ปลูกมันสำปะหลังแบบอนุรักษ์ดิน-น้ำ
ผลผลิตเพิ่มจาก 2.7 ตันเป็น 4.6 ตัน/ไร่ นายบัณฑิต ตันศิริ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมพัฒนาที่ดินได้ร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ทดลองปลูกมันสำปะหลังโดยใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ในแปลงขนาดใหญ่ 1,000 ไร่ โดยในปีที่ผ่านมาได้ทำโครงการนำร่องที่ อ.ห้วยบง จ.นครราชสีมา ปรากฏว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 2.7 ตัน/ไร่ เป็น 4.6 ตัน/ไร่ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นข้อแตกต่างและให้ความสนใจปรับเปลี่ยนระบบการผลิตมาใช้รูปแบบของกรมพัฒนาที่ดินแนะนำส่งเสริมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปีนี้กรมฯ ตั้งเป้าขยายผลโครงการไปที่ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้ได้เฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 4.5 ตัน/ไร่ เป็นอย่างน้อย ซึ่งจะเพียงพอต่อการนำไปผลิตเป็นเอทานอลในอนาคต ปัญหาของการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลัก ๆ คือ ปัญหาดินเป็นทรายจัด บางบริเวณเป็นชั้นดินดาน ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับเกษตรกรใช้สารเคมีมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสะสมในดิน ส่งผลให้ผลผลิตตกต่ำและยังทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น กรมฯ ได้เข้าไปสาธิตการทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำโดยใช้หญ้าแฝกที่มีรากยาวและแข็งแรงเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายและไปเจาะชั้นดินดาน พร้อมกับส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อสับกลบปรับปรุงบำรุงดินใช้แทนปุ๋ยยูเรียทำให้ดินสามารถอุ้มน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ได้สอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วย พด. 12 ช่วยย่อยสลายธาตุอาหารที่ถูกตรึงไว้ในดินให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ เมื่อดินดีเหมาะสมต่อการเพาะปลูกผลผลิตพืชก็จะเพิ่มขึ้น. |
Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.