วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4096
คุย 3 ทูต 3 รส เรื่องเศรษฐกิจไทย "อียู-สหรัฐ-ฝรั่งเศส" สานต่อการค้าการลงทุน
ประเทศไทยในสายตามิตรชาวต่างชาติยังเป็นแหล่งปลายทางการท่องเที่ยว แหล่งดึงดูดการลงทุน และเป็นคู่ค้าที่สำคัญของนานาประเทศอยู่หรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์รุ่มเร้าทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อะไรคือสัญญาณและคำเตือนจากมิตรชาวต่างชาติถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางการค้า-การลงทุนระหว่างประเทศ
"ประชาชาติธุรกิจ" ได้มีโอกาสสอบถามความเห็นจาก ฯพณฯ เดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป ประจำประเทศไทย ในช่วงที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งทูตอียูคนใหม่ได้ไม่ถึง 1 เดือน ขณะเดียวกันได้พูดคุยถึงการสนับสนุนการค้า-การลงทุนระหว่างไทยกับประเทศฝรั่งเศส จาก นายปาสกาล ฟูร์ธ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ซึ่งก็เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่นี้ได้เพียง 3 เดือน
อีกทั้งได้นำบางช่วงบางตอนจากการสนทนากลุ่มระหว่างสื่อมวลชนไทยกับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ฯพณฯ อีริค จี. จอห์น ผู้ผ่านการทำงานในประเทศไทยมาได้ปี กว่าๆ และร่วมงานกับนายกรัฐมนตรีไทยมาแล้วถึง 4 ท่าน นับตั้งแต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลนานนท์ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อียูสานต่อกรอบความเป็นหุ้นส่วนไทย-อียู
ฯพณฯ เดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการค้าและด้านต่างๆ ระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปในเวลานี้ว่า ภารกิจเร่งด่วนสำหรับตน ในฐานะที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งมี 2 เรื่องหลักๆ กล่าวคือ หนึ่ง การสานต่อการเจรจาจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (partnership and cooperation agreement)
เรื่องที่สอง คือการเร่งเจรจาเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มเปิดการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อียูมาเมื่อ 2 ปีก่อน จนถึงขณะนี้การเจรจายังไม่มีความคืบหน้ามากนัก ดังนั้นเราจึงต้องหาทางสร้างความคืบหน้าของการเจรจาให้เกิดขึ้น โดยนับจากนี้ต่อไปอียูจะเจรจากับประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อมก่อน และหลังจากการเจรจาเสร็จสิ้นในแต่ละประเทศแล้ว จึงจะนำเข้าไปร่วมอยู่ในข้อตกลงของการเจรจากรอบใหญ่ ซึ่งก็คือในระดับภูมิภาคกับภูมิภาค
"โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน เราจำเป็นต้องเร่งการเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางเศรษฐกิจระหว่างกันเพื่อหาทางรับมือให้ทันท่วงทีกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก" นายลิปแมนกล่าว
เร่งเปิดเสรีเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่าย
เอกอัครราชทูตอียูประจำประเทศไทยคนล่าสุดยังได้แสดงตัวเลขการค้าระหว่างอียูและไทยว่า เมื่อปี 2550 สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไทย โดยไทยส่งออกไปอียู 1.6 หมื่นล้านยูโร ขณะที่อียูส่งออกสินค้ามาไทยเพียง 8 พันล้านยูโร นั่นแสดงว่าไทยได้รับประโยชน์ทางการค้าและได้ดุลการค้ากับอียูมากเกือบเท่าตัว อีกทั้งยังมีพื้นที่อีกมากสำหรับการขยายการค้าร่วมกันระหว่างสองฝ่าย
นอกจากนี้ โครงการสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร หรือจีเอสพี ซึ่งอียูยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทย ในปีที่ผ่านมามีสินค้าส่งออกจากไทยสูงถึง 70% ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้
ไม่เพียงแต่การค้าเท่านั้น ในส่วนของภาคบริการ อียูก็มีความต้องการให้ฝ่ายไทยเปิดเสรีเพิ่มขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยจะได้รับจากการเปิดเสรีทางการค้าสินค้าและการค้าบริการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการคมนาคม ขนส่ง หรือการธนาคาร ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งดึงดูดความสนใจจาก นักธุรกิจและนักลงทุนจากอียูมากยิ่งขึ้น
"การเปิดเสรีทางการค้าที่มากขึ้น จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคชาวไทยและผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับซื้อสินค้าในราคาถูกลง เนื่องจากภาษีที่ลดลงจากความตกลงเปิดเสรีระหว่างกัน และจะยิ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น"
ย้ำ FTA หนุนนักลงทุนอียูเชื่อมั่นไทย
การจัดทำความตกลงเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) ระหว่างอียูกับไทยนั้นมีประโยชน์หลายประการที่นักธุรกิจและนักลงทุนอียูจะได้รับ แต่ประเด็นที่เอกอัครราชทูตอียูชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำความตกลงเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนระหว่างไทยกับอียูที่น่าสนใจ อยู่ที่ความตกลงนี้จะเป็นกรอบการทำงานตามกฎหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะการเปิดเสรีการลงทุนและการค้าบริการ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่อียูมีความถนัดและมีความสามารถในการแข่งขัน
"การมีกรอบการทำงานตามกฎหมาย (legal framework) ที่ชัดเจนจะสร้างความมั่นใจว่าข้อตกลงที่ทำกันไว้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะในธุรกิจภาคบริการ จะทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น และเป็นการช่วยยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการในตลาดให้เพิ่มขึ้นด้วย"
หนุนอาเซียนจัดตั้ง custom union
ในฐานะผู้แทนจากสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศที่รวมตัวกันทั้งทางเศรษฐกิจ การค้า การเมืองจาก 27 ประเทศในยุโรป และเป็นการรวมกลุ่มทางภูมิภาคที่อาเซียนต้องการใช้เป็นแบบอย่างสร้างประชาคมอาเซียน นายลิปแมนกล่าวถึงบทบาทอาเซียนจากเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ชะอำ-หัวหินที่ผ่านมาว่า การรวมตัวของอาเซียนยังอยู่ในช่วงกึ่งกลาง แต่จากการบังคับใช้กฎบัตรอาเซียน ได้ทำให้เกิดก้าวสำคัญในภูมิภาค
อีกทั้งยังเป็นการบ่งบอกถึงความตั้งใจของผู้นำอาเซียนเพื่อสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 ซึ่งนับเป็นก้าวใหญ่และสำคัญของภูมิภาคนี้ เพื่อร่วมกันสร้างอาเซียนให้เป็น "custom union" ในระดับภูมิภาค เพื่อให้มีฐานภาษีและระบบการจัดเก็บภาษีในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด อีกทั้งจะเป็นการก้าวเดินที่ถูกต้องของภูมิภาคเพื่อปกป้องการกีดกันทางค้าอีกด้วย
สหรัฐเกาะติดตลาดอาเซียน
ความสนใจต่อการรวมตัวกันให้เป็นประชาคมอาเซียนไม่ได้มีจากฟากสหภาพยุโรปเท่านั้น ในฝ่ายสหรัฐอเมริกาเองก็เฝ้าติดตามความคืบหน้า การดำเนินการเพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียน และบทบาทของอาเซียนเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการกระตุ้นการดำเนินกิจการของภาคธุรกิจต่างๆ ด้วย
ฯพณฯ อีริค จี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจหลักด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางธุรกิจของนักธุรกิจและนักลงทุนสหรัฐในประเทศไทยที่ตนมีความตั้งใจจะทำให้สำเร็จนั้นคือการติดตามดูความเคลื่อนไหวของการรวมตัวในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนว่าจะดำเนินการไปในทิศทางใด เพื่อให้ข้อมูลกับนักธุรกิจสหรัฐถึงการเปิดตลาดในอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องภาษีและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามเร่งดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องการประเมินภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าจากผู้ผลิตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้าของสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลไทยผ่านกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ต้องร่วมกันแก้ไขข้อติดขัด
คุ้มครอง IP เสริมความสัมพันธ์
เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ยังระบุ ด้วยว่า จากการได้หารือเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับฝ่ายบริหารของไทย ไม่ว่าจะเป็นท่านนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีพาณิชย์ฝ่ายไทย ต่างเห็นร่วมกันว่า การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญมากกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย
"ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการสร้างความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม การให้ความสำคัญกับยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นสิ่งจำเป็นและจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น" นายจอห์นกล่าว
ฝรั่งเศสสนใจลงทุนพลังงาน-รถไฟฟ้า-อาหาร
นายปาสกาล ฟูร์ธ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปัจจุบันว่า ขณะนี้มีบริษัทฝรั่งเศสที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยมากกว่า 300 แห่ง และประเทศฝรั่งเศสมีมูลค่าการค้าร่วมกับประเทศไทยเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่ดำเนินการค้าร่วมกับไทย
"สำหรับธุรกิจฝรั่งเศสสิ่งที่เราสนใจเข้ามาดำเนินกิจการหรือลงทุนในไทย เรื่องหลักคือด้านพลังงาน นอกจากนั้นก็จะมีด้านอุตสาหกรรมอาหาร รถยนต์ และอื่นๆ ซึ่งค่อนข้างมีความหลากหลาย โดยนักลงทุนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็จะคิดถึงการลงทุนระยะยาว"
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีแผนจะดำเนินการลงทุนในระยะยาวที่เป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ธุรกิจจากฝรั่งเศสจึงเป็นอีกแห่งที่แสดงความสนใจความเคลื่อนไหวของการดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้
โดยเฉพาะด้านพลังงานทางเลือกและระบบคมนาคมขนส่งในเมือง ด้านรถไฟฟ้า ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้มีบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องรถไฟฟ้าทั้งระบบเข้ามาจัดสัมมนาในกรุงเทพฯ โดยมีสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดงาน
เดินสายให้ความรู้พลังงานทางเลือก
นอกจากนี้ ในด้านพลังงานทางเลือก เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสมีเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศมากถึง 80% มาจากพลังงานนิวเคลียร์
ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องพลังงานในประเทศไทยก็มีแผนศึกษาความเป็นไปได้การใช้พลังงานนิวเคลียร์ ในเรื่องนี้ นายปาสกาลได้กล่าวว่า เท่าที่ทราบ ทางรัฐบาลไทยก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้พลังงานนิวเคลียร์อยู่ และน่าจะเริ่มโครงการได้ในปี 2564 ซึ่งถือว่ายังต้องใช้เวลาอีกนานในการพัฒนาโครงการ
"ในฝรั่งเศสก่อนจะมีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เราก็ใช้เวลาศึกษา 15-20 ปี กว่าจะนำมาใช้กัน และเราก็มีการควบคุมการใช้ให้มีความปลอดภัย จนทำให้ปัจจุบันไฟฟ้าในฝรั่งเศส 80% ก็มาจากพลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้นเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องใช้เวลาและศึกษาอย่างรอบคอบก่อน"
ทั้งนี้ ในวันที่ 24 เม.ย.ที่จะถึงนี้จะมีบริษัทจากฝรั่งเศส 2 แห่ง ได้แก่อัลสตอมและอารีวา ซึ่งเป็นธุรกิจด้านพลังงานทางเลือกและนิวเคลียร์จะเข้าร่วมงานสัมมนาด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา ด้วย
หน้า 2
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02edi01130452&day=2009-04-13§ionid=0212
Rediscover Hotmail®: Get quick friend updates right in your inbox. Check it out.