วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

ชีวิต "โอทอง คำอินซู" "ฮุ่งอะลุน แดนวิไล" ซีไรต์ "ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ"



 

ชีวิต "โอทอง คำอินซู" "ฮุ่งอะลุน แดนวิไล" ซีไรต์ "ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ"
“ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ” เป็นชื่อผลงานเขียนเรื่องสั้นที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการอนุรักษ์ปกป้องมรดกทางด้านวัฒนธรรมการแต่งกาย ใช้ภาษาที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่กลับสะท้อนภาพสังคมของประเทศ ณ ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และส่งผลให้นักเขียนคว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์และยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ “ซีไรต์” ประจำปี 2008 ที่สำคัญคือมิใช่งานเขียนไทย-นักเขียนไทย หากแต่เป็นนักประพันธ์ชาวลาว

“โอทอง คำอินซู” เจ้าของนามปากกา “ฮุ่งอะลุน แดนวิไล”

โอทองเปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการเขียนผลงาน “ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ” ว่า เกิดจากการที่เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งได้นำเอาซิ่นเก่ามาให้ดู แล้วบอกว่าซื้อมาได้ในราคาถูก แต่พอกลับถึงบ้านกลับได้ยินคนแถวบ้าน บอกว่าได้ขายซิ่นไปในราคาแพง คุณภาพของซิ่นก็เหมือน ๆ กัน คนหนึ่งบอกว่าแพง แต่อีกคนหนึ่งกลับบอกว่าถูก

“เลยคิดว่าทั้งสองเรื่องนี้สามารถเกาะเข้าเป็นเรื่องเดียวกันได้ โดยนำเอาซิ่นไหมไปเปรียบเทียบเรื่องราคา กับเรื่องของมูลค่า ศิลปะที่โดดเด่น จึงได้นำมาเขียนเป็นเรื่องที่มีแม่คนหนึ่งขายซิ่นเก่าแลกกับซิ่น โรงงานในราคา 4 พันกีบ เพราะอยากได้ซิ่นใหม่มานุ่ง แต่ในเวลาเดียวกันลูกสาวที่เรียนในเวียงจันทน์ได้ไปเห็นซิ่นไหมเก่าและได้ซื้อมาในราคาที่แพงเพื่อนำไปเป็นของขวัญให้แม่ พอแม่เปิดออกดูถึงได้รู้ว่าเป็นซิ่นเก่าของแม่ที่ขายไปในราคาถูก แต่ลูกกลับไปซื้อมาในราคาแพงกว่าที่ขายไป 3 เท่า เพราะมองเห็นคุณค่าความงามของซิ่น”

กับที่มาที่ไปของชีวิต โอทอง คำอินซู เขาเกิดวันที่ 5 มิ.ย. 2505 ที่บ้านนาคูนน้อย เมืองนาซายทอง นครเวียงจันทน์ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาภาษาลาวและวรรณคดี จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ด้านชีวิตคู่ แต่งงานกับ ไพวัน บุนทะวง มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนชื่อ ด.ญ.พอนพิลุน คำอินซู

เขาเริ่มจับงานเขียนตั้งแต่กำลังเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอุดมอี่ไล่ โดยเริ่มเขียนเรื่องสั้นและบทกวีติดที่ซุ้มข่าวของโรงเรียน จากนั้นก็เริ่มส่งผลงานไปประกวดจนได้รับรางวัล และได้มีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เข้ามาทาบทาม บอกให้เขียนเรื่องส่งไปให้ดูบ้าง โอทอง คำอินซู จึงได้เริ่มงานเขียน อย่างจริงจัง

ปี 2528 เริ่มเข้าสู่วงการนักเขียนเต็มตัว โดยการเริ่มเขียนเรื่องสั้น “อยากเป็นครู” ส่งเข้าประกวด และชนะเลิศในการประกวดเรื่องสั้นสำหรับเด็ก ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ศึกษาใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ

ปัจจุบัน โอทอง คำอินซู ดำรงตำแหน่งหัวหน้าอำนวยการ และบรรณาธิการวารสารวรรณศิลป์ มีผลงานรวมเรื่องสั้น 2 ชุด ได้แก่ ชุด สาวยาสูบ และ “รอยยิ้มที่ไม่มีกลิ่นเหล้า” มีผลงานหนังสือรวมบทกวี 5 ชุด ได้แก่ น้ำใจ, ทุ่งดอกหญ้า, นิทาน คำกลอน, ดาวประดับดิน, คำกลอนสอนใจ และยังมีผลงานหนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็กที่เป็นเรื่องสั้น นิทาน กาพย์กลอน อีกประมาณ 20 เล่ม อาทิ ไก่น้อยตกหลุม, กอไผ่พูดได้, นับนก, ไก่น้อยขนเหลือง, ชาวนากับหินวิเศษ, ไก่แก้ว, ปลาไหลเผือกทอง ฯลฯ

“ปัจจุบันก็ยังเขียนอยู่ แต่ไม่มากเท่ากับเมื่อก่อน เพราะต้องทำงานเป็นบรรณาธิการวารสารวรรณศิลป์ของกระทรวงวัฒนธรรม ต้องดูแลงานเขียนทั้งของตัวเองและคนอื่นไปด้วย ที่อยากเป็นนักเขียนก็เพราะอยากสื่อแนวคิดในจิตใจของเราให้คนอื่นได้รับรู้ เพราะคิดว่าถ้าเรามานั่งพูดให้กันฟังก็ได้ยินกันเพียงไม่กี่คน แต่ถ้าเราเขียนเป็นหนังสือ เป็นบทความ เวลาจำหน่ายออกไป มันก็จะมีหลายคนได้รับรู้ ได้อ่าน

ยกตัวอย่างเช่น ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ จากที่อ่านกันในประเทศเป็นร้อยเป็นพันคน แต่พอได้แปลมาเป็นภาษาไทย ก็ให้คนไทยได้อ่านอีก และถ้าได้แปลเป็นภาษาอื่น ก็จะมีคนอื่นได้อ่านอีก ก็คิดว่าข้อคิดของเราทำให้หลายคนรับรู้ คิดว่าอาชีพนักเขียนช่วยสื่อแนวคิดของเราให้ผู้อื่นได้รับรู้ได้” โอทองกล่าว

ผลงานเขียนของ โอทอง คำอินซู นั้นมีมากมาย ทั้งเรื่องสั้น กาพย์กลอน และสารคดี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวันใกล้ตัว วิถีชีวิต และวัฒนธรรมต่าง ๆ และแน่นอนว่าผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดนั้นหนีไม่พ้น “ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ” ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2008

จินตรัย หรือ ปราโมทย์ ในจิต ผู้แปล “ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ” เป็นภาษาไทย พูดถึงงานเขียนชิ้นนี้ว่า ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ ไม่มีกลิ่นอายของการเมือง และสังคมนิยม แต่จะเป็นเรื่องของวิถีชีวิต มนุษย์นิยม และวัฒนธรรม ส่วนถ้าจะพูดกันถึงเรื่องรางวัลซีไรต์ ในประเทศลาวก็จะดู เงียบ ๆ เพราะคนอ่านส่วนมากจะเลือกด้วยทรรศนะส่วนตัว หนังสือที่ได้รางวัลก็มักจะไม่มีการขึ้นปก เพราะรางวัลไม่มีอิทธิพลต่อการเลือกอ่านของนักอ่านลาว

ทั้งนี้ ก่อนจะได้รับรางวัล ซีไรต์ ผลงานซิ่นไหมผืนเก่า ๆ เคยได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษลงในหนังสือรวมเรื่องสั้นอาเซียนมาก่อน ทำให้ โอทอง คำอินซู มีโอกาสได้ไปร่วมประชุมนักเขียนอาเซียนที่ประเทศมาเลเซีย และได้พบกับบรรณาธิการหนังสือซึ่งเป็นคนฟิลิปปินส์ ซึ่งสนใจในเรื่องนี้มาก

โอทอง คำอินซู บอกว่า มักจะถูกถามว่าทำไมถึงได้เลือกเอาตัวลูกสาวมาเป็นผู้มีแนวคิดในด้านอนุรักษ์วัฒนธรรม เพราะปกติแล้วเรื่องการอนุรักษ์มักเป็นแนวคิดของคนสูงอายุ เขาก็ได้ตอบกลับไปว่า “ถ้าให้คนสูงอายุเป็นคนที่มีแนวคิดนี้ ก็อยู่ไม่ได้นาน เลยอยากฝากให้คนหนุ่มสาวคิดเรื่องการปกป้องวัฒนธรรม สิ่งที่มีคุณค่า คิดว่าถ้าเป็นแนวคิดของคนหนุ่มสาว จะได้รับการปฏิบัติมากกว่า”

และแม้ว่ารางวัลซีไรต์จะเป็นรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับโอทอง แต่เขาบอกว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความภูมิใจให้กับเขามากกว่า นั่นก็คือการที่ผู้อ่านทั่วไปได้ให้ความสนใจกับผลงาน ของเขา

“รางวัลที่ได้มาเป็นเพียงผลการตัดสินของคณะกรรมการเพียงกลุ่มเดียว ไม่ใช่ผู้อ่านทั่วไป คิดว่าเพียงเท่านี้ยังไม่พอ อยากให้ผู้อ่านทั่วไปได้ตัดสิน ดังนั้น การที่ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ก็ยิ่งทำให้มีความภาคภูมิใจมากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากคนลาวแล้ว คนไทยก็จะได้อ่าน แล้วก็จะได้เห็นถึงคุณค่าของมัน” เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของนักเขียนลาว “โอทอง คำอินซู”

เจ้าของนามปากกา “ฮุ่งอะลุน แดนวิไล”.

หากจะให้เปรียบเทียบวงการนักเขียนลาว กับประเทศอื่น ๆ โอทอง คำอินซู บอกว่า คงจะดูห่างไกลกันมาก แต่หากให้เปรียบเทียบกับวงการนักเขียนไทย เขาคิดว่าคงใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน อย่างเช่นเรื่องของวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมของลาวอาจดูเงียบกว่าของไทย เนื่องจากเวทีที่ใช้แสดงผลงาน อย่างเช่น วารสาร หนังสือพิมพ์ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ มีน้อย

“นักเขียนบางคนมีผลงานมากแต่ไม่มีโอกาสได้ตีพิมพ์ เขียนแล้วก็เก็บไว้ในลิ้นชัก ไม่มีโอกาสได้เผยแพร่ ผลงานที่ได้ตีพิมพ์ก็ไม่มีโอกาสได้โฆษณา เพราะงบประมาณโฆษณามีน้อย ไม่มีงานเปิดตัวหนังสือเหมือนอย่างประเทศไทย อาจเนื่องมาจากนักอ่านลาวมีประชากรน้อย คิดเป็น 1 ใน 10 ของประชากรไทย ทำให้ยอดพิมพ์น้อยกว่าที่พิมพ์ในไทย การจัดจำหน่ายก็อยู่ในวงแคบ จำกัดอยู่ในนครหลวงเวียง จันทน์เท่านั้น”
 

เชาวลี ชุมข่าว : รายงาน
สุรเชษฎ์ วัชรวิศิษฎ์ : ภาพ
 


Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.