วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

มองเชียงใหม่ ผ่าน "คำ ผกา" นิวยอร์กแห่งล้านนา สาวเครือฟ้า...กับ...ชิคาโก

 
วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4097

มองเชียงใหม่ ผ่าน "คำ ผกา" นิวยอร์กแห่งล้านนา สาวเครือฟ้า...กับ...ชิคาโก



วัดวาอาราม โบราณสถาน วัฒนธรรม ภาษา ประเพณี วิถีชีวิตของผู้คน ธรรมชาติ ฯลฯ

มากมายหลายเหตุผลซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ "เชียงใหม่" เป็นจังหวัดที่ใครหลายคนอยากไปเยือน

เมื่อคราวลมหนาวปกคลุม หมอกขาวบางทอดผ่านยอดดอย หลายคนดั้นด้นไปเพื่อได้สัมผัสบรรยากาศอันเย็นยะเยือกสักครั้งในชีวิต

และดูเหมือนว่าทุกเทศกาล เชียงใหม่ ดั่งมีมนต์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแวะไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมล้านนาไม่เคยขาด

"ปี๋ใหม่เมือง" หรือสงกรานต์ปีนี้ เสน่ห์แห่งขนบธรรมเนียมก็ยังคงเนรมิตให้เชียงใหม่คึกคักเช่นทุกปีที่ผ่านมา

เสน่ห์ของเชียงใหม่ ก็คงไม่ต่างไปจากเสน่ห์ของ "คำ ผกา" หญิงสาวผู้เกิด เติบโต และอาศัยอยู่ภายในซอยเล็กซอยหนึ่งใน อ.สันทราย ไม่ไกลจากตัวเมืองเท่าไรนัก

บางคนรู้จักเธอจากงานเขียนในนามปากกา "ฮิมิโตะ ณ เกียวโต" หรือ ปันคำ ณ ปันนา

ถึงกระนั้นทั้งหมดทั้งมวล เธอคือ "ลักขณา ปันวิชัย" สาวเชียงใหม่วัย 36 ที่โลดแล่นผ่านทางถนนอักษร สร้างผลงานมาอย่างยาวนาน

"คำ ผกา" สำเร็จการศึกษาจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วเรียนต่อ ปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เกียวโต

มีผลงานเขียนมากมาย อาทิ จดหมายจากเกียวโต, จดหมายจากสันคะยอม, ยำใหญ่ใส่ความรัก, รักไม่เคยชิน, ฉัน-บ้า-กาม, ยุให้รำตำให้รั่ว ฯลฯ ส่วนผลงานแปลคือ เซี่ยงไฮ้เบบี้

เคยทำงานเป็นผู้รายงานข่าวประจำสถานีวิทยุ อสมท เชียงใหม่, นักเขียน ฟรีแลนซ์ โครงการจังหวัดของสำนักพิมพ์สารคดี, ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์และศาสนาโรงเรียนดาราวิทยาลัย เขียนคอลัมน์ตีพิมพ์ในนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์มามากมาย

แต่ผู้อ่านส่วนใหญ่มักจะจำเธอได้จาก "กะทู้ดอกทอง"

"ฉันไม่ได้ต่อต้านการถนอมเนื้อตัวของ ผู้หญิง อีกทั้งไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้หญิงสนุกอยู่กับถลุงเนื้อตัวร่างกายของตนเองไปในเกมรักเกมใคร่อย่างไม่มีที่สุด แต่ความอึดอัดคับข้องใจของฉันเมื่ออ่านนวนิยายที่เขียนขึ้นใน พ.ศ.นี้ โดยนักเขียนนวนิยายที่เราฝากความหวังเอาไว้ว่าเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ยังคงเสนอภาพนางเอกนวนิยายได้ไม่ต่างจากนวนิยายที่เคยเขียนๆ กันมาเมื่อ 20-30 ปีก่อน"

หากคิดว่าการวิพากษ์เพศกระทบงานเขียนดุเดือดถึงใจแล้ว วิพากษ์เชียงใหม่บ้านเกิดยิ่งเข้มข้นกว่า

- เป็นคนเชียงใหม่ มองอย่างไรกับการที่คนกรุงเทพฯแห่เข้ามาอยู่ แล้วทำตัวแนวๆ

ก็ดี ตลกดี ฉันชอบดู (ฮา) ขอบคุณที่มาทำให้เชียงใหม่มีอะไรให้ดู (ฮา) คือมันเป็นสีสัน คือดูแล้วขำ นึกออกไหม ฉันก็ขอโทษที่ฉันขำ ฉันก็รู้สึกผิดที่ไปขำเขา (ฮา) คือเขาไม่ได้ผิดนะ ที่เขาเป็นอย่างนั้น แต่เราเสือกไปขำ เหมือนฉันไปถนนนิมมานเหมินท์ มันสนุกมากเลย แล้วฉันก็สามารถนั่งอยู่ ตรงนั้นได้ทั้งวัน แล้วก็ดูคน แล้วก็เมาท์ กัดเขา (ฮา) ซึ่งนิสัยไม่ดี อะไรนะ ใส่ชุดอะไรนะ อะไรมันต้องพยายามขนาดนั้นเลยเหรอ แล้วฉันว่า ฉันไปกรุงเทพฯก็ ไม่เห็นคนประเภทนี้นะ คือเขาจะเป็นอย่างนี้เมื่อเขามาเชียงใหม่ (ฮา) ตอนเขาอยู่กรุงเทพฯ เขาก็ไม่ได้แต่งตัวแบบนี้ (ฮา)

- พาวัฒนธรรมเพี้ยนๆ มาสู่ล้านนา หรือเปล่า

มันไม่เพี้ยนหรอก ฉันว่าโลกมันก็เป็นอย่างนี้ เป็นความสัมพันธ์

เชิงอำนาจมากกว่า ฉันคิดว่านักมานุษย วิทยาน่าจะตอบคำถามนี้ได้ดีกว่า

มันเหมือนกับว่า perception ของเชียงใหม่ ในสายตาของคนรุ่นใหม่ที่คิดว่าตัวเองเป็นคนนอกกระแสเขารับรู้เชียงใหม่อย่างไร เพราะฉะนั้น การแต่งตัวของเขาหรือการเปิดร้านอะไร มันก็อิงอยู่กับจินตนาการอันนี้ของเขา ฉันคิดว่ามันก็มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจกันอยู่นิดหนึ่ง

คือเขาก็เห็นว่าเชียงใหม่เป็นแฟนตาซี เป็นดินแดนที่จะเป็นทางออกของเขาที่จะหลีกหนีทุนนิยม บริโภคนิยม สังคมเมืองที่เลวร้ายของกรุงเทพฯ อะไรอย่างนี้ แล้วเขาก็พยายามจะมาหาเสน่ห์ของเชียงใหม่ แล้วคิดว่าเชียงใหม่มีเนื้อหาที่เขาต้องการ ซึ่งมันก็ต่างจากความสัมพันธ์สมัยก่อน ที่ฉันเคยเขียนหลายครั้งว่า เป็นเหมือนสาวเครือฟ้า เหมือนคนไทยมองหลวงพระบางตอนนี้ เมื่อก่อนคนกรุงเทพฯก็มองเมืองเชียงใหม่แบบนั้น มาหาสาวงาม มาหาอะไรที่อ่อนหวาน มาหาความบริสุทธิ์ผุดผ่อง

แต่ตอนนี้มันเพิ่มมิติทางวัฒนธรรม เพิ่มมิติที่เป็น interactual เพิ่มมิติที่เป็นศิลปะ ขึ้นมาอีก แล้วเป็นศิลปะสมัยใหม่ด้วย แล้วมันก็มีความจริงบางอย่างที่มาสนับสนุนจินตนาการตรงนี้ เช่น มีศิลปินมาอยู่ที่นี่เยอะ แล้วก็ผลิตผลงานที่น่าสนใจออกมา มีพื้นที่ทางศิลปะอะไรอย่างนี้ มันก็โกยกันเข้าไปเป็นภาพ แล้วทำให้เขารู้สึกว่าถ้าเขามาเชียงใหม่แล้วมันจะเก๋ มันจะเป็นซานฟรานซิสโก เป็นเบิร์กเลย์ อะไรอย่างนี้ มีคนที่ใช้ชีวิตเป็นอัลเทอร์เนทีฟได้

- เพราะค่าใช้จ่ายน้อยกว่ากรุงเทพฯด้วย

ฉันพบว่าน้อยกว่าเยอะมากในการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าฉันไปกรุงเทพฯ ทานข้าว ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง บวกน้ำ บวกอะไร ก็ 100 บาทแล้ว ที่ไม่ใช่กินร้านหรูๆ แต่อยู่ที่นี่ 20-25 บาท มันก็อยู่ได้

- เศรษฐกิจจะทำให้คนกรุงเทพฯแห่กันเข้ามาเยอะขึ้น

มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเขามีอะไรให้ทำหรือเปล่า เพราะเชียงใหม่ไม่ใช่เมืองที่แอ็กทีฟทางการลงทุน ไม่ได้มีธุรกิจให้มาทำ หรือมีออฟฟิศใหญ่ที่จะรองรับมนุษย์เงินเดือน สาวบริษัท คือถ้าจะมาก็ต้องมาทำธุรกิจส่วนตัว ธุรกิจส่วนตัวที่นี่ก็อย่างปราบเซียนเลย อย่างที่รู้ๆ กัน ร้านอยู่ได้ไม่นานเลย โดยเฉพาะร้านที่มาแบบคอนเซ็ปต์กิ๊บเก๋แหวกแนว จะมีอายุสั้นมาก

หรือประเภทเก็บเงินมาเยอะๆ มีเงินเยอะๆ แล้วมาอยู่เล่นๆ มีคนมาอยู่เชียงใหม่แล้วไม่ทำงานเยอะมาก ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้น ญี่ปุ่น ฝรั่งเกษียณ ฉันคิดว่าเป็นเมืองแบบนั้นมากกว่า เมืองที่มาอยู่แบบเฉยๆ แล้วใช้เงินไม่เยอะ ใช้เงินเก็บ มันไม่ใช่เมืองที่น่าลงทุน มันมีอะไรให้ขายสำหรับเชียงใหม่นอกจากธุรกิจท่องเที่ยว ใช่ไหม บริษัทใหญ่ๆ ก็ไม่มี ธนาคารที่จะเป็น head office ระดับภูมิภาคก็ไม่มี จะมีคนมาทำไฟแนนซ์ใหญ่ๆ ที่นี่มันก็ไม่ใช่อีก เชียงใหม่ไม่มี

อย่างไรมันก็ต้องกลับไปศูนย์กลางที่กรุงเทพฯอยู่ดี ไม่มีหนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ที่เป็นศูนย์กลางด้วยตัวเอง แล้วให้กรุงเทพฯเป็นชายขอบของข่าวสาร มันไม่มี

- เชียงใหม่เปลี่ยนไปเยอะหรือเปล่า

สำหรับฉันเปลี่ยนไปเยอะ ฉันมองว่าเป็นเรื่องธรรมดานะ ฉันอยากให้เชียงใหม่เปลี่ยน ไม่อยากให้เป็นเหมือน 50 ปีที่แล้ว หรือ 100 ปีที่แล้ว ฉันอยากให้เชียงใหม่สะดวกสบาย เจริญ มีเทคโนโลยี มีทุกอย่าง แต่ที่ฉันไม่ชอบเชียงใหม่เพราะว่า คือมันไม่เอาอะไรสักอย่างหนึ่งเลย จะเป็นเมืองของอดีตก็ไม่ใช่ จะเป็นเมืองของปัจจุบันแล้วก้าวไปในอนาคตก็ไม่ยอมเป็น มันครึ่งๆ กลางๆ จะเดินไปข้างหน้าก็ห่วงอดีต เพราะสิ่งที่ขายอยู่ทุกวันนี้คือขายอดีต

ฉันอยากให้เชียงใหม่เป็นเมืองทันสมัย เป็นนิวยอร์ก เป็นโตเกียว เป็นอะไรก็ได้ ทันสมัยในแง่นี้คือ ถ้าคุณทันสมัยทั้งหมดเต็มร้อย คุณต้องคำนึงถึงคนที่อยู่ในเมืองมากกว่านี้ หมายความว่าคุณก็ต้องมี transportation (การขนส่ง) ที่มีประสิทธิภาพ มีทางเดิน มีสวนสาธารณะ มีอะไรที่เมืองใหญ่เขามี แต่เชียงใหม่ไม่มี เชียงใหม่มันเป็นชนบท แต่วัตถุมันพยายามที่จะทันสมัย มีการสร้างถนนก็ดี แต่คุณก็พยายามจะสร้างอดีตมาขาย คุณทำถนนคุณก็ต้องยอมรับว่านี่คือเมืองสมัยใหม่ แต่คุณก็ไม่ยอมรับว่าคุณอยากจะเป็นเมืองที่ทันสมัย ยังยึดติดกับการเป็นเมืองประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมล้านนาอันงดงาม

แล้วทีนี้ปรากฏว่าสิ่งที่ควรจะทำคุณก็ไม่ทำ เราจะมีรถไฟฟ้าไหม จะมีรถรางในเมือง จะมีรถใต้ดินหรือเปล่า มีรถเมล์ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นอย่างไร ควรจะมีห้องสมุดเหมือนประเทศสิงคโปร์ คือเมืองทันสมัยมันต้องนึกถึงพลเมืองที่เป็นสาธารณะค่ะ แต่นี่ก็ยังอยู่กันแบบหมู่บ้าน หมู่บ้านใครหมู่บ้านมัน

- ทำให้คนมาอยู่เยอะขึ้น เกิดมลพิษ รถติด อาชญากรรม เชียงใหม่พร้อมรับ แล้วหรือ

ฉันคิดว่าถ้าคุณจะทันสมัย คุณต้องนึกถึงมิตินี้แล้ว ทันสมัยของฉันคือ priority (สิ่งที่จะต้องกระทำก่อน) ไม่ใช่ทันสมัยที่วัตถุ คือถ้าคุณจะคิดให้หลุดออกไปจากหมู่บ้าน ให้เป็นสังคมเมืองจริงๆ คุณต้องคิดเปลี่ยนในเรื่องเวลา เรื่องพื้นที่ แล้วเมื่อคุณมองพลเมือง คุณเห็นพลเมืองเป็น civil คุณไม่ได้มองเป็น subject

เพราะฉะนั้นฉันคิดว่า ถ้าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุก อบต. เทศบาลทุกเทศบาลเข้มแข็ง ทำอะไรของตัวเองได้ มีเสียงที่เข้มแข็ง แล้วเขาก็สามารถก้าวพ้น identity ของการเป็นเมืองประวัติศาสตร์ไปได้ ทำเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองที่อยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างสง่างาม โดยที่ไม่ต้องไปยึดติดกับอดีต มันก็ต้องรองรับเรื่องพวกนี้ เรื่องปัญหาอาชญากรรม มลพิษ เพราะ หนึ่งในคุณสมบัติในการเป็นเมืองทันสมัย คือคุณต้องให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม mentality (ความคิดอ่าน) ที่ขับรถไปไหนแล้วขว้างขยะออกมาข้างถนน มันเป็นความคิดอ่านของโลกก่อนสมัยใหม่นะ เพราะคุณใช้ใบตอง การจัดการขยะ ก็ต้องเป็นการจัดการแบบโลกสมัยใหม่ที่มีกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสภาหมู่บ้านมาจัดการ

- เชียงใหม่อีก 10 ปีต่อจากนี้

อยากให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า นี่จริงจังนะ ฉันกังวลกับมลพิษมากๆ ของเมือง แล้วก็ปัญหาการขนส่งสาธารณะ นี่เป็นเรื่องโลกแตกมากสำหรับเชียงใหม่

ฉันว่าเมืองเชียงใหม่มันเป็น scale อย่างที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียน เป็น scale ของมนุษย์ คล้ายๆ เกียวโต มีตรอกซอกซอยบ้านเรือนอยู่ชิดกันตามตรอกเล็กๆ มันเป็นเมืองที่เหมาะสำหรับการเดินและปั่นจักรยาน ไม่ใช่เมืองที่คุณจะมาทำถนนใหญ่ๆ แล้วเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว

ถ้าเชียงใหม่ไปถึงจุดที่ตระหนักว่าเป็นเมืองที่เป็น scale เหมือนมนุษย์ scale เล็ก และก็ควรรักษา scale นั้นไว้ แล้วทำระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ รณรงค์ให้คนเดินมากขึ้น ปั่นจักรยานมากขึ้น จะทำถนนใหญ่ก็ได้ แต่คุณก็ต้องมีเลนที่ให้ความสำคัญกับจักรยาน ไม่ใช่เลนจักรยานที่ให้ priority กับรถยนต์

แล้วปัญหาก็คือหมู่บ้านจัดสรรชานเมืองกี่หมื่นกี่พันโครงการ แล้วทุกบ้านมีรถยนต์อย่างน้อย 2 คัน เพื่อที่จะรับส่งลูกไปโรงเรียน แล้วตัวเองไปทำงานในเมือง นี่คือปัญหาที่ทำให้รถติด

มันไม่ใช่แค่รถติด แต่มันเป็นการเผาผลาญพลังงานโดยไม่จำเป็น แล้วคนเชียงใหม่ก็พูดกันแต่ว่า ไม่มีรถอยู่ไม่ได้ แต่ไม่มีใครออกมาผลักดันว่าต้องช่วยกันทำอะไรสักอย่างหนึ่ง

- ความคิดที่ว่าเพราะรถติดจึงต้องขยายถนน ทำให้เกิดการคัดค้านขยายถนน

แต่การคัดค้านการขยายถนนของคนเหล่านั้นยังไม่พอ เพราะคัดค้านอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนตัว กลัวที่ดิน ตัวเองโดนเวนคืน เพราะฉะนั้นเขาต้องขยาย topic (หัวข้อ) ในการคัดค้านขยายถนนของเขาให้มันเป็นผลประโยชน์ส่วนรวม ถ้าฉันไม่เดือดร้อนก็ถ้าบ้านกูไม่โดนเวนคืน เขาก็ไม่มีแนวร่วม

เขาต้องมายืนยันประเด็นว่าการขยายถนนไม่ใช่คำตอบ เขาพร้อมที่จะโดนเวนคืน เขาไม่ใช่ห่วงเรื่องที่ดิน แต่เขาห่วงปัญหามลพิษของเมือง ห่วงว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกที่เราไม่ควรใช้น้ำมันมากขนาดนี้อีกต่อไปแล้ว ประเทศเราผลิตน้ำมันเองไม่ได้ คือมันต้องเป็นประเด็นอย่างนี้ ไม่ใช่ประเด็นว่ากูไม่อยากโดนเวนคืนที่ดิน

- เป็นเพราะความผิดพลาดจากหน่วยงานรัฐหรือชาวบ้านเห็นแก่ตัว

ฉันว่าทั้งหมด การพัฒนาเมืองของเราไม่ได้พัฒนาให้เห็นคน แล้วเราก็ไปเข้าใจผิดว่าความเจริญคือต้องมีถนนใหญ่ๆ เห็นว่าจักรยานหรือรถสามล้อเป็นความเชย ความล้าหลังที่จะต้องขจัดออกไป เพื่อเราจะได้ก้าวไปสู่สิ่งที่เราเรียกว่าความก้าวหน้า นั่นคือประมาณ พ.ศ.2500 ที่เราอยากจะพัฒนาประเทศให้ทันสมัย

มาเดี๋ยวนี้คนที่มีการศึกษา ที่ภาษาตลาดเรียกว่า trendy จำนวนหนึ่ง ซึ่งมาสนใจปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วอยากปั่นจักรยาน คุณก็ไม่ปั่นจักรยานด้วยสำนึกแบบบ้านๆ เป็นสำนึกแค่อยากให้คนเดินทางด้วยความสะดวกปลอดภัย ประหยัดพลังงาน ก็ไปคิดกันถึงเรื่องจักรยานเก๋ๆ ไปปั่นในที่เก๋ๆ ไปถ่ายรูปเก๋ๆ คือมันไม่ใช่ มันก็ยังไม่ใช่ชีวิตประจำวัน คุณเอาจักรยานมัดไปบนรถโฟร์วีล ขับรถไปชนบทแห่งหนึ่ง ก็เอาจักรยานไปปั่น ปั่นเสร็จก็เอาจักรยานขึ้นรถยนต์ขับกลับบ้าน ฉันว่ามันไม่ make sense

คือเราไม่สามารถเชื่อมความทันสมัยกับการเดินทางที่ไม่ใช้รถยนต์ได้ เรายังคิดว่ารถยนต์เป็นสัญลักษณ์ของสถานะทางสังคม เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย แล้วอย่างคนชั้นกลาง การมีรถขับเหมือนเป็นความสำเร็จ เมื่อไหร่ที่คุณได้ซื้อบ้านซื้อรถ คือคุณประสบความสำเร็จ มันหลายปัจจัยมาก

ฉันเคยเขียนมาหลายปีแล้วว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่เราถีบตัวเองจากนั่งรถเมล์ไปทำงาน เป็นขับรถไปทำงานคือประสบความสำเร็จ นี่เป็นวิธีคิดแบบคนไทย ซึ่งมันไม่ใช่ เราควรจะเรียกร้องให้เรามีรถเมล์ดีๆ ไม่ใช่กดดันให้ตัวเองเก็บเงินซื้อรถ หรือผ่อนรถ เราควรจะได้เอาเงินนั้นไปกินอาหารดีๆ กินไวน์ดีๆ ไม่ใช่กำเงินตรงนั้นไปซื้อรถยนต์ขับ ต้องเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยว่า การทันสมัย การประสบความสำเร็จ ไม่ได้เท่ากับการมีรถขับ

เชียงใหม่จะน่าอยู่มาก ฉันต้องการ museum ดีๆ concert hall ดีๆ มีโรงหนัง ทุกวันนี้หนังบางเรื่องที่เข้ากรุงเทพฯ ก็ไม่เข้าเชียงใหม่ เพราะเขาคิดว่าไม่มีคนดู คือฉันก็ไม่ได้ต้องการฟ้อนเล็บหรืออะไร มีก็มี ไม่ได้ว่าอะไร มีก็ดี มีก็สนุก แต่มันก็ต้องมีอย่างอื่นด้วย มีโอเปร่า มีละครเวทีเรื่องชิคาโกมาแสดงที่กรุงเทพฯ คนเชียงใหม่ก็อยากดู แล้วทำไมเราไม่ได้ดู

ถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นเมืองที่ทันสมัย มันต้องมีสิ่งเหล่านี้ อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ แต่คุณต้องคิดว่าทำไมคุณไม่มีสิทธิดูละครเวทีชิคาโก ทำไมไม่ได้ฟังคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิกวงดังๆ จากทั่วโลก ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะเชิญมา

เชียงใหม่ไม่ใช่ไม่มีเงินนะ มีเงินแต่ก็เอาไปทำอะไรก็ไม่รู้ เอาไปทำกระถางต้นไม้พลาสติก เอาไปทำน้ำพุกลางสะพานอย่างนี้ ซึ่งฉันคิดว่ามันไร้สาระ อย่างน้อยๆ มีห้องสมุดดีๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องของคนชั้นกลาง ฉันคิดว่าชนชั้นมันไม่ตายตัว คือไม่ใช่ว่าอยู่แล้วจะไม่เคลื่อนไหว มันไม่ได้แปลว่าคนปลูกหอมอยู่หางดงแล้วมันจะต้องปลูกหอมไปตลอดชีวิต วันหนึ่งเขาอาจจะทำไร่หอมที่ดีขึ้น เพราะเขามีความรู้มากขึ้น ทำหอม ออร์แกนิก ถ้าเข้าถึงตลาด เพราะเขารู้ว่าชีวิตเขามีทางเลือกอะไรบ้าง

หน้า 36
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02spe01160452&day=2009-04-16&sectionid=0223