วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11357 มติชนรายวัน
อย่าลืม...ปลูกจิตสำนึก!
โดย สุชาย จอกแก้ว
ด้วยเหตุแห่งปัญหา และด้วยเหตุแห่งปัจจัยทั้งหลายที่รุมเร้ารัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ยากที่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอยู่คนเดียวได้ จำเป็นที่จะต้องอาศัยผู้คน กลุ่มบุคคล องค์กร และหน่วยงานของรัฐทั้งหลาย เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหา ดังบาลีว่า "สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ทำให้เกิดสุข"
การแก้ปัญหา นอกจากจะต้องระดมคน ระดมความคิดเห็นกันแล้วจำเป็นจะต้องมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ มีหลักการคิด มีวิธีการคิด มีแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดมรรคผลที่ดี ที่ถูกต้อง ที่เหมาะสมต่อไป
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วางกรอบแนวนโยบายด้านศาสนา สังคม สาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรมไว้อย่างค่อนข้างละเอียด
มีผู้คนถามกันว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ใช้นโยบายด้านสังคม และวัฒนธรรม "ปลูกจิตสำนึก" เพื่อแก้ไขปัญหาชาติ กันหรือยัง
รัฐธรรมนูญมาตรา 80 ระบุว่ารัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม...(6) "ส่งเสริมและสนับสนุนความรู้รักสามัคคี และการเรียนรู้ปลูกจิตสำนึก และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ตลอดจนค่านิยมอันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่น"
เมื่อสังคมแตกแยก จำเป็นที่จะต้อง ปลูกจิตสำนึก ให้ผู้คนรักแผ่นดินเกิด กตัญญูต่อแผ่นดิน กตัญญูต่อชาติ
การปลูกจิตสำนึกมีหลายวิธี ทั้งการพูด การกระทำ และการร่วมใจกัน เพลงปลูกจิตสำนึก ก็มีมากมาย โดยเฉพาะเพลงชาติ สื่อความหมายของความเป็นชาติได้อย่างดี เพลงลูกเสือเนตรนารี หรือเพลงอื่นๆ ที่สื่อความหมายให้ผู้คนรู้สึกรักแผ่นดินก็มีมากมาย
เมื่อร่วมใจกันได้แล้ว ก็ร่วมกระทำร่วมปฏิบัติต่อกัน ร่วมฟื้นฟูแผ่นดินกันใหม่ให้น่าอยู่ ร่วมประสานไมตรีจิตต่อกัน ศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ ก็คือสถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์
นอกจากนี้ ก็ยังมีสถาบันปลีกย่อยอีกมากมาย เริ่มตั้งแต่ สถาบันครอบครัว การศึกษา ชุมชน องค์กรท้องถิ่น องค์กรสาธารณกุศลทั้งหลาย เป็นต้น
ถ้าร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์ความสามัคคี ก็มิใช่เรื่องยากแต่อย่างใดเลย น่าจะทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อบรมคนว่างาน นอกจากอบรมหลักวิชาชีพแล้ว ต้องอบรมคุณธรรม จริยธรรม ความรู้รักสามัคคีกันด้วย แจกเงินแล้ว ก็ต้องแจกจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมด้วย ต้องช่วยเหลือกัน
เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองยิ้ม เมืองรักสงบ ทำอย่างไรจะปลูกจิตสำนึกให้กลับมายิ้มต่อกัน และรักที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้
รัฐธรรมนูญมาตรา 87 ยังวางแนวนโยบายให้รัฐต้องดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกมากมาย โดยให้รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนรวมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ เป็นต้น
ปัญหาของสังคม ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อวิทยุโทรทัศน์มีส่วนขยายความรุนแรงทางการเมือง ข้อเสียของสื่อในทางการเมือง นั่นก็คือ สื่อสามารถระดมความคิดของคนที่เสพติดสื่อให้คล้อยตามได้ ปลุกกระแสความเชื่อความนิยมได้
ดังนั้น เมื่อสื่อมีส่วนขยายความรุนแรงทางการเมือง ก็ต้องแก้ปัญหาให้สื่อช่วยสมานรอยแผลความแตกแยกทางการเมือง โดยการให้สื่อช่วยเป็นกลาง สื่อต้องไม่มีอคติ สื่อต้องรักษาจรรยาบรรณแห่งความเป็นกลาง อันเป็นหัวใจสำคัญของสื่อ
รัฐควรที่จะกำหนดบทบาทให้สื่อควรนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสังคม การเมือง ที่เป็นกลาง หากสื่อใดก้าวล่วงความเป็นกลาง ก็ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัด
ในส่วนของการเมือง ก็มีผู้คนเขาเสนอความคิดกันมาว่า ถ้าจะให้อีกฝ่ายยอมหย่าศึก ก็จะต้องให้เขามีส่วนได้รับผลประโยชน์ด้วยเช่นกันไม่มากก็น้อย เรื่องทั้งหลายก็อาจจะคลี่คลายลงได้ ถ้าผลประโยชน์ลงตัวซะอย่าง มีหรือที่ศัตรูจะไม่กลับกลายมาเป็นมิตร (เหมือนที่ทำกันมาแล้ว)
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อยากให้รัฐปลูกจิตสำนึกของคนในสังคมที่แตกแยก ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาปากท้อง มิใช่แก้ไขปัญหาปากท้องทางร่างกายเพียงอย่างเดียวก่อน แล้วจึงค่อยมาแก้ไขปัญหาจิตใจกันในภายหลัง ซึ่งแม้กายจะสบาย แต่จิตใจยังเศร้าหมองอยู่ แล้วชีวิตหรือประเทศชาติจะสงบสุขได้อย่างไร
"จิตฺเต สงฺกิลิฏเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง"
หน้า 7
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act04140452§ionid=0130&day=2009-04-14
-