วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552

Just War !?

Just War !? 

ยุกต์ อิสรนันทน์

 

 

            ภายหลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของมวลชนเสื้อแดงภายใต้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการใช้ความรุนแรงปราบปรามฝูงชน หรือที่ถูกเสนอผ่านสื่อกระแสหลักว่า เป็น "การปราบจลาจล" / "เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง" นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ หรืออาชญากรรมโดยรัฐ กลับได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชน องค์กรต่างๆ และประชาชนจำนวนหนึ่งเป็นอย่างมาก ในขณะที่พื้นที่สื่อของชาวเสื้อแดงกลับมีอยู่อย่างประปรายจนน่าตกใจ ผ่านเว็บไซต์บางแห่ง บอร์ดสาธารณะ และในลักษณะของ "ข่าวลือ" เท่านั้น ดังนั้น ท่ามกลายบรรยากาศการเล่นน้ำสงกรานต์ที่เกือบจะกลับเข้าสู่ "สภาวะปกติ" หลังจากเหตุการณ์ที่ "ไม่ปกติ" นั้น ข้าพเจ้าจึงขอหยิบยกประเด็นที่ "ไม่ปกติ" แต่ถูกทำให้เป็น "ปกติ" มาพูดถึงกันบ้าง

 

            โดยทั่วไปแล้ว มักเป็นที่เข้าใจกันว่า "สงคราม" กับ "สันติภาพ" ต่างเป็นคู่ตรงข้ามทางความคิดกัน (Binary Oppositional Logic) ซึ่งไม่สามารถประนีประนอมหรือหาพื้นที่ตรงกลางระหว่างขั้วความคิดทั้งสองได้ สันติภาพคือสภาวะที่ปราศจากสงคราม และสงครามคือสภาวะที่ไม่ปกติของสันติภาพ แนวคิดดังกล่าวคงมีอิทธิพลไม่น้อยต่อนักรัฐศาสตร์และนักปรัชญาหลายยุคหลายสมัย ดังเช่นแนวคิดของธอมัส ฮอบส์ นักปรัชญาคนสำคัญในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเสนอว่า โดยสภาวะธรรมชาติมนุษย์ตกอยู่ในสงครามของทุกคนต่อทุกคน (War of all against all) ดังนั้น สันติภาพจะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐเลวิอาตัง (Leviathan) อันมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดคอยทำหน้าที่ปกครองประชาชน หรือแนวคิดของฌอง ฌาค รุสโซ่ที่มองว่าอำนาจอธิปไตยอันมาจากเจตจำนงทั่วไป ไม่อาจผิดพลาดได้ และหากใครมีความเห็นต่างจากองค์อธิปัตย์แล้วย่อมต้องถูกบังคับให้บรรลุแก่เสรีภาพ (be forced to be free) ซึ่งแม้ว่าแนวคิดของทั้งฮอบส์และรุสโซ่จะมองถึงที่มา ขอบเขตอำนาจและหน้าที่ขององค์อธิปัตย์แตกต่างจากกัน ทว่าแนวคิดทั้งสองต่างให้ความชอบธรรมแก่รัฐในการทำหน้าที่รักษากฏระเบียบของสังคม เพื่อบรรลุถึงสันติภาพของส่วนรวม

 

             ดังนั้น เพื่อรักษาสภาวะ "ปกติ" หรือ "สันติภาพ" ของสังคมนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐจะต้องเข้ามาทำหน้าที่ในการรักษาสภาวะดังกล่าว โดยแม็กซ์ เวบเบอร์ได้ให้คำนิยามรัฐสมัยใหม่ว่าเป็น "องค์กรที่ผูกขาดและมีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง" ซึ่งการผูกขาดความรุนแรงในที่นี้ มิได้หมายถึงการใช้ความรุนแรงตามใจนึก หากแต่เป็นความรุนแรงที่ถูกต้องชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐตามบทบัญญัติของกฎหมาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า รัฐมิได้มีเสรีในการใช้ความรุนแรง หากแต่ต้องอยู่ในขอบเขต เพื่อทำให้สภาวะ "ไม่ปกติ" กลับเข้าสู่ "ปกติ"

 

            อย่างไรก็ตาม ในการปกครองประเทศ มิได้หมายความว่ารัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทว่าอำนาจดังกล่าวถูกกระจายให้แก่องค์กรรัฐต่างๆ โดยการรักษากฎหมายและความสงบสุขของบ้านเมือง เป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งได้รับความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดเพื่อการจัดการกับสภาวะ "ไม่ปกติ" กระบวนการยุติธรรมเป็นหน้าที่ของศาล ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่บริหารประเทศ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และประนีประนอมความขัดแย้งต่างๆ ผ่านกระบวนการทางการเมือง การกำหนดนโยบาย ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า ในทางปฏิบัติของสังคมประชาธิปไตย อำนาจในการใช้ความรุนแรงได้ถูกแยกออกจากอำนาจของรัฐบาล

 

            ทว่าสภาวะ "ไม่ปกติ" ที่ข้าพเจ้าต้องการกล่าวถึงในที่นี้ คือ สภาวะที่รัฐบาลกลับใช้ความรุนแรงในนามของสันติภาพ ความไม่ปกติในนามของความปกติ -  สงครามที่เป็นธรรม (Just War) หรือ การกล่าวอ้างภาระหน้าที่ทางจริยธรรมในการก่อสงครามเพื่อสร้าง/ธำรงสันติภาพ โดย "สงคราม" และ "สันติภาพ" ในที่นี้มิใช่ขั้วตรงข้ามของกันอีกต่อไป หากแต่เป็นเหตุ-ผลซึ่งกันและกันด้วย

 

            ท่ามกลางสภาวะสงครามในนามของสันติภาพนั้น เส้นแบ่งระหว่างอำนาจในการจัดการกับสภาวะ "ไม่ปกติ" กับอำนาจในการบริหารประเทศของรัฐบาลได้เลือนหายไป ผ่านการปกครองด้วยสภาวะยกเว้น (State of Exception) หรือการสร้างข้อยกเว้นในลักษณะชั่วคราวซึ่งให้ความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล (เช่น ผ่านการประกาศใช้พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน[1]  โดยอ้างถึงเหตุผล 2 ประการหลัก คือ (1) หน้าที่ทางจริยธรรมของการรักษาสันติภาพ (2) ความจำเป็นในการใช้กำลังบังคับเพื่อไปสู่กฎระเบียบและสันติสุขของสังคม ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องแปลกที่ในช่วงการปกครองด้วยสภาวะยกเว้นนี้ รัฐบาลและทหารจะได้ทำ "สงคราม" หรือสร้างสภาวะที่ "ไม่ปกติ" ขึ้นเสียเอง ในนามของการธำรงรักษาความสงบสุขและนำกฎระเบียบกลับคืนสู่สังคม

 

            อย่างไรก็ตาม ในสังคมประชาธิปไตยปัจจุบัน การที่รัฐจะกล่าวอ้างถึงสงครามที่เป็นธรรม เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการดำเนินการปกครองด้วยสภาวะยกเว้น และใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนนั้น คงเกิดขึ้นได้ยากท่ามกลางกระแสสังคมที่เรียกร้องประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมในการปกครอง ความโปร่งใส ความเป็นธรรมทางสังคม รวมไปถึงแรงกดดันจากนานาอารยะประเทศ ด้วยเหตุนี้ การทำให้สภาวะ "ไม่ปกติ" กลายเป็นสภาวะ "ปกติ" หรือกลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมไม่เพียงแต่เห็นพ้องต้องกัน หรือยอมรับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเท่านั้น หากแต่ทำให้สภาวะที่คนในสังคมเรียกร้องและต้องการการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ หรือการทำให้ความรุนแรงโดยรัฐกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมกลายเป็นเรื่องสำคัญ

 

            จะเห็นได้ว่า ในสังคมแห่งเทคโนโลยีและการสื่อสาร สภาวะ "ไม่ปกติ" ที่ความรุนแรงต่อประชาชนถูกใช้โดยรัฐบาลเสียเองนี้ กระบวนการผลิตชีวญาณการเมือง (Biopolitical Production) [2] ได้กลายเป็นกระบวนการที่ทำให้สภาวะที่ "ไม่ปกติ" ถูกทำให้กลายเป็น "ปกติ" โดยกระบวนการดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดและผลิตซ้ำผ่านสื่อมวลชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นช่องทางหลักในการนำเสนอประเด็น ข่าวสาร และมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างทัศนคติของสังคม ดังนั้น ผู้รับสาสน์จากสื่อดังกล่าวจึงไม่เพียงแต่รับรู้ข้อมูล ถูกอัดฉีดความคิด ผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น หากแต่แนวคิดดังกล่าวยังถูกผลิตซ้ำภายในความคิดของเขา ถ่ายทอดและผลิตซ้ำสู่สังคมด้วย ภาพหรือการครอบงำโดยสื่อจึงมิเพียงส่งผลต่อทัศนคติของผู้รับสาสน์เท่านั้น หากแต่กำหนดโลกทัศน์และพฤติกรรมของเขาเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว

 

            อาจกล่าวได้ว่า ชีวญาณทางการเมืองเปรียบเสมือนการจัดระเบียบความคิด โลกทัศน์ และพฤติกรรมของผู้รับสาสน์ให้มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้ชุดคำอธิบายหลักที่รัฐบาลและสื่อมวลชนนำเสนอ ซึ่งเป็นการบั่นทอนความหลากหลาย ความแตกต่างทางความคิด การใช้เหตุผล และกระบวนการแสวงหาเหตุผลของคนในสังคม ส่งผลให้แทนที่จะเกิดการทำความเข้าใจและให้เหตุผลต่อปรากฏการณ์ทางสังคมแต่ละปรากฏการณ์ที่มีความแตกต่างกันออกไปตามบริบท (context) กลับก่อให้เกิดการให้เหตุผลแบบเหมารวม (Simplification) ภายใต้ชุดคำอธิบายหลักแทน

 

            ตัวอย่างเช่น ภายใต้กรอบโครงหลักของการให้คำอธิบายต่อการใช้ความรุนแรงของทหารในการปราบปรามมวลชนเสื้อแดง เรามักพบสาสน์ที่เสนอว่า "กลุ่มเสื้อแดงก่อความวุ่นวาย" และ "กลุ่มเสื้อแดงเป็นกลุ่มคนรักทักษิณ" ซึ่งสะท้อนว่า "การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงไม่ชอบธรรมและขัดต่อศีลธรรมของสังคม" ดังนั้น ในการให้คำอธิบายของผู้รับสาสน์ต่อการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง จึงมักมีลักษณะไปในทางเดียวกันว่า "ถูกทักษิณหลอก" "ถูกทักษิณจ้าง" "ถูกมอมเมาโดยนโยบายประชานิยม" เป็นต้น และมีแนวโน้มสูงที่จะให้ความชอบธรรมต่อการปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเชื่อในชุดคำอธิบายของรัฐบาลมากกว่าผู้ชุมนุม โดยปฏิเสธการใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจเหตุผลและที่มาของกลุ่มคนอันหลากหลายที่เข้าร่วมชุมนุมภายใต้ชื่อ นปช. (ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มคนที่มองว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน, กลุ่มคนที่ต้องการความกินดีอยู่ดี, กลุ่มคนที่ความยุติธรรมทางสังคม เป็นต้น) และปฏิเสธความเห็นและข้อมูลที่แตกต่างภายใต้ชุดคำอธิบายที่ว่า "ไม่มีหลักฐาน" (ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วทั้งสองฝ่ายอาจไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ความเชื่อของตนได้)

 

            ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางสภาวะ "ไม่ปกติ" ที่รัฐบาลประกาศสงครามปราบปรามประชาชน โดยอาศัยการปกครองโดยข้อยกเว้นที่กล่าวอ้างถึงสงครามเพื่อความยุติธรรม (Just War) กลไกของชีวญาณการเมืองได้ทำให้สภาวะที่ "ไม่ปกติ" ดังกล่าวกลายเป็นเรื่อง "ปกติ" ของสังคม ผ่านการผลิตมโนทัศน์ร่วมว่า สภาวะ "ไม่ปกติ" ดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหน้าที่ตาม "ปกติ" ของรัฐบาลในการธำรงรักษาสันติภาพและกฎระเบียบของสังคม

 

            จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจว่า เหตุใดภาพของการเล่นสงกรานต์ตาม "ปกติ" กับภาพของทหารยืนถือปืน และรถถังวิ่งรอบเมืองอันแสนจะ "ไม่ปกติ" นี้ สามารถอยู่คู่กันได้โดยไม่ผิดแปลกแต่ประการใด เพราะความ "ไม่ปกติ" เหล่านี้ ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่ "ปกติ" ไปในที่สุด

 

"ตราบใดที่ข้ออ้างการปราบปรามประชาชนเพื่อสันติภาพ สื่อมวลชนกระแสหลัก รวมทั้งองค์กรต่างๆ ยังคงให้ความชอบธรรมแก่อาชญากรรมโดยรัฐ ตราบนั้นความขัดแย้งและความแตกแยกจะยิ่งฝังรากลึก บ่มเพาะ รอวันสุกงอม และปะทุออกมาอีกครั้ง"

           

           

           

                       



[1] ดูรายละเอียดใน พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: จากการปกครองภายใต้ข้อยกเว้น สู่การทำให้ข้อยกเว้นเป็นเหตุผลในการปกครอง [http://www.prachatai.com/05web/th/home/16423]

[2] ดูรายละเอียดใน Chapter 1.2 Biopolitical Production ใน Michael Hard and Antonio Negri, Empire (Massachusetts: Havard University Press, 2000). และ Chapter 1.1 Simplicissimus ใน Michael Hard and Antonio Negri, Multitude: War and democracy in the age of empire (New York: Penguin Books, 2005).




http://www.prachatai.com/05web/th/home/16471

โดย : ประชาไท   วันที่ : 17/4/2552


Rediscover Hotmail®: Get quick friend updates right in your inbox. Check it out.