วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

สงบงามตามวิถี ปกาเกอะญอ


 

 


 
ในป่าลึกและหุบเขาสูงชันของเทือก เขาถนนธงชัยกลางอันสูงใหญ่ในเขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีชาว ลัวะ และปกาเกอะญอ ตั้งหมู่บ้านกระจายอยู่หลายแห่งมานานแสนนานนับร้อย ๆ ปี หากเดินทางด้วยถนนขึ้นลงเขาจากตัวอำเภอแม่แจ่มไปทาง ทิศตะวันตกราว 50 กิโลเมตร แล้ววกลงใต้อีก 6 กิโลเมตร (56 กิโลเมตรนี้เป็นถนนลูกรังเกือบตลอดเส้นทาง) และตามด้วยการเดินเท้าเข้าป่าขึ้นลงดอยอันสูงชันอีกประมาณ 6 กิโลเมตร เราจะไปพบกับหมู่บ้านเล็ก ๆ อันสงบงามแห่งหนึ่ง ของชาวปกาเกอะญอ คือหมู่บ้านแม่ป๊อก ในเขตตำบลบ้านทับ โดยมีม่อนมูลอโจ๊ะเป็นสัญลักษณ์ว่าใกล้ถึงหมู่บ้านแล้ว หมู่บ้านนี้ยังไม่มีถนนและไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมตามรอยบรรพบุรุษได้อย่างเคร่งครัดจนถึงทุกวันนี้

หมู่บ้านแห่งนี้มี 30 กว่าหลังคาเรือน เลี้ยงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียน หาของป่า และจับปลา พืชพันธุ์ต่าง ๆ ปลูกไว้แค่พอกิน โดยจะใช้หมุนเวียนภายในเวลา 5 ปี ทำไร่ปีละแปลงเวียนไปเรื่อย ๆ จนครบ 5 แปลงแล้วกลับมายังแปลงเดิม ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ก็ได้กลับคืนมาแล้ว การจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชาวปกาเกอะญอที่บ้านแม่ป๊อกและที่อื่น ๆ เป็นวิธีเดียวกับของชาวลัวะในหลาย ๆ ท้องที่ คือมีการแบ่งเป็นเขตป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย พื้นที่ไร่หมุนเวียน ป่าช้า (เป็นเขตฝังศพของชาวลัวะ) ป่าสะดือ (เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ของปกาเกอะญอ เวลาคลอดบุตรจะนำรกเด็กไปฝังในป่าสะดือซึ่งมีผีคุ้มครอง) ตลอดจนมีการสร้างแนวกันไฟ เป็นต้น

ชาวบ้านแม่ป๊อกไม่ต้องพึ่งพาอาหารจากในเมือง เพราะในไร่ ในนา ในป่า มีให้พร้อมบริบูรณ์อยู่แล้ว อีกทั้งปลาหลากชนิดจากลำห้วยหลายสายใกล้หมู่บ้าน ริมลำห้วยยังมีพืชผักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอีกมากมาย หากเจ็บป่วยจะใช้สมุนไพร คาถาอาคมรักษาตามความเชื่อความศรัทธา ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ทำขึ้นเอง ผู้หญิงและเด็กยังคงแต่งกายชุดประจำเผ่า ทุกคนสื่อสารกันในหมู่เหล่าด้วยภาษาปกาเกอะญอ

จากวิถีชีวิตอันเรียบง่ายสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ เรือนและการอยู่อาศัย โดยมีพิธีกรรมและความเชื่ออันบ่งบอกถึงความเคารพต่อผีบรรพบุรุษและต่อธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และความสามัคคีในกลุ่มชน

หมู่บ้านแม่ป๊อกซ่อนตัวอย่างสงบสุขในหุบเขาสูงใหญ่ อากาศหนาวจัดในฤดูหนาว แต่ชุ่มชื้นเพราะอยู่ท่ามกลางป่าทึบ น้ำกินน้ำใช้มาจากภูเขา ตัวเรือนตั้งกระจายอยู่ตามลาดเขาที่ค่อนข้างสูงชัน ทั่วหมู่บ้านเต็มไปด้วย หมู ไก่ และแพะ ซึ่งเลี้ยงไว้เพื่อใช้ในพิธีกรรมเลี้ยงผีเท่านั้น เรือนเกือบทุกหลังยังคงเป็นเรือนเครื่องผูกแบบดั้งเดิม ขนาดกะทัดรัดเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยและจำนวนสมาชิกในครอบครัว ซึ่งใช้พื้นที่แต่ละส่วนอย่างคุ้มค่า ระบบโครงสร้างเป็นแบบเข้าไม้ เข้าเดือย และมัดด้วยตอก ตัวเรือนยกพื้นสูงราว 1.50-2.00 เมตร ขึ้นอยู่กับระดับพื้นดิน หลังคามุงด้วยตับหญ้าคา ซึ่งต้องเปลี่ยนและซ่อมแซมทุกปี ชายคายาวคลุมลงมาต่ำมากจนแทบมองไม่เห็นฝาเรือน มุมทั้งสี่ของชายคาโค้งมน ซึ่งสร้างความนุ่มนวลอ่อนช้อยให้แก่ตัวเรือนได้เป็นอย่างดี ฝาและพื้นเรือนเป็นฟาก บนเรือนมีส่วนที่เป็นห้องนอน 1 ห้อง สมาชิกทุกคนนอนรวมกัน โดยปูเสื่อข้าง ๆ แม่เตาไฟที่ตั้งอยู่กลางห้อง อันมีไว้เพื่อประกอบอาหาร และให้ความอบอุ่น

ชานเรือนมีหลังคาคลุมเป็นพื้นที่อเนก ประสงค์ มีบันไดไม้ไผ่อยู่ที่ด้านข้างของเรือนเพื่อขึ้นสู่ชาน ระหว่างชานกับห้องนอนกั้นด้วยฝาฟาก มีประตูเปิดเข้าสู่ห้องนอน บนพื้นดินใต้ชายคาด้านข้างของเรือนด้านเดียวกับบันได เป็นที่วางครกกระเดื่องโดยชายคาด้านนี้จะคลุมลงมาต่ำกว่าด้านอื่น ๆ ใต้ถุนเรือนมีเล้าไก่ เล้าหมู และฟืน จำนวนมาก ซึ่งฟืนเหล่านี้ยังมีเป็นกอง ๆ ตากอยู่ใกล้ตัวเรือนอีกมากมาย

บริเวณชานเรือนที่มีหลังคาคลุม นอกจากจะเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ของครอบครัวแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำคัญต่อแขกผู้มาเยือนได้นั่งพักและกินข้าว ซึ่งชาวปกาเกอะญอไม่ว่าที่นี่หรือที่ใดก็ตามต่างมีความเชื่อ และให้ความสำคัญต่อการเชิญแขกขึ้นมากินข้าวบนชานเรือนอย่างเคร่งครัด อันแสดงให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของชนเผ่านี้ได้เป็นอย่างดี

ชาวปกาเกอะญอมีความเป็นอยู่ที่สันโดษ ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มีแนวคิดพอมีพอกินหรือ "เอาเมาะ พิ๊แบล๊ะ กาเมาะพิ้อะเลอ" ซึ่งแปลว่า "กินให้พออิ่ม นุ่งให้พออุ่น"

ขอนำคำพูดของพะตีมุเสาะ เสนาะพรไพร หนึ่งในผู้นำชาวปกาเกอะญอผู้ปราดเปรื่องจากบ้านแม่ขะปู ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง มาเล่าสู่กันฟัง แม้ว่าจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวของความเป็นปกา เกอะญอก็ตาม แต่ก็ทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจปกาเกอะญอในฐานะเพื่อนร่วมแผ่นดินได้มากขึ้น

"...คนเราเกิดมาตัวเปล่าก็ไปตัวเปล่า ชีวิตความเป็นอยู่ของปกาเกอะญอก็เป็นแบบนี้ มีเพียงที่อยู่ที่กิน พออยู่พอกิน ก็อยู่รอดได้ตลอดชีวิต ไม่เคยเรียนหนังสือ ทำไร่ทำนา เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว คนปกาเกอะญอไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็คล้ายกันหมดคือ ผูกพันกับป่า ทุกคนมีความสุขที่ได้อยู่กับป่า ได้กินจากน้ำต้องรักษาน้ำ ได้กินจากป่าก็ต้องรักษาป่า จะทุกข์จะยากขนาดไหนก็ไม่เดือดร้อน ทุกคนอยู่ด้วยความรักกันเหมือนพี่เหมือนน้อง ไม่เคยคิดว่าใครยากจนกว่าใคร ทุกคนเสมอภาคกันหมด หากมีทุกข์ก็ทุกข์ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คนที่มีก็ต้องช่วยเหลือคนที่ขาด เราอยากอยู่กับป่าเพราะที่อื่นไม่ใช่ที่อยู่ของเรา อยู่กับป่าแล้วชื่นใจสบายใจ เรารักษาป่าไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่เพื่อประโยชน์ของคนทั้งโลก เราดำรงชีวิตโดยการปลูกพืชในไร่หมุนเวียนแค่พอกินเท่านั้น ทุกสิ่งทุก อย่างอยู่ในไร่ แม้กระทั่งข้าว ไร่มีผีคุ้มครอง ไร่ปลูกพืชพันธุ์ได้ทุกอย่าง การทำนาอาจทำให้ป่าหมดไปได้ แต่มีไร่ป่าไม่มีวันหมด (เพราะเป็นระบบไร่หมุนเวียน : ผู้เขียน) แม้แต่หมูป่า เก้ง กวาง ก็สามารถมากินอาหารในไร่ของเราได้ ยิ่งถ้าไร่อยู่ใกล้ป่าก็อาจมีช้างออกมาหากินในไร่ของเราได้เช่นกัน เรากับสัตว์อยู่ร่วมกันได้โดยไม่รู้สึกเดือดร้อนเลย..."

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตอันเรียบง่ายและงดงาม กลมกลืน อ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติตามวิถีของ "ปกาเกอะญอ" อันมีความหมายว่า "เราคือคน"

ผศ.ปาริสุทธ์ เลิศคชาธาร
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต

** "ปกาเกอะญอ" หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนามของกะเหรี่ยง โดยปกติแล้วชาวกะเหรี่ยงจะเรียกตัวเองว่า ปกาเกอะญอ เหตุที่ใช้หัวข้อว่าปกาเกอะญอนั้น เพื่อให้เกียรติ และเป็นคำที่เฉพาะเจาะจงลงไป **

** แนะนำเว็บไซต์ www.maekapoo.
com ของนักศึกษาปริญญาโท M.S.CRAC เพื่อเผยแพร่วิถีชีวิตและการใช้พื้นที่ป่าของชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่ขะปู อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งยังคงมีระเบียบและแบบแผน มีการจำแนกพื้นที่ป่าตามลักษณะการใช้สอย การมีไร่หมุนเวียน การทำเกษตรกรรมเพื่อการดำรงชีวิต ด้วยความหลากหลายในประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต **

** สนใจศึกษาต่อปริญญาโท สาขาการ อนุรักษ์และฟื้นฟูสถาปัตยกรรมและชุมชน (M.S. CRAC) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปีการศึกษา 2552 สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 7 พฤษภาคม 2552 (รับผู้จบปริญญาตรีไม่จำกัดสาขาวิชา) ดูรายละเอียดได้ที่ www.rsu.ac.th/ grad/programs/mscra_01.html **
 


Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.




Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.