วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บริเวณด้านหน้าตึกโดม ที่ตั้งอยู่คู่กับอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์

ช่วงนี้หลายๆ มหาวิทยาลัยก็กำลังทยอยมีพิธีรับปริญญาบัตรกันอยู่ ฉันเองแม้จะเลยวัยเรียนมาหลายปีแล้วแต่ก็ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตทุกคนที่อดทนร่ำเรียนจนคว้าปริญญากันมาได้ โดยมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน (พระอาทิตย์) อย่าง "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ก็เพิ่งจะมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรไปหมาดๆ เช่นกัน

หลายๆ ครั้งที่ฉันได้มาเยือนถิ่นธรรมศาสตร์ เพราะชื่นชอบในบรรยากาศและทำเลที่ตั้ง ชื่นชมในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และเพราะเคยได้ยินมาว่าชาวธรรมศาสตร์เขามีพ่อแม่คนเดียวกัน คือ "แม่โดมและพ่อปรีดี"

ภายในห้องอนุสรณสถานปรีดี พนมยงค์

สำหรับ "แม่โดม" หรือตึกโดมนั้นถือเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปแล้ว ด้วยรูปทรงของอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ ตัวหลังคาทำเป็นรูปทรงโดม ฐานเป็นรูปกรวย 6 เหลี่ยมปลายยอดแหลม ซึ่งมีคนเปรียบโดมเหมือนดินสอเขียนฟ้า ส่วน "พ่อปรีดี" ก็คือ "นายปรีดี พนมยงค์" ผู้ประศาสน์การ หรือผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งศึกษาของชาวธรรมศาสตร์มาจนทุกวันนี้

หากใครอยากรู้เรื่องราวของพ่อปรีดี ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และอยากไปสัมผัสตึกโดมอย่างใกล้ชิด ก็ต้องมาชม "ห้องอนุสรณสถานปรีดี พนมยงค์" และ "หอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" กันที่ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์พร้อมฉันได้เลย

เมื่อก้าวเท้าเข้าไปในตึกโดม เดินขึ้นบันไดปูพรมแดงขึ้นไป ก็จะเห็น "ห้องอนุสรณสถานปรีดี พนมยงค์" อยู่เบื้องหน้า ห้องอนุสรณสถานฯ นี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว แต่ก็มีสภาพทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จนในปี 2551 นี้เองที่ได้มีการซ่อมแซมปรับปรุงและพร้อมเปิดให้เข้าชมกัน

เรียนรู้ประวัติและผลงานนายปรีดี พนมยงค์
บรรยากาศในหอประวัติศาสตร์ฯ

เมื่อเปิดประตูเข้าไปก็จะพบกับพื้นที่ส่วนแรกคือ "นักอุดมการณ์และนักอภิวัฒน์ประชาธิปไตย" ซึ่งมีรูปหล่อครึ่งตัวของนายปรีดี พนมยงค์ ตั้งโดดเด่นอยู่เบื้องหน้า ส่วนเบื้องหลังก็คือ แท่งประติมากรรมแสดงหลักการสำคัญ 6 ประการของแนวคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของนายปรีดี นั่นก็คือ เอกราช อธิปไตย สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์และประชาธิปไตย

เราจะเริ่มชมภายในอนุสรณ์สถานกันโดยเดินเป็นวงกลมไปทางด้านซ้ายมือกันก่อน เริ่มต้นในส่วนของ "ชีวิตช่วงต้นและการหล่อหลอมทางสังคม" ด้วยประวัติชีวิตช่วงที่น่าสนใจของนายปรีดี ควบคู่ไปกับเหตุการณ์สำคัญในประเทศไทย และเหตุการณ์สำคัญในโลก ตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิตเป็นลูกชาวนา เมื่อเติบโตขึ้นก็ได้ร่ำเรียนเป็นนักเรียนกฎหมายในกระทรวงยุติธรรม ก่อนจะได้รับทุนจากกระทรวงไปศึกษาต่อถึงที่ประเทศฝรั่งเศส และได้รับแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับการปกครองกลับมา ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้นายปรีดีเกิดความมุ่งมั่นที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย

มุมมองผ่านนาฬิกาจากตึกโดมลงมาเบื้องล่าง
ส่วนถัดไปเป็นส่วนของ "สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่" จัดแสดงเรื่องราวจุดกำเนิดของคณะราษฎร์ และการดำเนินการเพื่อเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และแสดงเจตนารมณ์ของคณะราษฎร์ผ่านประกาศคณะราษฎร์ซึ่งร่างโดยนายปรีดี และในส่วนนี้ยังจัดแสดงภาพรวมของเหตุการณ์วันอภิวัฒน์ หรือวันที่เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประเทศไทย นอกจากนั้น ก็ยังมีผลงานสำคัญของนายปรีดีช่วงที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านได้พยายามสร้างและผลักดันหลัก 6 ประการตามประกาศคณะราษฎร์ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น

แต่ชีวิตของมนุษย์ปุถุชนเมื่อมีขึ้นก็ต้องมีลง ในส่วนของ "มรสุมทางการเมือง" ที่ใช้สีแดงมาจัดแสดงทำให้รู้สึกถึงความเดือนร้อนรุนแรง ในส่วนนี้ได้กล่าวถึงชีวิตของนายปรีดีที่ถูกศัตรูทางการเมืองโจมตี เช่น ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และอีกหลายๆ สาเหตุจนทำให้เป็นชนวนของเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ.2490 และเหตุการณ์กบฏวังหลวง พ.ศ.2492 จนส่งผลให้นายปรีดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไปในที่สุด และไม่ได้กลับมาเหยียบแผ่นดินแม่อีกเลยตราบจนสิ้นชีวิต

"ชีวิตช่วงปลาย : ผู้ลี้ภัยกับการตกผลึกทางความคิด" กล่าวถึงชีวิตของนายปรีดีเมื่อต้องเป็นผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ แต่ในช่วงเวลานี้เอง นายปรีดีก็ได้ใช้เวลาในการศึกษา ค้นคว้า ตรึกตรองจนกลายมาเป็นแนวคิดทางการเมืองที่เรียกว่า "สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย" มีข้อความหนึ่งของนายปรีดีที่ฉันอ่านแล้วรู้สึกจับใจมากเขียนไว้ว่า "เมื่อข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความชัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความชัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ" และตรงส่วนนี้ก็ยังนำเสนอชีวิตช่วงปลายและการอสัญกรรมของนายปรีดีผ่านคำบอกเล่าของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้เป็นภรรยาอีกด้วย

มาถึงส่วนสุดท้ายในห้องอนุสรณสถานฯ แห่งนี้ ก็คือ "กอบกู้เกียรติยศแด่ คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ" ซึ่งจัดแสดงผลงานต่างๆ เพื่อกอบกู้เกียรติยศให้กับนายปรีดี ซึ่งผลงานเหล่านั้นก็มีทั้งที่เกิดขึ้นในช่วงนายปรีดียังมีชีวิตอยู่และหลังการอสัญกรรมไปแล้ว เช่น ผลงานการเขียนหนังสือ และปาฐกถาที่ได้ไปแสดงตามที่ต่างๆ เช่น ปาฐกถาของ นายปรีดี พนมยงค์ เรื่อง จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่ ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ บทความเรื่องชาติคงมีอยู่ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีมุมหนึ่งจัดเป็นโต๊ะทำงานของนายปรีดีอีกด้วย

ภาพจำลองโต๊ะทำงานของปรีดี พนมยงค์ในห้องอนุสรณสถาน

เมื่อเดินดูทั่วห้องอนุสรณสถานฯ แล้ว คราวนี้ก็ได้เวลาไปชม "หอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" บนชั้นสามที่อยู่ใต้หลังคาโดมพอดี ภายในหอประวัติศาสตร์ฯ นี้ เป็นการเล่าเรื่องราวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาจนปัจจุบัน โดยเริ่มจาก "พัฒนาการพื้นที่ท่าพระจันทร์ก่อนก่อตั้ง มธก." ที่แต่ก่อนนี้เป็นพื้นที่ของวังหน้ามาแต่เดิม

ก่อนจะมาถึง "ยุคสถาปนามหาวิทยาลัย" โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในขณะนั้น ได้มีการเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบของตลาดวิชาขึ้นเป็นแห่งแรก โดยมีการเก็บค่าเล่าเรียนในอัตราต่ำ จัดพิมพ์หนังสือคำสอนในราคาถูก ไม่บังคับให้ต้องมาฟังบรรยายทุกคาบ แต่ต้องมาสอบตามกำหนดเวลา ดังนั้นในปีแรกที่มีการเปิดสอนจึงมีคนมาสมัครเรียนถึง 7,094 คนเลยทีเดียว

แท่นพิมพ์แท่นแรกของมหาวิทยาลัยในหอประวัติศาสตร์ฯ

แต่หลังจากที่เปิดเป็นตลาดวิชาได้ไม่นานนัก ก็มาถึง "ยุคเปลี่ยนสภาพการศึกษาก่อนปิดตลาดวิชา" มหาวิทยาลัยก็เริ่มถูกฝ่ายการเมืองเข้าควบคุม โดยมีการแยกปริญญาตรีออกเป็น 4 คณะ จากเดิมที่เรียนรวมกันเป็นคณะเดียว นักศึกษาถูกลิดรอนสิทธิ การถูกเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย ฯลฯ ก่อนจะมาถึง "ยุคปิดตลาดวิชา" ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ไม่มีการเปิดการเรียนการสอนอย่างเสรี รวมไปถึงค่าเล่าเรียนที่แพงมากขึ้น เรียกได้ว่าผิดกับวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้ "การให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่"

และสำหรับคนที่สนใจเหตุการณ์ในช่วง 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ก็คงต้องใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ของ "ยุคการต่อสู้ทางอุดมการณ์และการฟื้นฟู" ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นตัวละครสำคัญในทางการเมือง มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในช่วงนั้นที่ทำให้เพื่อนและครอบครัวของใครหลายคนต้องสูญเสีย และถือเป็นความบอบช้ำครั้งใหญ่ของมหาวิทยาลัย ก่อนที่เหตุการณ์จะสงบลงและเข้าสู่ "ยุคขยายการศึกษา" มีการขยายตัวของมหาวิทยาลัยออกไปในรูปแบบของวิทยาเขตต่างๆ ทั้งรังสิต ลำปาง และมุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ

ชมพัฒนาการของเสื้อเชียร์กันได้ที่นี่

ก่อนจะมาจบที่ "ห้องเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" โดยจะให้ความสำคัญกับบุคคล 3 ท่านได้แก่ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งถือเป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัย

เนื้อหาในหอประวัติศาสตร์ฯนี้มีมากเกินกว่าจะนำมาเขียนไว้ได้หมดในที่นี้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือฉันอยากจะกั๊กไว้ให้ไปดูกันเองมากกว่า เอาเป็นว่า...ใครอยากเห็นภาพเก่าๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งภาพของอาคารสถานที่และภาพแฟชั่นนักศึกษาในยุคเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย ใครอยากเห็นเสื้อเชียร์งานบอลตั้งแต่ตัวแรกๆ มาจนถึงเสื้อเชียร์แบบปัจจุบัน ใครอยากเห็นแถบสีของเสื้อครุยของแต่ละคณะ ใครอยากเห็นเบื้องหลังของนาฬิกาบนยอดโดมว่าทำงานอย่างไร ใครที่อยากเห็นทั้งหมดที่ว่ามานั้น ก็ขอเรียนเชิญมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันได้โดยเร็ว



"หอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" และ "ห้องอนุสรณสถานปรีดี พนมยงค์" ตั้งอยู่ภายในตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถนนพระจันทร์ เขตพระนคร กทม. 10200 เปิดให้เข้าชมในวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 10.00-15.30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียด โทร 0-2613-3840


ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=64447


Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.