วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552

เยือนรัง “พ้อเลป่า”ปราชญ์ปกากะญอ คนเขียนหนังสือ: เขียนชีวิตและจิตวิญญาณ (1)

เยือนรัง "พ้อเลป่า"ปราชญ์ปกากะญอ คนเขียนหนังสือ: เขียนชีวิตและจิตวิญญาณ (1)

  09 เม.ย. 2009 - 00:00:00.  หมวด: ชีวิต  ป้าย:

ผมหยิบงานที่ผมเขียนถึง 'พ้อเลป่า' ปราชญ์ปกากะญอขึ้นมาอ่านอีกครั้ง หลังทราบข่าวจาก 'หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง' ว่า 'พ้อเลป่า' เสียชีวิตอย่างสงบแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา... ก่อนที่ผมและเพื่อนกำลังออกเดินทางไปบนทางสายเก่า สายนั้น...



ที่มาภาพ
: www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=308.105

1.

ก่อนนั้น การเดินทางของผู้คนบนภูเขานั้นต้องเดินด้วยเท้า ก้าวย่างไปบนถนนดิน เส้นทางป่าอย่างเงียบง่าย มิรีบเร่ง มิรีบร้อน ไปมาหาสู่กันในหมู่ญาติพี่น้อง เอาของป่าไปขายในเมือง และกลับคืนมาสู่หมู่บ้านกลางป่าพร้อมของใช้ที่จำเป็นบางอย่าง
ทว่ามาบัดนี้เดี๋ยวนี้ บางสิ่งเริ่มแปลกเปลี่ยนไป เมื่อมีการสร้างถนนคอนกรีต ถนนลาดยางสีดำคล้ายดั่งงูใหญ่ที่เลื้อยลัดเลาะจากเมืองเบื้องล่างหันหน้าข้ามหุบห้วยขุนเขา ดงป่ามาถึงหมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมืองบนภูเขา แล้วเหมือนมีบางอย่างเข้าทำลายและกลืนกินทุกสรรพสิ่ง
ใช่, มันพร้อมกับความเปลี่ยน ความโลภและความเร็ว!
เมื่อหลายเดือนก่อน, ผมและผองเพื่อนอีกห้าชีวิต มีโอกาสได้เดินทางไปเยือนรังผู้เฒ่าปกากะญอ "พ้อเลป่า" ณ หมู่บ้านแม่แฮใต้ บนดอยสูงในเขตอำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่
นาม "พ้อเลป่า" นั้นหลายรู้จักมักคุ้นกันดี ว่าคือผู้เฒ่านักเขียนปกากะญอผู้ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยใช้ถ่านไม้สีดำข้างเตาไฟ นำมาขีดเขียนบนฝากระดานไม้ ด้วยตัวหนังสือ ปกากะญอที่คิดค้นกันมาในภายหลัง ก่อนที่ 'วีรศักดิ์-กัลยา ยอดระบำ' นำมาถ่ายทอดแปลเป็นภาษาไทยให้เราได้อ่านได้เรียนถึงคมความคิด วิถีปรัชญาปกากะญอว่าแหลมคมและสอดคล้องสัมพันธ์ กับวิถีธรรมชาติและโลกนี้เพียงใด
หากทว่า พ้อเลป่า ในห้วงวัยชรายามนี้ ไม่อาจนั่งขีดเขียนได้เหมือนเก่าก่อน เพราะสังขารและความชราโรยนั้นเข้ามาเยี่ยมเยือนชีวิต
"สายตาบ่ค่อยดีแล้ว เพ่งผ่อเมินบ่ได้ น้ำตามันจะไหล" พ่อเฒ่ากับเราในยามเย็นย่ำของชีวิต
แต่นั่นไม่เป็นสำคัญมากนัก เมื่อขีดเขียนหนังสือไม่ได้ แต่การนั่งพูดคุย สนทนากัน แล้วมีคนนำไปเขียนบันทึกเรื่องราวเก็บไว้มันย่อมมีคุณค่าอยู่ในตัวหนังสือ
"เป็นเขียนหนังสือแม่นก่อ เขียนต่อไปนะอย่าหยุด ผมจะบอกกับนักเขียนที่มาเยี่ยมเยือนเสมอว่า ถึงตายไป แต่หนังสือนั้นยังพูดได้ ตัวหนังสือไม่มีวันตาย" พ้อเลป่าเอ่ยย้ำอยู่อย่างนั้น
ทำให้ผมอดครุ่นคิดคำนึงไปถึงนักเขียนอาวุโสอีกท่านหนึ่ง ซึ่งความป่วยไข้เข้ารุมเร้าชีวิต จนครั้งนั้น ท่านไม่สามารถจับดินสอ ปากกา ขีดเขียนเป็นตัวหนังสือได้ ทว่าหัวใจนั้นยังแกร่งและเปี่ยมศักดิ์ศรีแห่งนักเขียน ไม่ยอมแพ้ แม้มีนักเขียนคนหนึ่ง เคยเอ่ยกับท่านว่า ช่วยบอกเล่าด้วยคำพูดแล้วเขาจะช่วยจดบันทึก ลงในกระดาษให้ หากนักเขียนอาวุโสคนนี้กลับแกร่ง มิยอมจำนน นานนัก- -กับการพยายามอดทนต่อสู้กับความป่วยไข้ ที่สุด ท่านก็กลับมาขีดเขียนหนังสือได้- -ดุจอินทรีผู้กางปีกกล้าบินอยู่เหนือดอยสูงอีกครั้ง
อากาศหนาวห้วงนั้น แปรปรวนเปลี่ยนไปไม่เหมือนแต่ก่อน เมื่อวานฝนตกกระหน่ำ หนักหน่วง วันนี้อาการจึงร้อนอบอ้าวมากยิ่งขึ้น
"ผมว่าที่โลกร้อนนั้น อาจเป็นเพราะโลกเฮา เมืองเฮามีถนนปูนเพิ่มมากขึ้น"พ่อเฒ่าเอ่ยรำพึงกับเรา เมื่อหลายคนบ่นถึงธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม
อาจจริง- -อย่างพ่อเฒ่าพ้อเลป่าพูดถึง ถนนปูน ถนนคอนกรีตนั้นเหมือนอยากสื่อความหมายถึง การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง จึงทำให้โลกเปลี่ยน ธรรมชาติเปลี่ยน เช่นทุกวันนี้!