วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

บทวิเคราะห์: โรคระบาดกับการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ

บทวิเคราะห์: โรคระบาดกับการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ (1)

 

บทวิเคราะห์: โรคระบาดกับการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ (1)

โรคระบาดในสัตว์...สัญญาณเตือนจากธรรมชาติ?

เมื่อกล่าวถึงคำว่า "โรคระบาด" แทบจะถือได้ว่ากลายเป็นความกังวลและถือเป็นข่าวใหญ่ที่สำคัญของมนุษย์ทั้งโลก โดยเฉพาะในยุคที่มีการติดต่อสื่อสารอย่างรวดเร็ว ทำให้การเชื่อมต่อจากทวีปสู่ทวีปเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย รวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่เกิดขึ้นได้ง่ายด้วยเช่นกัน... ล่าสุดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ในประเทศเม็กซิโก ที่เริ่มมีการระบาดไปในบางส่วนของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงในทวีปเอเชียอย่างในประเทศเกาหลีใต้ และฮ่องกง
หากมองย้อนไปในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การระบาดของโรคที่มีการข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่คน และมีการระบาดข้ามประเทศในลักษณะเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโกนี้ 'ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก' แต่ก่อนหน้านี้มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก ในปี 2550 ในประเทศแถบเอเชียอย่างประเทศจีน เวียดนาม ฮ่องกง รวมถึงประเทศไทย ทำให้เกิดข้อสงสัยที่ว่า โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนนี้เหตุใดในระยะเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงมีการระบาดอย่างบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงขึ้น?? และจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไรในอนาคต??
สำนักข่าวแห่งชาติ จึงได้ทำการสอบถาม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกล่าวถึงโรค "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโก" ว่า ปกติไข้หวัดใหญ่ในหมู เป็นโรคที่มีมานานแล้วแต่ไม่ทำให้หมูหรือคนที่เลี้ยงหมูเสียชีวิต ขณะเดียวกันโอกาสการติดโรคจากหมูสู่คนก็เป็นไปได้น้อยมาก แต่การเกิดโรคดังกล่าวอาจมองได้ว่าเกิดจากการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ของเชื้อโรค ซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด จึงทำให้ความสามารถในการติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป อธิบายถึง สาเหตุการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ว่ามาจากหลายปัจจัย กล่าวคือ 1) ประชากรโลกมีจำนวนมากขึ้นและมีลักษณะการอยู่ร่วมเป็นสังคมใหญ่ เมื่อประชากรมากทำให้เกิดการลุกล้ำพื้นที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ส่งผลให้ระบบนิเวศน์มีการเปลี่ยนแปลง จนเกิดผลกระทบทั้งต่อสัตว์และคนในที่สุด 2) อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปที่การเลี้ยงสัตว์จำนวนมากเพื่อบริโภค ส่งผลให้โรงเลี้ยงมีความแออัดก่อให้เกิดโรคระบาดในสัตว์ได้ง่าย นอกจากนี้กระบวนการในการผลิตและการเพาะเลี้ยงที่ผิดธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมีเร่งสีเร่งโตหรือวิธีที่ผิดธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ทำให้สัตว์มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เชื้อโรคในสัตว์เปลี่ยนแปลงและกระทบถึงคนในที่สุด
นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวถึง สาเหตุที่มนุษย์มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคติดต่อได้ง่ายขึ้น ว่ามาจาก ประการแรก จากการที่วิวัฒนาการทางการแพทย์พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนมีอายุยืนยาว โอกาสรอดหายจากโรคภัยสูง ส่งผลให้ประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็มีสภาวะร่างกายที่อ่อนแอลง ทั้งจากมลพิษมลภาวะ และการกินอยู่อย่างไม่ถูกต้อง ไม่ออกกำลังกาย รวมถึงภาวะการมีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น จึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บและการติดต่อโรคจากคนสู่คนที่ง่ายขึ้น ประการที่สอง จากการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ของเชื้อโรค ซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด จึงทำให้ความสามารถในการติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกัน ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้เป็นประจำ และอาจจะมีการเกิดได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต หากมนุษย์ยังคงเปลี่ยนแปลงและรบกวนธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ในอนาคตมนุษย์จึงอาจต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้แม้โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโกจะถือเป็นโรคระบาดที่สร้างความหวั่นวิตกต่อประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน แต่ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไปมองว่า ความรุนแรงของโรคดังกล่าวหากเทียบกับไข้หวัดนกที่ระบาดในช่วงเวลาที่ผ่านมา โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโกถือได้ว่ามีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า กล่าวคือ โรคไข้หวัดนกในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยทั่วโลกไม่เกิน 500 แต่ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 60 ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโก พบผู้ป่วยมากแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่รายงานผู้เสียชีวิตยังถือได้ว่ามีจำนวนน้อยและสามารถรักษาหายได้อย่างรวดเร็วหากมาพบแพทย์อย่างทันท่วงที
นั่นหมายความว่า โรคที่มีความรุนแรงมากโอกาสเสียชีวิตสูงแต่ขณะเดียวกันโอกาสในการแพร่เชื้อสู่คนอื่นน้อย ขณะที่โรคที่มีความรุนแรงน้อยโอกาสเสียชีวิตต่ำแต่กลับแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง นพ.โอภาส กล่าวว่า เหตุที่โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโก มีลักษณะการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วดังกล่าว เนื่องจากการไม่สามารถสืบทราบได้ว่าผู้ป่วยรายแรกคือใคร และมีสาเหตุการเกิดโรคอย่างไร ทำให้การแก้ไขเป็นไปได้ลำบากยิ่งขึ้นนั่นเอง
หากพิจารณาถึงปัจจัยทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่า การเกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คนถือเป็นผลพวงจากการที่มนุษย์รุกรานธรรมชาติและความเป็นอยู่ของสัตว์ ทำให้เกิดผลกระทบสู่คนในที่สุด หากแต่ปัจจัยการเกิดโรคระบาดเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร รวมถึงมนุษย์ความต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือต่อโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตอย่างไร ติดตามได้ใน บทวิเคราะห์: โรคระบาดกับการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ (2) โรคระบาด..กับความพร้อมรับมือของมนุษย์?

พิมพิดา โยธาสมุทร เรียบเรียง

ชูชาติ เทศสีแดง บรรณาธิการ

 

 
บทวิเคราะห์: โรคระบาดกับการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ (2)


 

บทวิเคราะห์: โรคระบาดกับการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ (2)

โรคระบาด..กับความพร้อมรับมือของมนุษย์?

โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโก หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกในขณะนี้ ถือได้ว่าไม่ใช่โรคใหม่ที่เกิดจากการระบาดจากสัตว์สู่คน จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์จะพบว่า โรคระบาดส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นร้อยละ 70 เป็นโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์สู่คน หากแต่มักไม่มีความรุนแรงและเกิดได้ไม่บ่อยนัก แต่จากปัจจัยการวิวัฒนาการทางพันธุกรรมส่งผลให้ความสามารถในการติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนเป็นไปได้ง่ายขึ้น ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ใน บทวิเคราะห์: โรคระบาดกับการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ (1) ตอน: โรคระบาดในสัตว์...สัญญาณเตือนจากธรรมชาติ?
การระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ส่งผลกระทบต่อการติดต่อของโรคและเสียชีวิตเกิดขึ้น แม้การระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนจะไม่ใช่โรคใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่การระบาดของโรคที่มีความรุนแรงมากขึ้นเหล่านี้เกิดจากปัจจัยใด?? และโลกร้อนมีส่วนหรือไม่?? การเตรียมพร้อมในการรับมือของมนุษย์ในปัจจุบันควรต้องเตรียมการอย่างไร??
สำนักข่าวแห่งชาติ ได้ทำการสอบถาม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข ที่ได้เล่าถึงลักษณะการเกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คนอย่างกรณีโรค "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009" ว่า โรคดังกล่าวถือเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีหลายสายพันธุ์และพบได้ทั้งในคน ในลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงสัตว์ปีก ซึ่งเชื้อเหล่านี้มีสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกัน บางครั้งจึงเกิดการแลกเปลี่ยนผสมข้ามสายพันธุ์ เกิดเป็นเชื้อตัวใหม่และเกิดการระบาดสู่คนได้
ทั้งนี้ นพ.โอภาส เล่าถึงกลไกการเกิดโรคว่ามาจาก 3 ปัจจัย คือ คน เชื้อโรค และสิ่งแวดล้อม ปัจจัยจากคน เช่น โรคติดต่อทางเดินหายใจ สามารถติดต่อทางการไอ จาม น้ำมูก เสมหะ น้ำลาย การสัมผัส ใช้สิ่งของร่วมกัน ด้านสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อย่างแออัด ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การแพร่กระจายของโรคเป็นไปได้ง่าย รวมถึงปัจจุบันที่การสื่อสารคมนาคมสะดวก ทำให้การแพร่กระจายของโรครวดเร็วขึ้น เชื้อโรค เมื่ออากาศร้อนขึ้นส่งผลให้สิ่งมีชีวิตบางประเภทเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างยุง แมลงหรือแม้แต่เชื้อโรคอย่างแบคทีเรีย จึงสามารถนำเชื้อโรคมาสู่คนได้ง่ายขึ้น "แม้ทางวิทยาศาสตร์อาจยังไม่สามารถสรุปคำตอบถึงภาวะโลกร้อนกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตหรือการเกิดโรคต่างๆ ได้อย่างชัดเจน แต่หากพิจารณาถึงความเป็นอยู่ของคนกับการเกิดโรคอาจกล่าวได้ว่ามีผลเกี่ยวเนื่องกันอย่างเลี่ยงไม่ได้" นพ.โอภาส กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ในอนาคตวิถีชีวิตคนอาจจะเปลี่ยนไป คือคนจะมีอายุยืนยาวขึ้น จากวิวัฒนาการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดี หากแต่ร่างกายไม่แข็งแรงก็จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้มากขึ้น สำหรับเชื้อโรคเองก็มีวิวัฒนาการในการปรับตัวต้านยารักษาโรคต่างๆ ทำให้เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคบางอย่างโตเร็วขึ้น อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น "อย่างเช่น อหิวาตกโรค ชอบน้ำเค็ม พอโลกร้อนขึ้น น้ำทะเลสูงขึ้น มันก็มาใกล้คนมากขึ้น ทำให้ในหลายประเทศมีการระบาดในลักษณะนี้เยอะขึ้น ก็คือโลกร้อนมีส่วน แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวทีทำให้เกิดโรค" นพ.โอภาส กล่าว ดังนั้น โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน จึงอาจมีการเกิดได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต หากมนุษย์ยังคงเปลี่ยนแปลงและรบกวนธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และไม่ปรับเปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่ จึงอาจทำให้มนุษย์ต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้
วิธีที่เตรียมพร้อมรับมือ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แบบพื้นฐานเบื้องต้นว่า ควรดูแลร่างกายตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สุกสะอาด งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ล้างมือบ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ไม่คลุกคลี่กันคนที่เป็นโรค ส่วนผู้ป่วยโดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินหายใจควรสวมหน้ากากอนามัย และใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกเวลาไอ จาม ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ได้
ความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือโรคอุบัติใหม่ นพ.โอภาส ยอมรับว่า สำหรับประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงในการติดต่อโรค "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009" เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการคมนาคม ดังนั้นไทยจึงมีการเตรียมความพร้อมทั้งการให้ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิเทอร์โมสแกนเนอร์บริเวณท่าอากาศยานนานาชาติโดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในจุดที่มีผู้โดยสารขาเข้า โดยเฉพาะจากพื้นที่ที่มีการระบาดคือเม็กซิโก และบางส่วนของสหรัฐอเมริกา ถ้าพบผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยจะมีการตรวจตัวอย่างจากช่องโพรงจมูกถ้าติดเชื้อก็จะให้การรักษา และมีการสอบถามว่าไปสัมผัสกับใครหรือไม่ เพื่อควบคุมเชื้อต่อไป นอกจากนี้มีการแจกเอกสารคำเตือนด้านสาธารณสุขหรือ Health Card แก่ผู้ที่จะเดินทางเข้าและออกนอกประเทศ โดยในส่วนของคนไทยได้เตือนให้งดการเดินทางไปประเทศเม็กซิโกและบางรัฐของสหรัฐอเมริกาที่มีการระบาดของโรคในขณะนี้ ส่วนผู้ที่เดินทางไปประเทศอื่น แล้วมีอาการเสี่ยงหรือต้องสงสัยควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อให้คำแนะนำในการรักษาต่อไป
ส่วนยาโอเซลทามิเวียร์ GPO-A-FLU ที่ใช้ในการรักษา ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป ยืนยันว่ามีการสำรองยาอย่างเพียงพอ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นยาที่เตรียมพร้อมในส่วนของการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนก ซึ่งไทยไม่พบผู้ป่วยมานานกว่า 2 ปีแล้ว เนื่องจากมีระบบการเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในขณะนี้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ได้ จึงทำให้ปริมาณของยาที่กระจายไปตามสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศมีเพียงพอ นอกจากนี้มีการเปิดสายด่วนเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในเม็กซิโก ตลอด 24 ชั่วโมง ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3333 อัตโนมัติ 10 คู่สาย เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกของประชาชน
แม้โรค "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009" ที่มีการระบาดจะสร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลก แต่หากมนุษย์มีความเข้าใจถึงการเกิดโรคที่เกิดจากการทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ จนส่งผลให้สัตว์และคนอ่อนแอลง และหันกลับมาช่วยกันฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และสนับสนุนการอยู่อย่างวิถีธรรมชาติ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่คนและสัตว์แล้ว เชื่อได้ว่า การป้องกันการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ก็อาจเป็นไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

พิมพิดา โยธาสมุทร เรียบเรียง

ชูชาติ เทศสีแดง บรรณาธิการ

 

http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255205060127&tb=N255205&news_headline

(2)

 



Insert movie times and more without leaving Hotmail®. See how.