วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

รับมือสังคมผู้สูงอายุ ตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ

วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4097

รับมือสังคมผู้สูงอายุ ตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ
บทบรรณาธิการ


รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายเร่งด่วนในการขยายเบี้ยยังชีพ 500 บาท ให้ครอบคลุมประชาชนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังไม่ได้รับสิทธิถ้วนหน้า ให้มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ขาดหลักประกันด้านรายได้ยามชรา โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือไม่มีผู้เลี้ยงดู อย่างไรก็ตามปัญหาที่นักวิชาการส่วนใหญ่ทักท้วงก็คือ แม้นโยบายดังกล่าวจะเป็นการสร้างสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้า แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ภาระทางการเงินการคลังที่จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต ที่สำคัญในอนาคตอันใกล้ เมื่อจำนวนคนชราเพิ่มสูงขึ้น คำถามใหญ่ที่ตามมาคือ รัฐจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ทุกวันนี้สังคมไทยเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากสถิติล่าสุดระบุว่า จำนวนคนไทยวัยทำงานประมาณ 44 ล้านคน มีกว่า 30 ล้านคน ที่ยังไม่มีหลักประกันด้านรายได้เมื่อเข้าสู่วัยชรา ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อภาวะความยากจนสูง นอกจากนี้การเพิ่มเบี้ยสงเคราะห์จะเป็นภาระเงินงบประมาณสูงมาก เนื่องจากสัดส่วนประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากประมาณร้อยละ 12 ในปี พ.ศ.2553 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.0 ในปี พ.ศ.2593 หรือในอีก 40 ปีข้างหน้า

ล่าสุดมีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาระบบบำนาญที่ประกันรายได้ยามชราภาพให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้สูงอายุ ในรูปแบบของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ ทีมศึกษาและนำเสนอโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยในแง่ของหลักการ ระบบบำนาญแห่งชาติที่นักวิชาการนำเสนอตอนนี้มี 2 ระบบ รูปแบบที่ 1 ประชาชนอายุ 15-59 ปี ทุกคนต้องออมอย่างต่ำเดือนละ 100 บาท และรัฐช่วยสมทบออมอีกเดือนละ 50 บาท เมื่อเกษียณอายุมีบำนาญสองส่วน ส่วนแรกเป็นบำนาญพื้นฐานคนละ 500 บาทต่อเดือน ได้จากรัฐ ส่วนที่สองเป็นบำนาญที่มาจากการออมของแต่ละคนและที่รัฐช่วยสมทบ ถ้าออมมากก็ได้รับบำนาญมาก เงินบำนาญจ่ายให้แก่ทุกคนที่ออม และจ่ายจนกระทั่งเสียชีวิต

ส่วนรูปแบบที่ 2 ประชาชนอายุ 20-59 ปี ทุกคนต้องออมอย่างต่ำเดือนละ 50 บาท โดยไม่มีการสมทบจากรัฐ สิทธิประโยชน์ต่างจากแบบที่หนึ่ง คือเมื่อเกษียณอายุได้บำนาญสองส่วน ส่วนแรกเป็นบำนาญพื้นฐานคนละ 500 บาทต่อเดือน รัฐเป็นผู้จ่ายให้ และส่วนที่สองมาจากการออมของแต่ละคน ถ้าออมมากก็ได้รับบำนาญมาก เงินบำนาญทั้งสองส่วนจะจ่ายให้จนกระทั่งเสียชีวิต นอกจากนี้ถ้าผู้ออมหรือผู้รับบำนาญเสียชีวิตก็จะมีเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือให้แก่ครอบครัว หรือถ้าผู้รับบำนาญเสียชีวิตก่อนที่จะใช้เงินออมหมด ก็ให้คืนเงินออมที่ได้นั้นให้แก่ญาติคล้ายกับเป็นบำเหน็จตกทอด

แนวคิดเรื่องระบบบำนาญแห่งชาติอาจเป็นทางออกของสังคมไทยในอนาคต เพราะนอกจากจะออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลตัวเองในยามชรา ยังเป็นการส่งเสริมนิสัยการออมให้กับประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลโดยตรงให้ประชาชนของประเทศใช้ชีวิตได้อย่างอยู่ดีมีสุข และก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างดี


หน้า 2

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02edi03160452&day=2009-04-16&sectionid=0212