอล (L) ในภาษาอังกฤษ ยาวด้านละ 60 เมตร สูง 20 เมตร เป็นอาคาร 3 ชั้น ยกเว้นตรงส่วนที่ประทับซึ่งมีรูปร่างเป็นแปดเหลี่ยม มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมด ทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลม ซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่า ขนมปังขิง

สำหรับพระที่นั่งวิมานเมฆนี้ จะแบ่งเป็นห้องต่างๆ 5 สีด้วยกัน คือ สีฟ้า เขียว ชมพู งาช้าง และสีลูกพีช (ชมพูอมส้ม) แต่ละห้องจะจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 รวมถึงเจ้านายชั้นสูง เช่น ห้องสีเขียว เป็นห้องเครื่องเงินจากประเทศจีน ส่วนชั้นสองเป็นห้องทรงงานของรัชกาลที่ 5 และห้องบนชั้นสามจะเป็นห้องบรรทม แต่ห้องที่งดงามที่สุดในพระที่นั่งวิมานเมฆเห็นจะเป็นห้องท้องพระโรง ที่มีบรรยากาศขรึมขลังอลังการมากที่สุด

ข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 และเจ้านายชั้นสูง


เครื่องกระเบื้อง

อารยธรรมตะวันตกที่แพร่เข้ามาอย่างรวดเร็วในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำเอาความนิยมในเครื่องกระเบื้องของยุโรปเข้ามาแทนที่จานชามกระเบื้องที่เคยสั่งซื้อสั่งทำจากประเทศจีน เปลี่ยนจากการรับประทานด้วยมือเป็นช้อนส้อม เครื่องกระเบื้องที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของที่ผลิตในประเทศจีนและยุโรปซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นเป็นของทีระลึกและเพื่อใช้เป็นการส่วนพระองค์


เครื่องพิพิธภัณฑ์

เป็นสิ่งสะสมของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการระดับสูง ของที่สะสมนั้นมีหลายประเภท เช่น กรอบรูป นาฬิกา ธารพระกร เครื่องลายคราม กล้องยาสูบ โดยเฉพาะตลับงา ซึ่งเป็นของที่นิยมสะสมกันอย่างมากในปี 2445 มีการแข่งขันออกแบบต่างๆ นานา จนถึงกับมีการจัดงานประกวดกัน


เครื่องทองและเครื่องเงิน

ภายหลังการกลับจากเสด็จประพาสยุโรปรัชกาลที่ 5 ได้ทรงนำเครื่องทองกลับมาเป็นจำนวนมาก และทรงสั่งทำเครื่องทองลงยาจาก "ฟาร์แบร์เช่" (Peter Carl Faberge) ช่างทองชาวรัสเซียหลายชิ้น


เครื่องถม

เป็นหนึ่งในหัตถกรรมของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เครื่องถมไทยมีหลายประเภท เช่น ถมเงินถมดำ ถมตะทอง ถมปรักมาศ เครื่องถมในสมัยรัตนโกสินทร์จะทำแถวย่านบางขุนพรหมและบ้านพานถม ส่วนเครื่องถมที่นำมาจัดแสดงนั้นทำในสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5


เครื่องแก้ว

นอกจากเครื่องกระเบื้องแล้ว ความนิยมเครื่องแก้วในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แพร่หลายในสังคมไทย มีการสั่งซื้อและสั่งทำจากเครื่องแก้วจากประเทศในแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน การสั่งทำเครื่องแก้วสำหรับใช้ในพระราชวังุสิตนั้น นิยมสลักตราประจำพระองค์ พระปรมาภิไธยย่อ พระนามาภิไธยย่อ หรือมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ประทับอยู่บนภาชนะเหล่านั้น



ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่อยู่ 16 ถนนราชวิถี แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 0-2628-6300-9
โทรสาร 0-2281-6880
เวลาทำการ ทุกวัน เวลา 9.30 - 16.00 น.
รถประจำทาง สาย 12, 18, 28, 70, 108
ที่จอดรถ ภายในพระที่นั่งวิมานเมฆ
การถ่ายรูป สามารถถ่ายรูปได้เฉพาะภายนอกอาคาร
สถานที่ใกล้เคียง พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน, พระที่นั่งอนันตสมาคม, พระที่นั่งอัมพรสถาน, พระบรมรูปทรงม้า, รัฐสภา, วังปารุสกวัน, สวนสัตว์ดุสิต, สวนอัมพร, หมุดคณะราษฎร์
ข้อมูลอื่นๆ ค่าเข้าชม สำหรับนักเรียน นักศึกษา นักบวช 20 บาท สำหรับผู้ใหญ่ 50 บาท
แผนที่ คลิกดูแผนที่ตั้งของพระที่นั่งวิมานเมฆ


ที่มาข้อมูล : ของดีกรุงเทพฯ ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยว
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=63085

Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.