วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

Re: สืบสานประเพณีปีใหม่ไทย เล่าขานตำนาน 'นางสงกรานต์'



 สืบสานประเพณีปีใหม่ไทย เล่าขานตำนาน 'นางสงกรานต์'
ประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่ยึดถือและปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงามฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนไทยมาช้านานจวบจนปัจจุบัน
 
เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพันที่มีต่อกันทั้งในครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสนา ทำให้สมาชิกของครอบครัวมีโอกาสมาอยู่ร่วมกันเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา
 
คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤตแปลว่า การผ่านหรือการย้าย โดยการนับระยะเวลาที่เส้นทางของดวงอาทิตย์โคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์จักราศีทั้ง 12 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มดาวราศีเมษ พฤษภ เมถุน กรกฎ สิงห์ กันย์ ตุลย์ พิจิก ธนู มังกร กุมภ์ และมีน การโคจรผ่านกลุ่มดาวแต่ละกลุ่ม จะใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน เมื่อดวงอาทิตย์โคจรผ่าน กลุ่มดาวเหล่านี้ครบทั้ง 12 กลุ่มก็จะได้ระยะเวลา 1 ปีพอดี เป็นวิธี  การนับเดือนที่ใช้กันในประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากอินเดีย เช่น ไทย พม่า เขมร ลาว เป็นต้น
 
วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์หรือวันเริ่มต้นปีใหม่ เพราะจากช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์โคจรผ่านจากราศีมีนเข้าสู่เมษนั้น โลกโคจรเป็นมุมฉากกับดวงอาทิตย์มีกลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันพอดี วันสงกรานต์เป็นวันทำบุญใหญ่ประจำปี มี 3 วันคือ วัน “มหาสงกรานต์” หรือ วันส่งท้ายปีเก่า (วันที่ 13 เมษายน) วันกลางหรือ “วันเนา” (วันที่ 14 เมษายน) วันขึ้นปีใหม่ หรือ “วันเถลิงศก” (วันที่ 15 เมษายน)
 
ประเพณีสงกรานต์ที่สำคัญคือลูกหลานจะนำสิ่งของมาเยี่ยมเยียนและรดน้ำขอพรจากบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย รวมทั้งแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ การสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ได้แก่ การร่วมกันทำบุญให้ทาน การก่อพระเจดีย์ทรายและเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การเล่นสาดน้ำเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงร่วมกัน นอกจากนี้ยังสร้างความรู้สึกผูกพัน กลมเกลียวต่อบุคคลในสังคมเดียวกันและสร้างความรู้สึกหวงแหนในสาธารณสมบัติของสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยการช่วยกัน ทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ตลอดจนอาคารสถานที่ต่าง ๆ ด้วยความสำคัญดังกล่าววันสงกรานต์จึงถือเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” และวันที่ 15 เมษายน ก็ยังเป็น “วันครอบครัว” อีกด้วย
 
กิจกรรมในวันสงกรานต์ คือ การสรงน้ำพระพุทธรูปและพระภิกษุสามเณรโดยใช้น้ำสะอาดหรือน้ำผสมน้ำอบไทย ลอยด้วยดอกไม้สด เช่น ดอกมะลิ ถวายผ้าสบงหรือผ้าไตร การทำบุญตักบาตรตอนเช้า หรือนำอาหารไปเลี้ยงพระที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว การเตรียมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มชุดใหม่ที่สะอาดเรียบร้อย เพื่อไหว้บิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ระหว่างรดน้ำท่านก็จะให้ศีลให้พรแก่ลูกหลาน โดยมักจะมี “ผ้าไหว้” เช่น เสื้อผ้าหรือผ้าขาวม้ามามอบให้ด้วย
 
การทำทานโดยการปล่อยนกปล่อยปลา ฟังเทศน์ ถือศีลปฏิบัติธรรม การก่อพระเจดีย์ทราย โดยขนทรายเข้าวัด แล้วก่อเป็นรูปเจดีย์หรือสัตว์ต่าง ๆ ปักธงหลากสี มีธูปเทียนและดอกไม้เป็นเครื่องบูชาพระเพื่อให้วัดนำทรายไปใช้ในการก่อสร้างและการสาธารณประโยชน์ การเล่นสาดน้ำ โดยใช้น้ำสะอาดและเล่นอย่างสุภาพ เหมาะสมกับกาลเทศะ ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่นและการละเล่นรื่นเริงอื่น ๆ ตามประเพณีของท้องถิ่นนั้น ๆ
 
นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ในวันสงกรานต์ยังมีตำนานเกี่ยวกับนางสงกรานต์ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกวัดพระเชตุพน ซึ่งเล่าขานว่า เศรษฐีคนหนึ่งไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุรา นักเลงสุรามีบุตรสองคนมีผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่งนักเลงสุรานั้นเข้าไปกล่าวหยาบช้าต่อเศรษฐี เศรษฐีจึงถามว่าเหตุใดจึงมาหมิ่นประมาทต่อเราผู้มีสมบัติมาก นักเลงสุราตอบว่า ถึงท่านมีสมบัติก็ไม่มีบุตร ตายแล้วสมบัติก็สูญเปล่า เรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่า ท่านเศรษฐีละอายจึงบวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งอธิษฐานถึงสามปีมิได้มีบุตร
 
อยู่มาถึงวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีจึงพาบริวารไปยังต้นไทรอันเป็นที่อยู่แห่งฝูงนกทั้งปวงริมฝั่งน้ำ จึงเอาข้าวสารล้างน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงขึ้นบูชาพระไทร ประโคมพิณพาทย์ตั้งอธิษฐานขอบุตร พระไทร   มีความกรุณาจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อคลอดแล้วจึงให้ชื่อธรรมบาลกุมาร ปลูกสร้างปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ที่ใต้ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น กุมารเจริญขึ้นก็รู้ภาษานกแล้วเรียนไตรเพทจบ เมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์ บอกมงคลการต่าง ๆ  แก่มนุษย์ทั้งปวง
 
ในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหม องค์กบิลพรหมเดิมว่าเป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อทราบจึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมารสามข้อ สัญญาไว้ว่าถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นว่าข้อ 1.เช้าราศีอยู่แห่งใด ข้อ 2.เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ข้อ 3.ค่ำราศีอยู่แห่งใด ธรรมบาลกุมารขอผลัดเจ็ดวัน ครั้นล่วงไปได้หกวันธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้ จึงนึกว่าพรุ่งนี้จะขอตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม ไม่ต้องการหนีไปซุกซ่อนยอมตายเสียดีกว่า จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรีสองผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น
 
ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรี จึงถามสามีพรุ่งนี้จะได้อาหาร แห่งใด สามีบอกว่าจะได้กินศพธรรมบาลกุมารซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่าปัญหานั้นคืออะไร สามีจึงบอกปัญหาว่า เช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามแล้วจะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นก็กลับไปปราสาท
 
ครั้นรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถามปัญหา ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดานางฟ้าทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นบาทบริจาริกา (นางบำเรอแทบเท้า) ของพระอินทร์มาพร้อมกันจากสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา แล้วบอกว่าเราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟ ก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะทิ้งไว้ในอากาศฝนฟ้าก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้นางฟ้าทั้งเจ็ดนั้น เอาพานมารับศีรษะ แล้วตัดศีรษะส่งให้นาง  ทุงษะธิดาองค์โต นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้ แล้วแห่ทำ ประทักษิณ รอบเขาพระสุเมรุ 60 นาทีแล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑป ถ้ำคันธุลีเขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการ ชื่อภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมูนาดลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ องค์ ครั้นครบถึงกำหนด 365 วัน โลกสมมุติว่าปีหนึ่งเป็นสงกรานต์ นางฟ้าเจ็ดองค์จึงผลัดเวรกัน แล้วแต่ว่าสงกรานต์ปีนั้นตรงกับวันอะไร ถ้าเป็น วันอาทิตย์คือ นางทุงษะ วันจันทร์คือ นางโคราคะ วันอังคารคือ นางรากษส วันพุธคือนางมณฑา วันพฤหัสฯ คือ นางกิริณี วันศุกร์คือ นางกิมิทา วันเสาร์คือนางมโหทร มาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ประทักษิณ เขาพระสุเมรุทุกปีแล้วกลับไปเทวโลก ดังปรากฏเป็นจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนจนกาลปัจจุบัน
 
เรื่องราวทั้งหมดนี้ คือ ความเป็นมาของวันสงกรานต์ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงามของไทยที่ควรสืบสานและอนุรักษ์ฟื้นฟูกิจกรรมอันทรง  คุณค่าไว้ให้ลูกหลานได้ทราบและปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง พร้อมกับความรู้เรื่องกำเนิดนางสงกรานต์ ที่กลายเป็นตำนานเล่าขานมาช้านาน ช่วยให้อนุชนคนรุ่นหลังได้รับทราบและค้นคว้าเรียนรู้สืบไป.
ประกาศสงกรานต์ปีพุทธศักราช 2552
จากคำพยากรณ์โบราณนางสงกรานต์ ปี 2552 ปีนี้สงกรานต์ไทยตรงกับปีฉลู (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุดิน) วันที่ 14 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันจันทร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 5 เวลา 01 นาฬิกา 13 นาที 14 วินาที (ถ้าดูตามปฏิทินสากล วันที่ 14 เมษายน จะเป็นวันอังคาร แต่ ณ ที่นี้ยังนับเป็นวันจันทร์เพราะยังอยู่ในช่วงตีหนึ่ง หากหลัง 6 โมงเช้าไปแล้ว ทางโหราศาสตร์จึงนับเป็นวันใหม่ คือวันอังคาร) นางสงกรานต์ ทรงนามว่า โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหารน้ำมัน พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังพยัคฆะ (เสือ) เป็นพาหนะ  
 
วันที่ 16 เมษายน เวลา 05 นาฬิกา 06 นาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1371 ปีนี้วันเสาร์เป็นธงชัย วันพุธเป็นอธิบดี วันศุกร์เป็นอุบาทว์ วันศุกร์เป็นวันโลกาวินาศ ปีนี้วันจันทร์เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินา จะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร ผลาหารจะอุดมสมบูรณ์ (ธัญญาหาร คือ ข้าวต่าง ๆ / ผลาหาร คือ ผลไม้ต่าง ๆ) เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก

กรวิกา คงเดชศักดา

 

http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=196097&NewsType=1&Template=1



Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.