คงไม่ผิด หากจะกล่าวว่า "อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์" เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง และมีบทบาทสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระดับประเทศ แต่การทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เติบโตและแข่งขันอย่างยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องมีกลไกในการบริหารและจัดการที่ดี เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ TMC โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) จึงผลักดันให้บริษัทซอฟต์แวร์ของไทยมีมาตรฐานผ่านโครงการโครงการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ SPI@ease ประโยชน์ที่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับ คือ ทุนสนับสนุนถึง 70% ของค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมและรับการประเมิน CMMI (Capability Maturity Model Integration) ที่ ถูกพัฒนาขึ้น โดยสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ Software Engineering Institute (SEI) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ในประสิทธิภาพของ CMMI ที่สามารถสร้างระบบและกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ยังก่อให้เกิดศักยภาพในการแข่งขันและสร้างมูลค่าทางการตลาด ด้วยกระบวนการที่เกิดจากประโยชน์ของเทคโนโลยี... ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้รายละเอียดว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีบริษัทที่ผ่านการประเมิน CMMI ทั้งสิ้น 27 แห่ง โดยเป็นบริษัทในโครงการ SPI@ease ถึง 18 แห่ง คิดเป็น 70% ของบริษัททั้งหมดที่ผ่านการประเมินฯ ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีครึ่ง ถือว่าได้รับความสำเร็จเป็นอย่างสูง คาดว่า ภายในสิ้นปี 2552 จะมีบริษัทที่ผ่านการประเมิน CMMI ไม่น้อยกว่า 40 บริษัท ขณะเดียวกัน ยังสามาถสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทย ให้กลายเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากลมากขึ้น ด้าน นายพยัคฆินทร์ ศาสตระรุจิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรีนีตี้ เอ็นเทอร์ไพรซ์ โซลูชั่น จำกัด ผู้ให้บริการด้านไอซีทีและโซลูชัน เปิดเผยหลังผ่านการประเมิน CMMI Level 2 ว่า บริษัทฯ เล็งเห็นประโยชน์จากการทำมาตรฐาน CMMI ที่ช่วยให้สามารถทำงานได้ครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ และกำหนดมาตรฐานแก่คู่ค้า รวมทั้ง ช่วยสร้างมาตรฐานในการทำงานขององค์กร ทำให้บริษัทฯ เข้าร่วมโครงการ SPI@ease ของซอฟต์แวร์พาร์ค และพัฒนามาตรฐาน CMMI เป็น Level 2 หลังจากบริษัทฯ ผ่านการประเมินตามมาตรฐาน CMMI ได้เพิ่มบริการอีก 2 ประเภท คือ Solution Implementation การเพิ่มบริการด้านอุปกรณ์ที่ครบครัน และ Software as a Service (SaaS) การให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้บริษัทฯ สามารถเพิ่มบริการและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่บริษัทคู่ค้าและลูกค้าได้เป็นอย่างดี ส่วน นายบุญประสิทธิ์ ตั้งชัยสุข ผู้จัดการ บริษัท เอ-โฮสต์ จำกัด อีกหนึ่งบริษัทที่ผ่านมาตรฐาน CMMI Level 2 อธิบายว่า บริษัทฯ ให้บริการ 3 ด้านหลักเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ได้แก่ บริการโฮสติ้งและเอาต์ซอร์สเซอร์วิส บริการให้คำปรึกษา และบริการด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทำให้บริษัทฯ เข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย และร่วมโครงการ SPI@ease ในปี 2550 เพื่อสร้างขีดความสามารถและผลักดันศักยภาพของหน่วยงานให้เทียบเท่าต่างประเทศ โดยโครงการดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ พบจุดแข็งและจุดอ่อนในการดำเนินงาน ส่งผลให้ทราบถึงความสามารถและประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ถึงวิธีการคิดแก้ปัญหาที่เป็นระบบ และนำประยุกต์ใช้ในการวางแผนงานต่างๆ ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ประเมินผ่านมาตรฐาน CMMI Level 3 จากโครงการฯ ดังกล่าวอีก 2 ราย คือ บริษัท อ๊อปติมัส ซอฟต์ จำกัด และบริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด โดย นายสัมฤทธิ์ ตรงตรานนท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ๊อปติมัส ซอฟต์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า บริษัทฯ ดูแลด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ รูปแบบการให้บริการจะเน้นที่อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารและโทรคมนาคมเป็นหลัก ซอฟต์แวร์ที่ให้บริการจึงเกี่ยวกับการติดตั้งระบบฝาก-ถอน ปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านการจัดเก็บเอกสารหลักประกันต่างๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าประหยัดเวลาในการค้นหาเอกสารและสร้างระเบียบในการจัดการ ผจก.ทั่วไป บ.อ๊อปติมัส ซอฟต์ ให้ข้อมูลต่อว่า มาตรฐาน CMMI Level 3 ถือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการทำงาน ในส่วนงานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ และครอบคลุมถึงมาตรฐานโดยรวมขององค์กร ทำให้บริษัทตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ และผ่านมาตรฐานในปี 2551 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน บุคลากรทุกคนในบริษัทก็ยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรว่า มีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น ด้วยมาตรฐานระดับโลก นับเป็นการสร้างมูลค่าทางการตลาดให้แก่บริษัทอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้บริษัทคู่ค้าและลูกค้าด้านไอทีให้การยอมรับบริษัท ทำให้เกิดความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร ภายในปี 2555 บริษัทฯ ตั้งเป้าจะทำ CMMI Level 5 ที่มีมาตรฐานตรงกับการทำงานของบริษัทมากขึ้น ขณะที่ นายกิตติพงษ์ จงประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด ชี้แจงว่า บริษัทฯ มุ่งพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปด้านการบริหารการเงิน การลงทุน และบริหารความเสี่ยงภายใต้ผลิตภัณฑ์ BONANZA โดยใช้บริหารการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ มีกลุ่มลูกค้าที่สำคัญ อาทิ บริษัทจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย ประกันชีวิต ธนาคารชั้นนำของไทย และธนาคารระดับโลก การพัฒนาซอฟต์แวร์จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานเป็นหลัก สาเหตุดังกล่าว ทำให้บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการทำมาตรฐาน CMMI ด้วยความสำคัญของการทำงานที่เป็นระบบ และผ่านการประเมินมาตรฐานใน Level 2 ตั้งแต่ปี 2545 นอกจากนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายสู่การประเมิน CMMI ใน Level 4 และ 5 ภายในปี 2554 จากประโยชน์และประสิทธิภาพที่พิสูจน์ได้ ทำให้ CMMI กลายเป็นวัฒนธรรมของหลายๆ องค์กร ที่ต้องการให้บุคลากรในหน่วยงานของตนทุกคน ด้วยขั้นตอนการปฏิบัติงานและการทำงานที่ชัดเจน ส่งผลให้ปัญหาต่างๆ ในการดำเนินงานลดลง แน่นอนว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการประเมิน CMMI ในแต่ละ Level สามารถยืนยันและช่วยให้ลูกค้ายอมรับใน "มาตรฐาน" ที่เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่เพียงแค่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ แต่ยังหมายรวมถึง ทุกๆ อุตสาหกรรม ที่มีความฝันและหวังจะพัฒนาศักยภาพให้แข็งแกร่งเทียบเท่านานาประเทศ แม้เศรษฐกิจจะยังอยู่ในภาวะชะลอตัว สถานการณ์ทางการเมืองจะยังไม่มีจุดจบแห่งความชัดเจน แต่ความตั้งใจของทั้งภาครัฐและเอกชนในวันนี้ คงสร้างความมั่นใจและชัดเจนของบรรดาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ที่จะปรับเปลี่ยนให้ธุรกิจของประเทศกลับมามีแนวโน้มที่สดใส และผงาดไปสู่ตลาดระดับโลกได้ในเร็ววัน... ปิยุบล ตั้งธนธานิช itdigest@thairath.co.th
http://www.thairath.co.th/news.php?section=technology03a&content=132951 |