วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4097 สินเอเซียกับโจทย์แบงก์ไร้สาขา "Banking in The Sky"
ธนาคารสินเอเซียหรือที่มักเรียกว่า ACL แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่อไหนก็เป็นที่รู้จัก โดย "ธงชัย อานันโทไทย" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารสินเอเซีย จำกัด กล่าวว่า จากผลการทำวิจัยเกี่ยวกับชื่อ ว่าควรจะใช้ชื่อใดชื่อหนึ่ง แต่ผลวิจัยระบุว่า ทั้งชื่อ "สินเอเซีย" และ "ACL" ต่างเป็นแบรนด์ที่ดูจะติดปากไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน จึงใช้ชื่อไหนก็ได้ สินเอเซียเป็นธนาคารขนาดเล็กที่เจาะกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ วันนี้แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่นายธงชัยบอกว่า ไม่กังวล ยังคงเดินหน้าหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและไม่ได้ปรับเป้าในการทำธุรกิจใหม่ เนื่องจากการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่ต่างจากที่หลายสถาบันประกาศไว้ "เราคาดว่าไตรมาส 2 ไม่ดีอยู่แล้ว และการเติบโตทางธุรกิจเราไม่ได้เน้นการโตก้าวกระโดด อย่างในแง่การขยายสินเชื่อ เรามุ่งเป็นกลุ่มธุรกิจเฉพาะ อาทิ ธุรกรรมการเกษตร ธุรกิจท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน ส่วนจะปรับอีกหรือไม่อย่างไร ต้องรอดูสัญญาณเศรษฐกิจอีกทีในไตรมาส 3 ปีนี้" พร้อมกับย้ำว่า การเติบโตของสินเอเซียที่ผ่านมาฟันฝ่ามาด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงยืนยันได้ว่า ลูกค้าที่เราหามาได้ด้วยความยากลำบากจริงๆ
ด้วยความเป็นแบงก์น้องใหม่จำเป็นต้องสร้างจุดขายที่แตกต่าง ซึ่งทุกแบงก์ต่างแข่งกันตอบโจทย์ให้โดนใจลูกค้ามากที่สุด สินเอเซียเลือกที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อสร้างความต่างในการบริการให้เกิดขึ้นและลูกค้าสามารถสัมผัสได้ นั่นเป็นเรื่องที่แบงก์ต้องคิดว่าจะนำมาใช้อย่างไรให้เหมาะสมกับขนาดและธุรกรรมทางธุรกิจ
นายธงชัยกล่าวว่า "การนำเทคโนโลยีมาใช้ต้องคิดว่าประโยชน์สูงสุดคือลูกค้าจะได้อะไร และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนลูกค้าเกิดความรู้สึกถึงความแตกต่างได้" ก่อนหน้านี้ทางสินเอเซียได้นำซอฟต์แวร์ Unifed Communication (UC) ของไมโครซอฟท์มาใช้ภายในองค์กร ขณะนี้เตรียมที่จะพัฒนาเป็นเฟสที่ 2 เพื่อให้บริการทางการเงินที่ลูกค้าไม่ต้องมาที่สาขา ตอนนี้กำลังศึกษาในรายละเอียดอยู่ว่าจะเริ่มให้บริการอะไรได้บ้าง "เอซีแอลไม่ใช่องค์กรใหญ่ เรามีเป้าหมายในการใช้เพื่อลูกค้า ธุรกรรมของแบงก์เองจะทำอยู่ 2 ส่วน คือ 1.ระบบการรับเงินและจ่ายเงิน ซึ่งจะง่าย ไม่ยุ่งยาก 2.เอกสารที่ต้องทำนิติกรรม เช่น การปล่อยกู้ลูกค้าต้องมาทำที่สาขา ถ้าอนาคตการทำธุรกรรมเหล่านี้เปลี่ยนไป มีเทคโนโลยี เข้ามาช่วยทำให้เราเห็นหน้าตา เสียงผ่านระบบไอทีที่มีระบบความปลอดภัยพอสมควร เหมือนทำธุกรรมที่สาขา หากเราพัฒนาสำเร็จ การเปิดสาขาก็จะเปิดน้อยลง การเปิดสาขาจะเปิดเพื่อหาลูกค้ามากกว่าการให้บริการลูกค้า หัวใจของเราคือไม่พยายามไปเปิดสาขาเพื่อรองรับเขา แต่จะยกสาขาไปที่สำนักงานของเขาผ่านระบบ ไอทีมีอยู่ และการที่เราเป็นแบงก์เล็กสามารถทำให้เป็น "banking in the sky" ได้ ทั้งนี้เป็นการปรับกระบวนการทำงานของระบบแบงกิ้ง ลูกค้าอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องมาที่สาขาอีกแล้ว" นายธงชัยกล่าวว่า ตอนนี้เราต้องรู้จักเครื่องมือนี้ (UC) ให้ดีก่อน ส่วนจะนำไปใช้ในธุรกรรมไหน ตัวที่เรานึกถึงที่ทดแทนได้คือการทำ fax banking ทีมงานกำลังศึกษาอยู่ หัวใจคือการทำรายการโดยไม่ต้องมาสาขา
"เทคโนโลยีพัฒนาตลอด ต้องมองว่าจะไปทิศทางไหน เป็นเรื่องอีแบงกิ้งที่โลกปัจจุบันกำลังเดินไป คอนเซ็ปต์คือสามารถดีไซน์ให้เข้ากับลูกค้าทุกประเภท เพราะ อินเทอร์เน็ตเวิรลด์มันบายพาสคนกลาง เราต้องอยู่กับมัน ต้องสัมผัสกับมันตลอด ในระยะแรกที่จะนำมาใช้คือทดแทนอินเทอร์เน็ต แบงกิ้งที่มีอยู่ การใช้แฟกซ์แบงกิ้ง เสมือนว่า การทำการค้าไม่ต้องมาที่สาขา มีองค์ประกอบที่ทำรายการนิติกรรมครบถ้วน ว่าลูกค้าทำรายการครบถ้วน และลูกค้าที่จะใช้บริการนี้ต้องเป็นลูกค้าที่มีธุรกรรมเยอะและเป็นลูกค้าที่รู้จักกันดีพอสมควร" นั่นคือเป้าหมายของสินเอเซีย"banking in the sky"
หน้า 16 http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02fin03160452&day=2009-04-16§ionid=0206 | |