วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

White Rabbit ไอศกรีมชั่งน้ำหนัก

วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4097

White Rabbit ไอศกรีมชั่งน้ำหนัก



เป็นธุรกิจใหม่ที่เปิดได้ไม่นาน

ที่เหมือนจะเป็นธุรกิจแฟชั่นที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับกระแสสุขภาพ แอบอิงไปกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ตระหนักในเรื่องของการดูแลใส่ใจสุขภาพ แต่มีความต่างในเรื่องของวิธีคิดและทำในสิ่งแตกต่าง...สำหรับ "White Rabbit" ไอศกรีมโยเกิร์ตที่ขายตามน้ำหนัก

"White Rabbit" เป็นชื่อของร้านไอศกรีมโยเกิร์ตที่เปิดให้บริการมาได้ประมาณ 3-4 เดือน รูปแบบเป็นคอนเนอร์และมีที่นั่งรับประมาณไม่มาก โดยเปิดให้บริการสาขาแรกที่ชั้น 3 ห้างเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ

ความแตกต่างที่แตกต่างจากไอศกรีมทั่วไปที่เจ้าของเล่าสู่กันฟังก็คือ นอกเหนือจากการเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพ ที่เลือกสรรคัดกรองอย่างดี ที่ไม่มีไขมันและน้ำตาล ที่คนเป็นเบาหวานก็สามารถรับประทานได้ มีการใช้โยเกิร์ตสด ขณะที่เจ้าอื่นๆ ใช้โยเกิร์ตผง มีการเลือกใช้เครื่องทำไอศกรีมจากฟากฝั่งยุโรปที่มีราคาค่อนข้างสูงแต่ทว่าได้คุณภาพของเนื้อไอศกรีมที่หนาแน่นกว่า มีท็อปปิ้งให้เลือกกว่า 40 หน้า แล้วก็คือการกำหนดราคาขายโดยใช้วิธีชั่ง

ดร.ภูมิ สาเกทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิชญภูมิ จำกัด กล่าวว่า ร้านอื่นๆ เขาจะกำหนดราคาเป็นถ้วย ถ้วยละ 39 บาทบ้าง 59 บาทบ้าง แต่ที่ White Rabbit เราขายเป็นกรัม กรัมละ 39 สตางค์

ที่มาของการกำหนดราคาแบบนี้ส่วนหนึ่งมาจากต้องการสร้างความแตกต่างเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เหมือนเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการเรียกร้องความสนใจจากผู้บริโภค อีกส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค การศึกษาโอกาสทางการตลาด ซึ่งก็พบการขายตามน้ำหนักน่าจะเหมาะ และเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

กล่าวคือเราจะไม่บังคับขาย ใครอยากรับประทานเท่าใดในปริมาณที่เหมาะกับตัวเองก็ทานในปริมาณเท่านั้น จะได้ไม่เหลือ ยกตัวอย่างเด็กเล็กๆ ซึ่งถ้าเป็นแบรนด์อื่นๆ ก็อาจจะซื้อถ้วยเล็ก 39 บาท ซึ่งบางครั้งเด็กก็ทานไม่หมด แต่ถ้ามาซื้อที่นี่เด็กจะเลือกทานได้ตามปริมาณที่ต้องการโดยไม่ต้องจ่ายถึง 39 บาท และที่สำคัญเด็กทานได้หมด เป็นต้น

หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ที่บางครั้งอยากทานมาก บางครั้งอยากทานน้อย ก็เลือกได้ตามใจชอบ

"ก่อนที่จะกำหนดราคาแบบนี้ ผมได้มีการศึกษาตลาด ตระเวนดูคู่แข่ง นำราคาและปริมาณของคู่แข่งมาวิเคราะห์ต้นทุนโดยละเอียดแล้ว ซึ่งพบว่าการขายเป็นกรัม ขายตามน้ำหนัก ตามราคาที่เรากำหนด เป็นราคาที่สมเหตุสมผล win-win ทั้งผู้บริโภคและตัวเราเอง"

ดร.ภูมิเล่าอีกว่า การเปิดร้านไอศกรีมโยเกิร์ตสำหรับเมืองไทย เราไม่ใช่เจ้าแรก ฉะนั้นในการทำตลาดจึงต้องพยายามสร้างความแตกต่าง สร้างชื่อ มีจุดขายที่ผู้บริโภคสามารถรู้จักและรับรู้ได้ง่าย เพราะฉะนั้นกลยุทธ์การทำตลาดเวลานี้ จึงใช้หลากหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่จะเลือกสร้างการรับรู้ทางตรงกับลูกค้าที่มาเดินห้างอยู่แล้ว อาทิ การแจกคูปอง การสะสมแต้ม การแจกใบปลิว ให้มาชิมแบบลดแลกแจกแถม เป็นต้น

"หลักจากเปิดมาได้ 3-4 เดือน ผลตอบรับก็ค่อนข้างดี เนื่องจากด้วยคุณภาพ รสชาติที่ได้มาตรฐาน ที่สามารถรับประทานกันได้ทั้งครอบครัว แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยังคงต้องติดตาม ศึกษาในรายละเอียดเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อมาปรับปรุงพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ"

ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเปิดร้าน White Rabbit ที่ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งของเงินทุนได้มาจาการขอกู้จากเอสเอ็มอีแบงก์นั้น

ดร.ภูมิทำธุรกิจเปิดร้านอาหารไทยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันยังเปิดให้บริการอยู่ซึ่งมีอยู่ 2 สาขา ทำให้มีประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการธุรกิจอาหารพอสมควร และมองว่าธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่มีอนาคต เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว จึงได้ใช้ประสบการณ์ที่มีนำมาปรับใช้กับร้านไอศกรีมโยเกิร์ตซึ่งจัดอยู่ ในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพที่เป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศให้การยอมรับและนิยมบริโภคค่อนข้างสูง


หน้า 44
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02biz02160452&day=2009-04-16&sectionid=0214