"อาคารวังแดง" เรียบง่ายตรงไปตรงมา
|
สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทัศนาสถาปัตย์ “วังแดง” หรือ “วังลดาวัลย์” ในกรุงเทพฯ ไปแล้ว อาทิตย์นี้จึงขอพาชมอาคารที่ถูกเรียกด้วยชื่อเดียวกันว่า “วังแดง” ที่ต่างจังหวัดบ้าง โดยขอยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ “เสื้อแดง” ที่กำลังคึกคักอยู่แถวนั้นแต่อย่างใด อาคารวังแดง หรือ หอประวัติมหา วิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ 64 มหา วิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ถนนทหาร ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี “อาคารวังแดง” เป็นอาคารหลังแรกของ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งเดิมคือ “โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมมณฑลอุดร” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 มีราชบุรุษเพิ่ม การสมศีล ทำหน้าที่แทนครูใหญ่ เปิดสอนหลักสูตรครูประกาศนียบัตรมณฑล โดยรับนักเรียนชายที่จบประถมศึกษาปีที่ 4 เข้าศึกษาต่ออีก 2 ปี นักเรียนเหล่านี้เป็นนักเรียนทุนจากจังหวัดต่าง ๆ ในมณฑล สถานที่ตั้งเดิมอยู่ที่บริเวณสโมสรเสือป่ามณฑลอุดร ซึ่งเป็นที่ตั้งชั่วคราว ต่อมาจึงมีการก่อสร้างอาคารเรียนถาวรบริเวณห้วยโซ่ หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในปัจจุบัน ตั้งแต่แรกอาคารหลังนี้ได้ถูกใช้เป็นอาคารอำนวยการหลักของโรงเรียน ภายในประกอบไปด้วยห้องหับต่าง ๆ ซึ่งเคยถูกใช้ประโยชน์มาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน กระทั่งบางครั้งก็เป็นที่พักสำหรับครู ด้วยความที่มีห้องเหลือเฟือ กอปรกับสมัยนั้นบริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่เปลี่ยว ไม่เจริญดังเช่นทุกวันนี้ การได้พักอยู่ในที่เดียวกับที่ทำงานคงเป็นการดีและปลอดภัย ส่วนที่มาของชื่อ “วังแดง” นี้ไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าคงเรียกตามความใหญ่โตของอาคาร และความสลับซับซ้อนของห้องหับ อีกทั้งเรียกตามสีเนื้อไม้ที่ใช้ทำผนังอาคารก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ชื่อวังแดงนี้มิได้เป็นชื่ออย่างเป็นทางการ บางครั้ง ก็มีการเรียกว่า “อาคารกลาง” หรือ “อาคารขุนประสม” ด้วยเช่นกัน ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารนี้ มิได้มีความโดดเด่นทางศิลปกรรมแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นอาคารไม้หลังใหญ่ที่เรียบง่ายตรงไปตรงมา คล้ายบ้านพักอาศัยทั่วไปในแถบอีสาน หรือสถานที่ราชการตามหัวเมืองในยุคนั้น โดยวางแผนผังอาคารแบบสมมาตร 2 ข้างแกนคล้ายรูปตัว H มีบันไดไม้ขนาดใหญ่ขึ้นที่กึ่งกลาง และมีระเบียงทางเดินนำไปยังห้องต่าง ๆ ผนังทั่วไปตีไม้ซ้อนเกล็ดเว้นช่องลมตีระแนงไม้ เพื่อระบายอากาศให้ถ่ายเททั่วกันได้ทุกห้อง ส่วนเหนือระเบียงทำเกล็ดไม้ติดตายเพื่อกันไม่ให้แดด หรือฝนสาดเข้าตัวอาคารมากเกินไป เฉพาะส่วนนี้มีลูกเล่นเล็กน้อยเป็นไม้ฉลุลายค้ำทุกมุมเสาระเบียง บานหน้าต่างและประตูเป็นบานไม้ทึบเปิดคู่ มีซี่ช่องลมหรือเกล็ดไม้ติดตายที่ด้านบนแล้วแต่ตำแหน่งของช่องเปิดนั้น ส่วนหลังคาเป็นทรงปั้นหยาผสมจั่ว จากอาคารไม้หลังแรกของสถาบัน จนถึงปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีมีอายุครบ 85 ปี และมีการพัฒนาทางกายภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก แต่ถึงกระนั้นอาคารวังแดงก็ยังยืนเด่นเป็นสง่า และได้รับการเอาใจใส่ดูแลสืบต่อมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่ ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ เป็นอธิการบดี ได้มีการอนุรักษ์และปรับประโยชน์ใช้สอยครั้งใหญ่ เพื่อใช้เป็นหอประวัติมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยในการบูรณะปรับปรุงครั้งนั้นได้มีการปรับย้ายตำแหน่งอาคารเล็กน้อยให้สมดุลกับผังบริเวณโดยรวมมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวอาคารชั้นล่างได้ปรับเป็นห้องกระจกติดเครื่องปรับอากาศไว้สำหรับประกอบกิจกรรมอเนกประสงค์ อาทิ การประชุมสัมมนา หรือพิธีการงานบุญต่าง ๆ โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีม่านบังตาใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อคงความรู้สึกว่าอาคารหลังนี้เป็นอาคารยกใต้ถุนสูง และโล่งโปร่งเหมือนเมื่อสมัยแรกสร้าง สำหรับพื้นที่ชั้นบนได้ตกแต่งห้องต่าง ๆ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อแสดงประวัติความเป็นมา ของสถาบัน โดยผู้ออกแบบปรับปรุงได้จงใจเน้นประตูทางเข้าคู่หน้าให้สะดุดตา ด้วยภาพเขียนสีแบบไทยรูปเทวดาถือพระขรรค์ หรือทวารบาลบนพื้นสีแดงสด รับกับป้ายชื่อ “หอประวัติมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี” ที่ด้านหน้าอาคารได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้วยังได้มีการย้อมสีผนังไม้เดิมที่ยังคงสภาพให้เรียบร้อยสม่ำเสมอ และเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาจากสังกะสีเป็นกระเบื้องสีแดงเพื่อความสง่างามมากยิ่งขึ้น ส่วนภูมิทัศน์โดยรอบล้วนออกแบบให้ส่งเสริมตัวอาคาร ตลอดจนกิจกรรมที่จะใช้สอย โดยทำเป็นลานโล่งกว้างด้านหน้าอาคาร และจัดวางรูปปั้นครึ่งตัวของ ขุนประสมคุรุการ (ชื้น เชษฐสมุน) ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมมณฑลอุดร (พ.ศ. 2471-2495) ซึ่งปั้นขึ้นใหม่ให้ถูกสัดส่วนแทนรูปปั้นเต็มตัวของเดิม ทั้งหมดนี้สะท้อนได้ชัดถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถาบันที่ตระหนักในคุณค่าของมรดก สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ โดยสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในมุมมองของผู้เขียน อยู่ที่อาคารแวดล้อมโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่ปลูกสร้างขึ้นใหม่ หรืออาคารเก่าที่ถูกปรับปรุงแล้วก็ตาม ล้วนถูกออกแบบให้เคารพบริบทซึ่งมีอาคารวังแดงเป็นองค์ประกอบหลัก สังเกตได้จากการคงสัดส่วนของหลังคาอาคารต่าง ๆ ตลอดจนการกำหนดสีให้มีความกลมกลืนเป็นเอกภาพ และสอดรับกับลักษณะเฉพาะตัวของอาคารวังแดงได้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้ผู้มาเยือนรับรู้ได้ในทันทีถึงคุณค่าของอาคารไม้เก่าแก่ที่เรียบง่าย แต่สำคัญของสถาบันแห่งนี้ และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อาคารหลังนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปีนี้ จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ. ที่มาภาพและข้อมูล : มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ BANANA STUDIO ** เชิญชมนิทรรศการรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ในงานสถาปนิก'52 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 29 เมษายน -3 พฤษภาคม 2552** ** ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะด้านงานสถาปัตย์เชิงอนุรักษ์ได้ที่ www.thai-heritage-building.com หรือ เข้าผ่านหน้าเว็บของ www.asa.or.th ** ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต |
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=72127&NewsType=2&Template=1
Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.