วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

บทแรกของ โตเกียว ทาวเวอร์ แม่ กับผม กับพ่อบ้าง

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11357 มติชนรายวัน


บทแรกของ โตเกียว ทาวเวอร์ แม่ กับผม กับพ่อบ้าง





หนังญี่ปุ่น ๑๑ ตอนชุดนี้เป็นอีกเรื่องที่ไม่น่าพลาดชม แพร่ภาพที่บ้านเขาตั้งแต่ต้นปี ๒๐๐๗ แล้วจบลงเดือนมีนาคม มีผู้ติดตามชมมากมายจนเป็นที่กล่าวขวัญว่า "โตเกียว ทาวเวอร์" เป็นความรักระหว่างแม่ลูกที่จะอยู่ในความทรงจำของผู้คนไปอีกนาน ไม่แพ้หนังประทับใจเรื่องอื่นๆ

ความรักระหว่างแม่ลูกนั้น ในความคิดของคนทั่วไปหรือนักดูหนังดูละคร หรือแม้แต่นักอ่าน อาจเป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่เห็นได้รอบตัว ซึ่งในทางกลับกัน เรื่องธรรมดาสามัญนี้จะนำมาเขียนเป็นเรื่องหรือทำเป็นภาพให้น่าสนใจได้อย่างไร เป็นงานที่ทั้งผู้ผลิตและผู้ส้องเสพรู้ว่าทำได้ไม่ง่ายนัก

โดยเฉพาะทำให้ติดตามได้อย่างกับเรื่องนั้นเป็นเรื่องของเราเอง

"เอโกะ" ซึ่งสวมบทโดย "บาอิโช มิตสึโกะ" เป็นแม่ที่แยกมาเลี้ยงลูกชายคนเดียวตั้งแต่เล็ก แม้สามี "อิสุมิยะ ชิเกรุ" จะอยู่เมืองใกล้ๆ กันในฟุกุโอกะ ก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไร

เริ่มแรกเธออาจจำเป็นต้องกลับไปอยู่กับแม่ที่บ้านเดิม แม่ซึ่งไม่อยากพูดไม่อยากมองหน้าเธอ หลังเธอจากมาเองเพราะมีครอบครัว แต่ไม่นานเธอก็พาลูกไปปัดกวาดคลีนิคร้าง อาศัยเป็นที่อยู่ถาวรได้ กระทั่ง "มาคุง" หรือ "ฮายามิ โมโกมิชิ" เด็กขี้อายติดแม่ที่วิ่งหนีจากโรงเรียนกลับบ้านตั้งแต่วันแรก เติบโตเป็นหนุ่ม

เธอทำงานหนักทุกอย่างชนิดหนักเอาเบาสู้ เพื่อเก็บเงินทุกเยนไว้ให้ลูก ไม่ว่าจะสำหรับอยู่กินหรืออนาคตในการศึกษา



แต่เมื่อเด็กผู้ชายติดแม่เป็นวัยรุ่นขึ้นมา จากเด็กที่ต้องการความอบอุ่นและการดูแลจากแม่ทุกอย่าง เช่นตื่นมาต้องเหลียวหาแม่ จนเห็นหรือรู้ว่าแม่ทำอะไรอยู่จึงจะหลับต่อได้

การดูแลใกล้ชิดก็กลับเป็นการวุ่นวายรบกวนชีวิตของตัวเองไป

ตั้งแต่คอยปลุกให้ไปโรงเรียนตอนเช้า ทำความสะอาดห้อง เตรียมอาหารการกิน ทำข้าวห่อไปโรงเรียน ฯลฯ กลายเป็นเรื่องเดือดร้อนรำคาญใจ จะชอบก็แต่ตอนแม่ซื้อมอเตอร์ไซค์หรือสกูตเตอร์ให้อย่างนั้น

กระทั่งออกมาส่งหน้าบ้านบอกให้เดินไปโรงเรียนดีๆ ก็เป็นเรื่องอายเพื่อนบ้านที่ผ่านมาพบเห็น

ถึงตอนนี้ผู้ชายหลายคนคงกระหวัดระลึกชาติเช่นเดียวกันนี้ได้ ว่าแม่ที่เรากอดรัดหอมแล้วหอมอีกตลอดเวลาที่ยังเป็นเด็กนั้น กลายเป็นผู้สร้างความอับอายให้กับตัวเองได้ ต่อหน้าเพื่อนๆ หรือในที่สาธารณะ หากดูแลอย่างมีความห่วงใยใกล้ชิด จนทำให้ตัวเอง (ซึ่งรู้สึกว่าโตไม่ใช่เด็กแล้ว) ละอายสายตาผู้คน ว่าอาจเห็นตนเป็นลูกแหง่ไปได้

นั่นคือแม่ไม่เคยเปลี่ยน แต่ลูกค่อยๆ เปลี่ยนไปแล้ว

หากย้อนหวนทวนความทรงจำ มีใครบอกได้บ้างว่าไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ความรู้สึกที่ครั้งหนึ่งเคยมองแม่ด้วยสายตารำคาญว่า อย่ายุ่งมากได้ไหม

มาคุงซึ่งทำอะไรไม่เป็น และต้องตะโกนเรียกแม่ทุกครั้งที่เห็นแมลงสาบในบ้าน จึงเริ่มหงุดหงิดพูดอะไรกับแม่ไม่ได้นาน และทุกครั้งที่พูดก็เต็มไปด้วยอารมณ์ไม่พอใจ จนชักอยากออกจากบ้านไปเร็วๆ เพื่อตามหาความฝันของตัวเองในโตเกียว

เมืองหลวงที่เห็นแต่ในนิตยสาร ซึ่งรู้ว่าต่างจากบ้านนอกของตัวลิบลับ

ตั้งใจจะพกเอาแต่เพียงความสามารถในการขีดเขียนภาพ ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะ ขณะเดียวกันก็จะได้อยู่คนเดียวห่างไกลการเจ้ากี้เจ้าการของแม่ ถึงขนาดไม่ยอมพูดกับแม่ ไปขอยืมเงินค่าเดินทางจากน้าสาว

แต่ในที่สุด แม่ก็ยอมให้ไป โดยซื้อตั๋วรถไฟให้ หลังจากที่พ่อซึ่งเคยไปแสวงอนาคตที่โตเกียวแต่ไม่สำเร็จ เรียกไปไต่ถามเจตนาจนแน่ใจแล้วบอกว่า ทำโตเกียวให้เป็นที่ทางของตัวเองให้ได้

บ้านนอกเข้ากรุงมาคุง ตื่นเมืองซึ่งมลังเมลืองแต่แรกเห็น ตื่นคนทั้งคนญี่ปุ่นจำนวนมากด้วยกันเอง และชาวต่างชาติที่ไม่เคยเห็นตัวเป็นๆ ตื่นเพื่อนที่ต้องใช้เงินจำนวนมากจับจ่ายใช้สอยให้ใกล้เคียงหรือทันเขา ทั้งๆ รู้ว่าแม่ทำงานสายตัวแทบขาดกว่าจะได้มาแต่ละเยน

ท้ายที่สุดคือตื่นความจริงในแง่ที่ว่า กระทั่งความสามารถที่มหาวิทยาลัยรับเข้ามาศึกษา แต่เอาเข้าแล้ว การขีดเขียนที่เป็นความเก่งกาจเฉพาะของตัวนั้น ยังไม่ได้มาตรฐานอย่างเพื่อนนักศึกษาที่ได้ฝึกฝน หรือร่ำเรียนพิเศษกันมา

มาคุงจึงเป๋ไป ไม่เรียน นำเงินที่แม่ส่งให้ไปลงทุนลมๆ แล้งๆ ตามโฆษณา จนท้ายสุดต้องบอกแม่ว่าจะไม่เรียนแล้ว ซึ่งกระทบกระเทือนใจมารดาที่สุด

แม่พูดด้วยความรู้สึกลึกซึ้งสองสามคำ ก่อนจะบอกให้กลับไปเรียนต่อ

และที่สถานีรถไฟ ด้วยข้าวห่อซึ่งแม่เตรียมไว้ตามไปให้ทั้งๆ ที่ห้ามไม่ให้ไปส่ง จดหมาย และเงินที่สอดไว้อีกหมื่นเยน มาคุงต้องเปิดใจรับความรักและห่วงใยอันแรงกล้าที่ตวงวัดไม่ได้ของแม่ในที่สุด

ฟังมายืดยาว ความจริงหากทำเป็นภาพก็สามารถใช้เวลาเพียงไม่กี่ฉาก ก็เข้าใจเรื่องและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ แต่เรื่องไม่มากนี้เองจะใช้รายละเอียดแบบไหน ซึ่งดึงดูดผู้ชมให้ติดตามได้แค่สองตอนแรก ก็ตระหนักถึงประเด็นหัวใจของเนื้อหา

นั่นคือหัวใจแม่ และความรักตอบสนองของลูก

ลูกที่สามารถทำให้โตเกียวกลายเป็นที่ทางของตัวได้ไหม

ความรักอันเปิดเผยของแม่ จะกลับไปเป็นที่ยอมรับของเด็กหนุ่มผู้สงวนท่าทีเหมือนตอนเด็กๆ ได้อย่างไร และความรักที่พยายามงำเอาไว้ของพ่อก็จะมีส่วนด้วยอย่างไรบ้าง

ด้วยนักแสดงไม่กี่คน กับรายละเอียดวัยเด็กและวัยปัจจุบันซึ่งตัดสลับไปมาอย่างได้จังหวะ โตเกียว ทาวเวอร์ก็เป็นงานซึ่งทำให้ต้องติดตาม และเช่นเดียวกับหนังชุดญี่ปุ่นอื่นๆ เพลงประกอบหนังซึ่งขับร้องโดย "โกะบุคุโระ" ก็เป็นเพลงที่แสนจะไพเราะกินใจน่าฟัง

ซึ่งทั้งเนื้อเพลงและบทบรรยายประกอบทั้งเรื่องที่ถ่ายทอดโดย "ฟรีซ" ก็เป็นงานอีกชิ้นที่ทำให้ผู้ชมได้อรรถรสยิ่งขึ้น

ศุกร์หน้ามาติดตามบทหลังของ "โตเกียว ทาวเวอร์" กันต่อ (จบ)


หน้า 24
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01ent01140452&sectionid=0105&day=2009-04-14