วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วัดราชนัดดาราม

วัดราชนัดดาราม

วัดราชนัดดาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้ป้อมมหากาฬ ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถือว่าเป็นวัดแฝดคู่กับ วัดเทพธิดาราม ที่อยู่ห่างกันเพียงลำคลองกั้นและมีสะพานทอดข้ามถึงกัน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้นบนสวนผลไม้เก่าเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ เพื่อพระราชทานแก่ หม่อมเจ้าหญิงโสมนัส พระราชนัดดาที่ทรงโปรดปรานมากที่สุด โดยทั้งสองพระองค์เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ร่วมกันเมื่อ พ.ศ.2389 ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้าหญิงโสมนัสเป็น สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสีในพระองค์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นเป็นพระราชกุศลพระราชทานแก่พระราชนัดดา จึงพระราชทานนามของวัดนี้ว่า วัดราชนัดดาราม

ภายในบริเวณวัดราชนัดดาราม มีสิ่งที่น่าสนใจคือ โลหะปราสาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2389 เนื่องจากมีพระราชศรัทธาจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และทรงทราบว่าในสมัยโบราณมีการสร้างโลหะปราสาทเพียง 2 แห่งในโลก คือ แห่งแรก นางวิสาขา แห่งเมืองสาวัตถี สร้างขึ้น มียอดปราสาททำด้วยทองคำ หลังที่สอง พระเจ้าทุฏฐคามณี แห่งกรุงอนุราธปุระ ลังกา สร้างขึ้น หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ปัจจุบันทั้งสองแห่งนี้ได้ผุพังไปหมดสิ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโลหะปราสาทขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พระนครแทนการสร้างพระเจดีย์เช่นพระอารามอื่น

พระอุโบสถวัดราชนัดดาราม
โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามจึงเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 3 ของโลก ตัวปราสาทมีฐานกว้าง 23 วา สูง 3 ชั้น ส่วนบนสุดที่เป็นยอดปราสาทจตุรมุข มีทั้งหมด 37 ยอด อันหมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตรงกลางเป็นพระมณฑป ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียน 67 ขั้น ให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้

  • พระอุโบสถ ตั้งอยู่กลางระหว่างพระวิหารและศาลาการเปรียญ คือด้านยาวขนานกับกำแพงแก้ว เป็นอาคารทรงโรง หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจก เป็นแบบไทย ต่างจากวัดเทพธิดารามซึ่งสร้างแบบจีน ฝาผนังเขียนภาพจิตรกรรมลายเทพชุมนุมกับดาวดาราศาสตร์ เมื่อได้ทำพื้นพระอุโบสถและก่อฐานชุกชีเรียบร้อยแล้ว รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชักลากพระพุทธรูปจากพระบรมมหาราชวังไปประดิษฐานในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2389 พระพุทธรูปองค์นี้ปางมารวิชัย มีพระนามว่า พระเสฏฐตมมุนี หน้าตักกว้าง 7 ศอก หล่อด้วยทองแดงที่ขุดมาได้จากตำบลจันทึก จังหวัดนครราชสีมา

  • พระวิหาร ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของพระอุโบสถ เป็นอาคารทรงโรง หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันลงรักปิดประดับกระจก เขียนลายฉลุปิดทองที่เพดาน ภายในพระวิหารทำเป็นห้องเวชยันตพิมานไว้ตรงกลาง 2 ข้างมีฉัตรเบ็ญจา 5 ชั้น มีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นประธาน พระพุทธรูปองค์นี้เดิมเมื่อสร้างไม่ได้ลงรักปิดทอง ต่อเมื่อได้ลงรักปิดทองแล้วจึงถวายพระนามว่า พระพุทธชุติธรรมนราสพ

  • ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง ซึ่งได้หล่อขึ้นเท่าองค์พระประจำชันษา
แต่เดิมโลหะปราสาทวัดราชนัดดาไม่ได้ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอย่างเช่นปัจจุบันนี้ เพราะมีการก่อสร้าง โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ที่หัวมุมถนนราชดำเนินในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม จนบังโลหะปราสาทไปหมด ต่อมาในปี พ.ศ.2532 ได้มีการรื้อศาลาเฉลิมไทย เพื่อเปิดมุมมองของโลหะปราสาทให้ชัดเจนมากขึ้น แล้วใช้พื้นที่นี้ก่อสร้างลานดอกไม้ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อเสด็จออกรับแขกบ้านแขกเมือง เรียกว่า ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ตามพระนามเดิมของรัชกาลที่ 3 ตั้งแต่นั้นโลหะปราสาทจึงเห็นได้อย่างเด่นชัดจากริมถนนราชดำเนิน




กดที่ปุ่ม play เพื่อดูภาพถัดไป



ข้อมูลเพิ่มเติม
ที่อยู่ ถนนมหาไชย แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ 0-2281-2089
รถประจำทาง สาย 2, 5, 15, 35, 47, 56, 79, 201, 503, 509, ปอ.พ.10, 25
ที่จอดรถ บริเวณภายในวัด
เรือโดยสาร เรือหางยาวประจำทาง (คลองแสนแสบ) ขึ้นที่ท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
การถ่ายรูป สามารถถ่ายรูปได้
สถานที่ใกล้เคียง ชุมชนบ้านบาตร,เทวสถานโบสถ์พราหมณ์,วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม,วัดเทพธิดาราม, วัดสุทัศน์, เสาชิงช้า, ศาลเจ้าพ่อเสือ, สวนรมณีนาถ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, ถนนราชดำเนิน, ป้อมมหากาฬ, ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์, ภูเขาทอง, วัดสระเกศ, สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
แผนที่ คลิกดูแผนที่ตั้งของวัดราชนัดดาราม
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=49345

Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.