วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

ระบอบม็อบ"Mobocracy"

วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11358 มติชนรายวัน


ระบอบม็อบ"Mobocracy"




การชุมนุมทางการเมืองช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นเครื่องมือที่มีอานุภาพชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลได้ อย่างไรก็ดี การชุมนุมดังกล่าวไม่ว่าของกลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่มเสื้อแดง หรือแม้แต่กลุ่มเสื้อน้ำเงิน พบว่าล้วนกระทำการด้วยความ "ไม่สงบ" และ "ไม่ปราศจากอาวุธ" ด้วยกันทั้งสิ้น

"พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อธิบายความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เป็นการก่อม็อบ (Mob) มากกว่าการชุมนุม (Assembly) เพราะการชุมนุมคือ การรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่มีเจตจำนงเดียวกันเพื่อเรียกร้องใดๆ ซึ่งกระทำโดยสงบ (Peaceful) และปราศจากอาวุธ (Without Arms) เป็นการใช้เสรีภาพที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ขณะที่ "ม็อบ" เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลเพื่อเรียกร้องใดๆ โดยมิได้มีการคำนึงถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย

และที่ผ่านมา เมื่อม็อบชี้เป็นชี้ตายต่อการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของรัฐบาลได้ จึงเป็นที่นิยมชมชอบจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง (Interest Groups) สะท้อนผ่านม็อบหลากสี ซึ่งอาจทำให้นำไปสู่การปกครองโดยระบอบม็อบ หรือ "Ochlocracy" หรือ "Mobocracy" มีความหมายว่าการปกครองโดยกลุ่มฝูงชนที่มิได้ให้ความเคารพต่อตัวบทกฎหมาย อันส่งผลให้เกิดจลาจลและความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง...??

เมื่อประเทศใดๆ เข้าสู่ระบอบดังกล่าว หลัก "นิติรัฐ" หรือ "นิติธรรม" จะถูกปฏิเสธและต่อต้านจากกลุ่มฝูงชน อันส่งผลให้ภาครัฐมิสามารถที่จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายได้ มีเพียงหลักการของกลุ่มม็อบเท่านั้นที่เป็นใหญ่ (the Mob Rule is superior to the Rule of Law)

สาเหตุสำคัญที่นำพาให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะนี้ เนื่องจากมีการสนับสนุนการกระทำการของม็อบเสื้อเหลืองโดยมีการบิดเบือนหลักกฎหมายไป จนเกินภาวะ "ปัจเจกนิยมแบบสุดโต่ง" (Extreme Individualism) ขึ้น หมายความว่า กลุ่มฝูงชนเชื่อว่าตนเองในฐานะของประชา ชนมี "เสรีภาพเต็มที่ในการชุมนุม ทั้งที่ในข้อเท็จจริงเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย" ทางภาครัฐไม่สามารถที่จะเข้ามาขัดขวาง หรือดำเนินการจัดการกับพวกเขาได้ เนื่องจากคิดว่ากฎหมายซึ่ง ณ ที่นี้ก็คือรัฐธรรมนูญนั้นรับรองและคุ้มครองให้

เหตุการณ์ยิ่งย่ำแย่เข้าไปอีกเมื่อฝ่ายรัฐสั่งตำรวจสลายกลุ่มม็อบในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เมื่อการก่อม็อบ ซึ่งมิใช่การใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่าได้รับการรับรอง จึงกลายเป็นตัวอย่างของการเรียกร้องในทางการเมืองขึ้นแบบผิดๆ ต่อกลุ่มม็อบอื่นๆ ในเวลาต่อมา ซึ่งหากไม่เร่งแก้สภาวะการปกครองโดยระบอบม็อบให้หมดไปแล้วประเทศไทยคงหนีไม่พ้นที่จะเป็น "รัฐล้มเหลว" (Failed State) เพราะปรากฏการณ์ทั้งหมดจะไปบ่อนทำลายหลักสำคัญอย่างหลักนิติรัฐและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันถือได้ว่าเป็น "เสาหลัก" ของประเทศเสรีประชาธิปไตย

"วันนี้ต้องเลิกอ้างเสรีภาพการชุมนุมอย่างผิดๆ เพราะเมื่อไปสนับสนุนอะไรผิดๆ มันก็สร้างเป็นประเพณีและกลายมาเป็นบรรทัดฐานที่ผิดๆ และต้องทำให้แดนการใช้อำนาจของฝ่ายรัฐ และแดนแห่งสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชน ไม่เหลื่อมล้ำกันแบบสุดโต่ง ต้องให้เกิดดุลยภาพ (Balance) เพราะ 1-2 ปีที่ผ่านมา บ้านเราให้ความสำคัญในปัจเจกชนนิยมมากเกินไป ทำให้รัฐแทบทำอะไรไม่ได้ รวมถึงอำนาจรัฐในการบังคับใช้กฎหมายด้วย" อ.พรสันต์ย้ำ

นอกจากนี้ต้องเร่ง "ปฏิรูปการชุมนุม" ด้วยการตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ (Peaceful Assembly Act) ขึ้นมา เพื่ออธิบายว่าการชุมนุมแบบใดถือได้ว่าเป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 บ้าง

หน้า 11

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pol03150452&sectionid=0133&day=2009-04-15