วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

แสง สี เสียง "ดาราศาสตร์ลพบุรี" เปิดตัว "พระที่นั่งเย็น" ฉลอง 35 ปีชมรมอนุรักษ์ฯ

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11357 มติชนรายวัน


แสง สี เสียง "ดาราศาสตร์ลพบุรี" เปิดตัว "พระที่นั่งเย็น" ฉลอง 35 ปีชมรมอนุรักษ์ฯ


โดย โชติชัย ไข่หงษ์




"พระจันทร์ยิ้ม" โลโก้เปิดงาน "ดาราศาสตร์สากล ดาราศาสตร์ลพบุรี 35 ปี ชมรมอนุรักษ์"

"ลพบุรี" หรือ "เมืองละโว้" ในอดีตกาลสมัยอยุธยา มีสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์นั้น นับได้ว่าเจริญรุดหน้าเทียมอารยประเทศเลยทีเดียว

แม้ปัจจุบันลพบุรีมีอายุครบ 1,000 ปีแล้วก็ตาม แต่เมืองละโว้ก็ยังคงความงดงามสมบูรณ์ตามแบบฉบับเมืองเก่าที่มีการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี

"วัฒนพงษ์ โพธิ์นิ่มแดง" ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลพบุรี เล่าถึงเมืองลพบุรีว่า แผ่นดินเมืองลพบุรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนับว่ามีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีหลักฐานให้เห็นมากมายในปัจจุบัน

โดยหลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังขึ้นที่เมืองลพบุรี เป็นราชธานีแห่งที่ 2 รองจากกรุงศรีอยุธยา

ในแต่ละปีพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับและว่าราชการที่เมืองลพบุรี นานถึงปีละ 8-9 เดือน และพระองค์ก็ยังสวรรคตที่เมืองลพบุรีนี่เอง ซึ่งหลังการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชาได้อพยพไพร่พลกลับไปยังกรุงศรีอยุธยา จึงทำให้แผ่นดินลพบุรีถูกปล่อยทิ้งเป็นเมืองร้างตั้งแต่นั้นมา

จวบจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินลพบุรีเริ่มเป็นที่รู้จักกันอีกครั้ง เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ พร้อมทั้งโปรดให้สร้างพระที่นั่งขึ้นในพระนารายณ์ราชนิเวศน์-พระราชวังเดิมของสมเด็จพระนารายณ์

ต่อมาเมื่อความเจริญหลั่งไหลเข้าสู่เมืองมากขึ้น ทำให้มีประชาชนจากหลายพื้นที่อพยพเข้าไปตั้งรกรากในจังหวัดลพบุรี โดยพื้นที่แรกที่ประชาชนเข้าไปจับจองปลูกที่พักอาศัย ได้แก่ในเขตตำบลท่าหิน ซึ่งเป็นเขตเมืองเก่าและมีโบราณสถานที่สำคัญหลายแห่ง

"การเข้ามาตั้งรกรากของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่คำนึงถึงคุณค่าของโบราณสถาน หรือคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของโบราณวัตถุแต่อย่างใด มีการบุกรุกทำลายโบราณสถานกันอย่างไม่คำนึงถึง ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างมาก ทำให้มีชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลพบุรี ขึ้นมาดูแลปัญหาเหล่านี้" ผู้อำนวยการ ททท.ลพบุรีกล่าว

ภูธร ภูมะธน ประธานชมรมอนุรักษ์ฯจ.ลพบุรี และผู้เข้าร่วมงาน



สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในแผ่นดินลพบุรี และหลายคนยังไม่รู้จัก คือ ลพบุรี เป็นศูนย์กลางดาราศาสตร์ของประเทศไทยสมัยอยุธยา

ทั้งนี้ มี หอดูดาว ที่วัดสันเปาโล เป็นหอดูดาวแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งความสำคัญอันนี้เอง ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม ลพบุรี ได้จัดงาน "ดาราศาสตร์สากล ดาราศาสตร์ลพบุรี 35 ปีชมรมอนุรักษ์ฯ" ขึ้นเมื่อไม่นาน ภายใน พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือ พระที่นั่งเย็น ตั้งอยู่ ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จ.ลพบุรี

สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวมาแต่ช่วงกลางวัน เริ่มลดอุณหภูมิลงเหลือเพียงสายลมเย็นสบาย ขณะที่สภาพแวดล้อมทั่วไปในบริเวณพระที่นั่งเย็น ถูกจัดแต่งพร้อมต้อนรับแขกผู้มีเกียรติที่เดินทางมาร่วมงานคืนนี้

พอได้เวลา 18.00 น. "วิชัย ศรีขวัญ" ปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เดินทางเป็นประธานเปิดงาน โดยมีแขกผู้มีเกียรติ อาทิ โชดก วีรธรรม พูลสวัสดิ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีอีกคน, พล.อ.ปมุข อุทัยฉาย อดีต ผบ.นศส., จารุพงศ์ พลเดช ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีคนปัจจุบัน และยังมีหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรภาคประชาชน ผู้บริหารท้องถิ่น จำนวนมากมาร่วมงาน

ก่อนเข้าสู่บรรยากาศย้อนอดีตไปยังสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีกิจกรรมนิทรรศการภาพถ่ายพระที่นั่งเย็นสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นภาพที่หาดูได้ยากมาจัดแสดงให้ชมกัน ภาพถ่ายบางภาพนำมาจากประเทศฝรั่งเศส อีกทั้งการแสดงนิทรรศการกล้องดูดาวบนท้องฟ้า การจำหน่ายสินค้าโอท็อปของดีเมืองลพบุรี ที่ขาดไม่ได้ คือ การเสวนาวิชาการประกอบแสง เสียง ซึ่งเป็นการแสดงครั้งแรกของประเทศ มีนักแสดงกิตติมศักดิ์ร่วมแสดงกว่า 100 ชีวิต

วิชัย ศรีขวัญ ประธานเปิดงาน ชมนิทรรศการทางดาราศาสตร์ และส่องกล้องดูดาว

การแสดงชุดพระนารายณ์มหาราช เสด็จฯทรงกล้องทอดพระเนตรจันทรุปราคาเต็มดวง ที่พระที่นั่งเย็น

การแสดงชุดพระรามปูนบำเหน็จหนุมานทหารเอก



รายการเสวนาประกอบแสง สี เสียง เป็นการบอกเล่าให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของตำบลทะเลชุบศร เริ่มจากเรื่องราวในวรรณคดี หลังพระรามรบชนะทศกัณฐ์แล้ว ได้ปูนบำเหน็จความดีความชอบให้แก่ "หนุมาน" ทหารเอก โดยการแผลงศรและให้หนุมานเหาะตาม หลังลูกศรตกพื้นดินแล้วหนุมานได้จับคันศรพร้อมใช้หางกวาด เพื่อแสดงเป็นอาณาเขตของตนเอง

ระหว่างนั้นได้เกิดไฟลุกไหม้ หนุมานพยายามดับไฟ แต่ดับเท่าไรก็ดับไม่ได้ หนุมานจึงเหาะไปหาพระรามพร้อมแจ้งเรื่องให้ทราบ พระรามจึงแผลงศรมาอีกหนึ่งดอก ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ จึงสามารถดับไฟลงได้

ต่อมาพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ทำให้ดินมีสีขาวโพลน ซึ่งก็คือ "ดินสอพอง" ในปัจจุบัน ส่วนพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเรียกขานกันว่า "ตำบลทะเลชุบศร" มาจนปัจจุบัน

จากนั้นเป็นการแสดงถึงประวัติความเป็นมาของเมืองลพบุรี และทะเลชุบศร โดยลพบุรีหรือเมืองละโว้นั้นตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ ก็เป็นเมืองขึ้นของขอม ทุกๆ 3 ปี จะต้องตักน้ำจากทะเลชุบศรซึ่งเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ส่งไปเป็นราชบรรณาการแก่พระเจ้าแผ่นดินของขอม

คนเฝ้าดูแลน้ำในทะเลชุบศร ต่อมาได้มีลูกชายหนึ่งคนชื่อนายร่วง ซึ่งมีวาจาที่ศักดิ์สิทธิ์ ได้นำชะลอมมาใส่น้ำและนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดินขอม โดยน้ำไม่รั่วออกมาแต่อย่างใด ต่อมาความทราบถึงพระเจ้าแผ่นดินของขอม จึงคิดที่จะฆ่านายร่วง เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นอันตรายในภายภาคหน้า

นายร่วงทราบข่าวจึงหนีไปบวชเป็นพระที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงสุโขทัย และได้ชื่อว่า พระร่วง ต่อมาขอมดำดินไปโผล่ในวัดและพบกับพระร่วงขณะกำลังกวาดลานวัดอยู่ จึงถามพระร่วงว่า รู้จักนายร่วงหรือไม่ พระร่วงบอกว่าให้รออยู่ตรงนั้นก่อน ด้วยวาจาที่ศักดิ์สิทธิ์ขอมจึงกลายร่างเป็นหินทันที

ฉากต่อมาเป็นการแสดงในเรื่องการก่อสร้าง พระที่นั่งเย็น และ การเสด็จเพื่อทอดพระเนตรดูดาวของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร และบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรี

สมเด็จพะนารายณ์มหาราชทรงพระปรีชาสามารถในหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องของดาราศาสตร์ โปรดให้สร้างพระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือพระที่นั่งเย็นขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ประทับพักผ่อน และบางครั้งใช้เป็นสถานที่รับแขกเมือง

พระที่นั่งเย็น มีลักษณะคล้ายเกาะ แต่เดิมในอดีตมีน้ำล้อมรอบ บรรยากาศร่มรื่น เย็นสบาย อยู่ห่างจากพระราชวังนารายณ์ประมาณ 3 กิโลเมตร และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2228 หรือเมื่อ 324 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เสด็จฯมาทรงกล้องทอดพระเนตรจันทรุปราคาเต็มดวงร่วมกับคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ที่พระที่นั่งเย็นแห่งนี้

จึงถือได้ว่าพระที่นั่งเย็นมีความสำคัญทางดาราศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทย

การเสวนาวิชาการประกอบแสงเสียงครั้งนี้ สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก เพราะสามารถทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของพระที่นั่งเย็น โบราณสถานอันล้ำค่าของเมืองลพบุรี รวมถึงแวดวงดาราศาสตร์ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากผู้บรรยายให้ความรู้ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งในเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทย และวงการดาราศาสตร์สากลเป็นอย่างดี

โบราณสถานทั้งสองแห่ง คือ หอดูดาว-วัดสันเปาโล และพระที่นั่งเย็น ในลพบุรี นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่สุดของไทยในอดีตที่ผ่านมาถึงเกือบๆ สี่ร้อยปี

หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01140452&sectionid=0131&day=2009-04-14