วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

สถานดูแลผู้สูงอายุไทยไร้มาตรฐาน นักวิชาการแนะรัฐหนุน-อปท.ลงทุน

วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11358 มติชนรายวัน


สถานดูแลผู้สูงอายุไทยไร้มาตรฐาน นักวิชาการแนะรัฐหนุน-อปท.ลงทุน




ร.อ.หญิง ดร.ศิริพันธุ์ สาสัตย์ จากคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัยหลักเรื่องสถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาว สนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า มีการพยากรณ์ว่าในอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2553 จำนวน 499,837 คน ปี 2563 จำนวน 741,766 คน และปี 2573 จำนวน 1,103,754 คน ตามลำดับ ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงต้องการการดูแลเพิ่มขึ้นทั้งการดูแลภายในครอบครัวและสถานบริการ แต่ปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีสถานบริการดูแลระยะยาวในประเทศไทยที่ชัดเจนทั้งจำนวนและประเภทของสถานบริการ ตลอดจนไม่มีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ ควบคุม และตรวจสอบคุณภาพการบริการ อีกทั้งไม่มีหน่วยงานหลักรับขึ้นทะเบียน

ร.อ.หญิง ดร.ศิริพันธุ์กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าในเขตกรุงเทพมหานครมีจำนวนสถานบริการ 68 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 49.28 ซึ่งอาจประมาณได้ว่าผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพฯมีภาวะพึ่งพามากกว่าผู้สูงอายุในภูมิภาค นอกจากนี้ การศึกษาสถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาวทั่วทุกภาคของประเทศ พบว่าไม่ชัดเจนในวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์การรับผู้สูงอายุ และขอบเขตบริการที่ให้ส่วนใหญ่ให้บริการผู้สูงอายุบนหลักการกว้างๆ แต่ละแห่งมีความซ้ำซ้อน และคาบเกี่ยวกันระหว่างสถานดูแลประเภทต่างๆ เช่น สถานสงเคราะห์คนชรามีการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังแฝงอยู่ หรือสถานบริบาล (เนิร์สซิ่งโฮม) มีการผสมผสานระหว่างสถานที่ดูแลช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน และสถานที่ให้การดูแลสำหรับผู้ที่ต้องการการพยาบาล ขณะที่การขึ้นทะเบียนสถานบริการระยะยาวของภาครัฐ ส่วนใหญ่ไม่ขึ้นทะเบียน ส่วนภาคเอกชน หากเป็นสถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาลจะขึ้นทะเบียนกับกองประกอบโรคศิลปะทั้งหมด ส่วนสถานบริบาลมีขึ้นทะเบียนเพียงแค่ร้อยละ 38.5

"ผู้สูงอายุในสถานบริการน่าจะมีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 41.6 พบมากที่สุดในผู้สูงอายุในสถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาลร้อยละ 50 รองลงมาเป็นผู้สูงอายุในสถานบริบาลร้อยละ 43 และบ้านพักคนชราร้อยละ 42.6 จึงเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน มูลนิธิ จัดบริการ อาทิ การรับเข้า กำหนดมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุในสถานบริการดูแลระยะยาวทั้งในภาครัฐและเอกชน กำหนดองค์กรกำกับดูแลและรับขึ้นทะเบียนสถานบริการ จัดอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ และส่งเสริมให้สถานบริการจัดบริการที่หลากหลาย เช่น การดูแลชั่วคราว การดูแลกลางวัน ฯลฯ" ร.อ.หญิง ดร.ศิริพันธุ์กล่าว

หน้า 10

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01lif02150452&sectionid=0132&day=2009-04-15