วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

ประวัติศาสตร์อาณาจักรพวน โดยเจ้าคำหลวง หน่อคำ

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11357 มติชนรายวัน


ประวัติศาสตร์อาณาจักรพวน โดยเจ้าคำหลวง หน่อคำ


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




ปกหนังสืออาณาจักรพวน โดยเจ้าคำหลวง หน่อคำ พิมพ์ในสหรัฐฯ

พวน เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไทย-ลาว เชื่อกันว่ามีหลักแหล่งดั้งเดิมอยู่ทางทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวางในลาว

เมืองพวนอยู่บนที่ราบในหุบเขา มีแม่น้ำไหลคดเคี้ยวไปมาตามหุบเขาเหมือนขดลำไส้ของคน จึงเรียกน้ำพวน บรรดาผู้คนที่อยู่สองฝั่งน้ำพวนเลยได้ชื่อตามลำน้ำว่า คนพวน แต่ภาษาปากว่า ไทยพวน (ไทย แปลว่า ชาว, คน) นับถือแถน (หรือผีฟ้า) บางทีเรียกผีฟ้าพญาแถนก็มี

มีตำนานกำเนิดมนุษย์ในสุวรรณภูมิ บอกว่าเจ้าเจ็ดเจืองเป็นโอรสขุนบรม (ลาวเรียกขุน บู-ฮม) คือต้นตระกูลคนพวน

พ่อผมเป็นคนพวนสืบจากบรรพชนถูกกวาดต้อนเป็นเชลยมาครั้งศึกเจ้าอนุฯ ในรัชกาลที่ 3 แล้วตั้งหลักแหล่งอยู่ทางอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ผมเลยเปิดเว็บไซต์ศรีมโหสถ www.sujitwongthes.com/srimahosot แบ่งปันและเผยแพร่ความรู้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองมโหสถ อายุเกือบ 2,000 ปีมาแล้ว รวมทั้งเรื่องราวของคนท้องถิ่นที่เป็นคนพวน และประวัติศาสตร์อาณาจักรพวน

"ประวัติศาสตร์อาณาจักรพวน" เป็นหนังสือรวบรวมและเรียบเรียงโดย เจ้าคำหลวง หน่อคำ พิมพ์ด้วยอักษรและภาษาลาว โดยสมาคมลาวพวนในสหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ.2549

รูปเล่มขนาด 8 หน้ายกใหญ่พิเศษ (กว้างกว่า A4) กระดาษปอนด์ 80 แกรม หนา 350 หน้า(+) มีรูปประกอบพิมพ์ 4 สี เกือบร้อยรูป ปกกระดาษการ์ดหนา พิมพ์ 4 สี รูปไหหินที่ทุ่งไหหิน ใน สปป.ลาว

มูลนิธิไทยพวน ได้รับหนังสือประวัติศาสตร์อาณาจักรพวนเล่มนี้ เก็บไว้บริการในห้องสมุดของมูลนิธิฯ ที่ตั้งอยู่ในวัดอมรินทราราม ใกล้โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

คุณชาญ ก้อนขาว กับคุณวินัย บุญสร้อย เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯกรุณาให้ยืมหนังสือประวัติศาสตร์อาณาจักรพวนมาศึกษาค้นคว้า

ผมอ่านอักษรและภาษาลาวไม่ได้ จึงขอให้คุณพันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร (ผู้เป็นมหาบัณฑิตทางภาษาโบราณตะวันออก จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ถอดแปลเป็นอักษรไทย โดยให้คงถ้อยคำและใจความของหนังสือลาวไว้มากที่สุด

จากนั้นขอให้อาจารย์สมชาย นิลอาธิ (แห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) ตรวจทานอีกแรงหนึ่งให้เนื้อความตรงตามหนังสือลาว แต่คนไทยอ่านรู้เรื่องดี

ในการแปลครั้งนี้ ได้รับอนุญาตโดยตรงจากเจ้าคำหลวง หน่อคำ ที่พำนักอยู่สหรัฐฯเรียบร้อยแล้ว

แต่ยังแปลไม่จบเล่ม เพิ่งได้แค่ครึ่งเล่ม ผมทยอยเอาขึ้นเว็บไซต์ครึ่งเล่มแรกก่อน เนื่องในวันเปิดเว็บไซต์ "ศรีมโหสถ" ฉลองสงกรานต์ เพราะเห็นว่าถ้ารอให้แปลหมดทั้งเล่มจะช้าเกินไป และไม่ทันบรรยากาศสงกรานต์

หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra05140452&sectionid=0131&day=2009-04-14