วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สะพานมัฆวานรังสรรค์

สะพานมัฆวานรังสรรค์
สะพานมัฆวานรังสรรค์ในอดีต
สะพานมัฆวานรังสรรค์ในปัจจุบัน


เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีพระราชประสงค์จะสร้างถนนขนาดใหญ่ขึ้นกลางพระนคร จากบริเวณสนามหลวงไปจนถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นถนนแบบฝรั่งที่เรียกว่า "Avenue" ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในยุโรป ก็จำเป็นที่จะต้องมีการสร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมในช่วงที่ถนนตัดผ่านไปพร้อมกัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มดำเนินการออกแบบและก่อสร้างถนนกับสะพานในปี พ.ศ.2443 ใช้เวลาในการก่อสร้างอยู่ 3 ปีก็สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดถนนและสะพานในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2446 แล้วพระราชทานนามให้ถนนเส้นนี้ว่า "ราชดำเนิน" คือ "เส้นทางเสด็จฯ ของพระราชา" และสะพานนี้ว่า "มัฆวานรังสรรค์" คือ "พระอินทร์เป็นผู้สร้าง"

ชื่อสะพานมัฆวานรังสรรค์นี้เป็นชื่อที่คล้องจองกับสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมอีก 4 สะพาน ซึ่งเป็นสะพานในชุดเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามให้มีความหมายคล้ายกัน คือ "สะพานที่เทวดาเป็นผู้สร้าง" อันได้แก่ สะพานเทเวศรนฤมิตร สะพานวิศสุกรรมนฤมาณ สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานเทวกรรมรังรักษ์ และสะพานจตุรพักตร์รังสฤษดิ์

สะพานมัฆวานรังสรรค์ ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก บริเวณที่ตัดผ่านคลองผดุงกรุงเกษม ข้างสำนักงานองค์การสหประชาชาติ และโรงเรียนมัธยมวัดมกุฎกษัตริย์ เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่เชื่อมระหว่างถนนราชดำเนินนอกกับถนนราชดำเนินกลาง ออกแบบโดย มาริโอ ตามานโญ นายช่างชาวอิตาลี จึงมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอิตาลีผสมสเปน มีลักษณะเป็นสะพานโครงเหล็ก พื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานเป็นเหล็กหล่อทำลวดลายสวยงาม ที่กลางราวสะพานด้านนอกประดับดวงตรารูปเศียรช้างเอราวัณ หัวมุมสะพานทั้ง 4 มุม มีเสาไฟหินอ่อนส่วนบนเป็นโลหะสลักลวดลาย นับเป็นสะพานที่สวยงามและโอ่อ่าที่สุดของกรุงเทพมหานครในยุคนั้น

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันมีพระราชดำริให้ทางกรุงเทพมหานครซ่อมแซมสะพานมัฆวานรังสรรค์และสร้างสะพานคู่ขนานสะพานเดิมขึ้นอีก 2 สะพาน เพื่อความสวยงามและความคล่องตัวของการจราจร โดยสะพานใหม่มีระดับความสูงน้อยกว่าสะพานมัฆวานรังสรรค์ มีความกว้างสะพานละ 15.00 เมตร ผิวจราจร 10.00 เมตร ขนาด 3 ช่องทางจราจร มีความยาวสะพานละ 22.00 เมตร

การก่อสร้างเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2537 ทำพิธีเปิดการจราจรในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2537 รวมงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งสิ้น 40 ล้านบาท และใช้งบประมาณตกแต่งศิลปกรรมอีกจำนวน 3.6 ล้านบาท


รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ทรงเปิดสะพาน

บรรยากาศบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ในอดีต

สะพานมัฆวานรังสรรค์ในปัจจุบัน

สะพานมัฆวานรังสรรค์และสะพานใหม่ทั้ง 2 ข้าง

พื้นผิวสะพานที่กลายเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญ

เสาไฟหินอ่อนบริเวณหัวมุมสะพาน
(เลื่อนเมาส์แตะที่แต่ละภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)







ที่มาข้อมูล : www.wikipedia.org
www.bloggang.com
http://wikimapia.org
www.siamhistory.com
ศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร
 
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=66551


Hotmail® goes with you. Get it on your BlackBerry or iPhone.