วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในอดีตและปัจจุบัน

โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยตั้งอยู่ปากคลองสาน ฝั่งตะวันตกของ แม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2432 ซึ่งแต่แรกเรียกว่า โรงพยาบาลคนเสียจริต

เมื่อมีการก่อตั้ง ศิริราชพยาบาล ขึ้นแล้ว ปรากฏว่าได้มีผู้ส่งผู้ป่วยทางจิต หรือที่สมัยนั้นเรียกว่า คนเสียจริต เข้ามารักษาที่ศิริราชพยาบาลกันอยู่เนืองๆ ทางศิริราชพยาบาลจึงเห็นว่าควรตั้งโรงพยาบาลอีกแห่งเพื่อรักษาผู้ป่วยทางจิตโดยเฉพาะ จึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลคนเสียจริตขึ้น โดยได้รับความสนับสนุนจาก นายแพทย์ปีเตอร์ กาแวน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และแพทย์คณะมิชชันนารีอีก 2 คน คือ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ และ นายแพทย์โธมัส เฮวาร์ด เฮส์

ตัวโรงพยาบาลเมื่อแรกตั้งนั้น ดัดแปลงจากบ้านเดิมของ พระยาภักดีภัทรากร (เจ้าสัวเกงซัว) เป็นบ้านพร้อมที่ดินชำระหนี้หลวง ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ห่างจากปากคลองสานประมาณ 120 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 4 - 5 ไร่ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามว่า โรงพยาบาลคนเสียจริต อยู่ในความดูแลของกรมพยาบาล มี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ทรงเป็นอธิบดี ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้โอนไปขึ้นกับกระทรวงธรรมการ

สภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาลเมื่อสมัยก่อน

เมื่อแรกตั้งโรงพยาบาลนั้นมีผู้ป่วยทางจิตเพียง 30 คน ส่วนแพทย์ไทยมาจากกรมพยาบาล ใช้ยาตำรับแพทย์แผนไทยในการรักษา ถ้าผู้ป่วยมีอาการมาก ใช้วิธีคุมขัง นัตถุ์ยา กรอกเลือด (ทำให้คนไข้เลือดออกแล้วอาการจะสงบ) หรือเวทย์มนต์ไสยศาสตร์ตามความเชื่อของแพทย์ในยุคนั้น ส่วนแพทย์ฝรั่งมาจากคณะมิชชันนารี จะแวะเวียนกันมาตรวจให้การรักษาและฟื้นฟูร่างกายกับจิตใจแบบแพทย์แผนตะวันตกใน การเยียวยารักษาจึงเป็นแบบไทยผสมตะวันตก

สภาพของโรงพยาบาลคนเสียจริตในยุคนั้นมีสภาพไม่ต่างจากสถานกักกัน ผู้ป่วยจะถูกนำมาขังไว้ ดำเนินการรักษาโดยยาแผนโบราณ ประเภทยาต้ม ยาหม้อ ยาระบาย เพื่อให้ผู้ป่วยง่วงซึมไม่ฟุ้งซ่าน ถ้าอาละวาดหนักก็อาจถูกทุบตีหรือให้อดอาหาร นับว่าเป็นสภาพน่าอเนจอนาถเกินกว่าจะเรียกว่าโรงพยาบาล

หลวงวิเชียรแพทยาคม
คนไทยคนแรกที่ได้เป็นผู้อำนวยการ
ปี พ.ศ.2448 โรงพยาบาลคนเสียจริตได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น โรงพยาบาลคนเสียจริตปากคลองสาน โอนมาขึ้นกับกองแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ซึ่งมี นายแพทย์เอช แคมป์เบลล์ ไฮเอ็ด เป็นหัวหน้า มีผู้นิยมส่งผู้ป่วยมารักษามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2453 มีผู้ป่วยมากถึง 1,858 คน แต่การดูแลรักษาผู้ป่วยบกพร่องมากจนนายแพทย์ไฮเอ็ดต้องรายงานไปยังรัฐบาล จึงได้มีการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ขึ้นอยู่ห่างจากที่เดิมประมาณ 600 เมตร เปิดรับผู้ป่วยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2455 มี นายแพทย์โมเดิร์น คาทิวส์ เป็นผู้วางแผนและออกแบบควบคุมการก่อสร้าง รวมทั้งวางรากฐานโรงพยาบาลคนเสียจริตเสียใหม่ให้มีลักษณะเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแบบตะวันตก ต่อมานายแพทย์คาทิวส์ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอายุรเวชวิจักษ์

พระยาอายุรเวชวิจักษ์ได้ไปเหมาซื้อสีแดงค้างสต๊อกราคาถูกมาทาหลังคาสังกะสีของอาคารทุกหลังในโรงพยาบาลเพื่อกันสนิม สีแดงเพลิงนี่เองที่เป็นจุดเด่นจนทำให้ผู้คนเรียกโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า หลังคาแดง มาจนกระทั่งทุกวันนี้

พ.ศ.2468 ศาสตราจารย์นายแพทย์หลวงวิเชียรแพทยาคม เป็นนายแพทย์ไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนเสียจริต ปากคลองสาน ต่อมาในปี พ.ศ.2475 ได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเป็น โรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี

ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลในปี พ.ศ.2485 และในปีเดียวกันนี้ได้โอนย้ายโรงพยาบาลมาอยู่ในสังกัดกรมการแพทย์ ถือเป็นยุควิวัฒนาการโรงพยาบาลฝ่ายจิตและการศึกษาจิตเวชศาสตร์ของไทย โดยนายแพทย์ฝนได้ก่อตั้งสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2496 และจัดตั้งสมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ.2510

นอกจากนั้นในปี พ.ศ.2488 นายแพทย์ฝนยังได้สร้างโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยทางจิตแห่งใหม่ขึ้นบนที่ดินย่านตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นที่ดินของ ศาสตราจารย์นายแพทย์หลวงวิเชียรแพทยาคม แล้วโอนผู้ป่วยชายเรื้อรัง จำนวน 150 คน จากโรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี ไปดำเนินการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ ซึ่งก็คือ โรงพยาบาลศรีธัญญา ในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.2497 โรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และเปลี่ยนชื่อตึกพักผู้ป่วยแต่ละตึกเป็นชื่อดอกไม้มาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์

ภายในโรงพยาบาลมี พิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านจิตเวชแห่งแรกของไทย ตัวอาคารเป็นอาคารแบบตะวันตก ได้รับการประกาศให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2528 ภายในอาคารจัดแสดงประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาล การรักษาด้านจิตเวช และอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ เปิดให้เข้าชมได้ในวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 15.00 น.



ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่อยู่ 112 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600
โทรศัพท์ - โรงพยาบาล 0-2437-0200-8
- พิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา 0-2437-0200 ต่อ 4114-5
รถประจำทาง สาย 6, 20, 43, 57, 105, 120
เรือโดยสาร - เรือข้ามฝาก : ท่าคลองสาน - สี่พระยา
- เรือด่วนเจ้าพระยา : ขึ้นที่ท่าเรือคลองสาน
ที่จอดรถ บริเวณภายในโรงพยาบาล
การถ่ายรูป ต้องขออนุญาตก่อนการถ่ายรูป
ข้อมูลอื่นๆ พิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เปิดวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 15.00 น.
สถานที่ใกล้เคียง คลองสาน, สี่พระยา, โรงพยาบาลตากสิน, วัดทองธรรมชาติ, วัดทองนพคุณ, วัดทองเพลง, วัดอนงคาราม, วัดพิชยญาติการาม, วัดสุวรรณาราม, อุทยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
แผนที่ คลิกดูแผนที่ตั้งของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=48312

Hotmail® goes with you. Get it on your BlackBerry or iPhone.