วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

เปิดใจแม่ทัพการรถไฟฯ ยุทธนา ทัพเจริญ "Airport Link to the Better"

 
วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4097

เปิดใจแม่ทัพการรถไฟฯ ยุทธนา ทัพเจริญ "Airport Link to the Better"


สัมภาษณ์


"ยุทธนา ทัพเจริญ" ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นลูกหม้อขนานแท้ ด้วยอายุงาน 32 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุค (การเมือง) ขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการเมื่อสิงหาคม 2551 ท่ามกลางปัญหาและหนี้สินสะสมของการรถไฟฯที่สูงถึง 7.2 หมื่นล้านบาท

ตลอด 8 เดือนบนเก้าอี้ผู้ว่าการมีสิ่งเดียวที่เขาเน้นหนักคือ เรื่องการบริการ พร้อมกับรอลุ้นแผนฟื้นฟูกิจการการรถไฟฯจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเขาเชื่อว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการสะสางปัญหาทั้งหมด ตั้งแต่การรถไฟฯก่อตั้งมา 112 ปี รายละเอียดและขั้นตอนในแผนฟื้นฟูจะเป็นอย่างไร เขาได้ฉายภาพเพื่อให้เห็นอนาคต ผ่าน "ประชาชาติธุรกิจ" แล้วในฉบับนี้

- ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟู

โดยหลักจะแยกบัญชีและหน่วยธุรกิจให้ชัดเจน โครงสร้างพื้นฐานจะให้รัฐบาลรับภาระไป ส่วนล้อเลื่อนให้บริษัทลูกหรือเอกชนดำเนินการ ถ้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานก็จ่ายค่าใช้ทาง ส่วนภาระหนี้สินที่รถไฟมีอยู่ประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยหนี้เงินกู้เดิมซึ่งกู้มา 112 ปี และสะสมมาเรื่อยๆ หนี้ค่าซื้อหัวรถจักรล้อเลื่อน หนี้บำเหน็จบำนาญ และหนี้อื่นๆ โดยเฉพาะบำเหน็จบำนาญที่ค้างเก่าต้องจ่าย ปีละ 2.7 พันล้านบาท บำนาญที่ต้องเลี้ยงคนที่เกษียณไป 1.2 หมื่นคน วันนี้มี พนักงานรถไฟที่จะต้องจ่ายบำนาญอีก 1.3 หมื่นคน รวมแล้วคาดว่าจะต้องจ่ายหนี้ผูกพัน 2.5 หมื่นคน คิดเป็นเงินที่จะต้องจ่าย 1.58 แสนล้านบาท แต่เงินตัวนี้ยังไม่ได้จ่ายทั้งหมด เพราะคนยังไม่ออก

ก็คิดย้อนกลับไปว่า ถ้าปีหนึ่งมีคนเกษียณแล้วต้องจ่ายเงินบำนาญ 300-400 คน จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ คำนวณดูแล้ว สมมติคนอายุยืน 75 ปี ถ้ามีเงินก้อนหนึ่ง 52,000 ล้านบาท มาตั้งไว้ตรงกลาง และบริหารเงินแบบกองทุน นำเงินตรงนี้มาจ่ายผู้บำเหน็จบำนาญแต่ละปี ดอกผลที่ได้จะเพียงพอแก้ปัญหาได้ รัฐเลยมีความคิดว่าต่อไปทำแผนฟื้นฟูแล้ว จะนำเงินตรงนี้มาจากการแยกตั้งบริษัทลูกขึ้นมา แล้วเอา รายได้มาแก้เรื่องโมเดลต่างๆ

- หน้าที่และจำนวนของบริษัทลูก

จะตั้งบริษัทลูก 2 บริษัท โดยการรถไฟฯถือหุ้น 100% คือ 1.บริษัทเดินรถ เพื่อเดินรถสินค้า ขนผู้โดยสาร รถไฟฟ้าสายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (Airport Rail Link) และรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต 2.ในส่วนที่ดินจะตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ขึ้นมา เพื่อปรับวิธีบริหารจัดการเรื่องทรัพย์สินให้คล่องตัวขึ้น ภายหน้าเราจะนำรายได้ที่ได้มาสนับสนุนเรื่องบำเหน็จบำนาญ

- แผนฟื้นฟูจะเข้า ครม.ช่วงหลังสงกรานต์

ใช่ครับ แต่ทั้งหมดนี้ต้องรับฟังความเห็นจากหลายหน่วยงาน ทั้งจาก สศช. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) สำนักงบประมาณ ฯลฯ ก็มีคำถามว่า บริษัทที่ดินตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร และรถไฟบริหารจัดการได้แค่เรื่องบริหารสัญญาเท่านั้น เพราะกระทรวงการคลังมีนโยบายไม่ให้รถไฟนำที่ดินแต่ละแปลงไปพัฒนาเอง ต้องการให้หาคนมาพัฒนา เมื่อได้คนแล้ว ไปทำสัญญาโดยตรงกับการรถไฟฯ และให้บริษัทลูกบริหารสัญญาต่อไป ไม่ใช่การพัฒนาที่ดินเอง เพราะไม่ต้องการให้แข่งกับเอกชน มองว่าจริงๆ แล้วเอกชนน่าจะทำได้ดีกว่า

ดังนั้นในส่วนนี้จะเป็นลักษณะสัมปทานหรือร่วมทุนก็ได้ และบริษัทลูกก็มีสิทธิ ร่วมทุนกับเอกชนได้ ไม่ใช่ให้สัมปทานอย่างเดียว เพื่อที่จะได้ผลประโยชน์ 2 ต่อ คือต่อแรกได้ค่าเช่า ต่อที่สองได้ส่วนแบ่งรายได้เมื่อมีกำไร

- ภารกิจของบริษัทลูก

กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์มองว่า ภารกิจหลักของการรถไฟฯไม่ใช่เรื่องที่ดิน มีหน้าที่ขนส่งสินค้า ขนส่งคน อะไรที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักไม่ควรจะทำ ให้บริษัทลูกไปทำ สิ่งที่จะตามมาคือ เกิดความคล่องตัวในการบริหาร เพราะบริษัทที่ดินจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การบริหารที่ดินในเชิงสังคม ช่วยแก้ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาการบุกรุกที่ดินการรถไฟฯ การหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ ผู้บุกรุก 2.พัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์ หาผู้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนามาทำสัญญากับการรถไฟฯ 3.การติดตามเรื่องหนี้สิน การบริหารสัญญา การกำกับดูแล ฉะนั้นภาพของบริษัทลูกจะชัดเจนขึ้นว่า ถ้าเป็นบริษัทลูกแล้ว กฎระเบียบต่างๆ จะคลี่คลายลง จะทำอะไรไม่ต้องไปขอบอร์ดทุกครั้ง

ส่วนบริษัทเดินรถจะเป็นส่วนสำคัญ สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ เดินรถโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ รองรับการเปิด เส้นทางนี้โดยเร็วที่สุด เพราะโครงสร้างทางจะเสร็จหมดแล้ว เหลือแค่การตกแต่ง บริษัทเดินรถจะมี 2 ส่วน คือส่วนด้านการบริหารการเดินรถและส่วนพาณิชย์ เมื่อเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ได้แล้ว การหารายได้จาก 8 สถานีจะทำยังไง เพื่อนำรายได้เข้าการรถไฟฯและบริษัทลูก

ในส่วนของการเดินรถกำลังขออนุมัติตั้งบริษัทลูก จะเร่งเพื่อมารองรับการเปิดในเดือนสิงหาคมหรือเปิด 100% ในวันที่ 5 ธันวาคม สิ่งที่จะทำอย่างแรกคือ ต้องมีบริษัทลูก ถ้าไม่มีต้องเอาคนของการรถไฟฯเข้าไปบริหารก่อน ต่อมาคือการดำเนินการบริหารของบริษัท และการกำหนดแผนในระยะยาว

ในส่วนของการตั้งบริษัทอยู่ในส่วนของการดำเนินการอยู่แล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือต้องหาคน ตอนนี้แม้บริษัทยังไม่ตั้งจะต้องหาคนมาเดินรถ คนที่จะดำเนินการคือซีอีโอซึ่งยังไม่มี ต้องเอาคนรถไฟไปเป็นก่อน ได้ตั้งคุณภากรณ์ชั่วคราว (ภากรณ์ ตั้งเจตสกาว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน การรถไฟฯ) ประมาณ 2-3 เดือน กำลังหาคนมาทำงานเดินรถให้ได้

- โครงสร้างบุคลากรองค์กรใหม่

เราว่าจ้างสถาบันศศินทร์ของจุฬาฯมาคัดเลือกบุคลากรในตำแหน่งสำคัญๆ 51 ตำแหน่ง กับอีก 450 คน จะทยอยรับรอบแรก 120 คน ไม่จำกัดว่าเป็นคนนอกหรือคนการรถไฟฯ เดือนมิถุนายนจะเสร็จเรียบร้อย จากนั้นจะเป็นการเรียนงาน จาก 2 ส่วน คือจากบริษัทซีเมนส์ที่ต้องเทรนให้เราตามสัญญา เป็นคู่มือการเดินรถไฟฟ้า แต่ในเรื่องการบริหารจัดการเดินรถ ต้องว่าจ้างบริษัทที่มีความชำนาญมาเทรนให้ คือบริษัท DBI จากเยอรมนี เพราะเคยสอนทั้งพนักงานบีทีเอส, รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟในมาเลยเซีย ค่าจ้าง 80-90 ล้านบาทต่อปี ช่วงแรกจะว่าจ้าง 2 ปี ในอนาคตจะนำไปใช้กับการบริหารจัดการกับรถไฟสายสีแดง 2 สายคือ บางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิตได้

มีคำถามมากมายว่าที่ทำถูกต้องและเหมาะสมหรือยัง เรื่องโครงสร้างของบริษัทและจำนวนพนักงาน ขอยืนยันว่า สิ่งที่เราทำเหมาะสมและถูกต้อง เพราะมีบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้มาแล้วออกมาเป็นแผนธุรกิจ และมีตัวเปรียบเทียบจากบีทีเอสและ รฟม.

- แผนธุรกิจของบริษัทลูก

ในผลการศึกษา ปีแรกรายรับและรายจ่ายจะพอๆ กัน จนถึงปี 2556 หรือปีที่ 5 รายได้ก่อนหักภาษีจะเป็นบวก รายได้จะมาจากการเดินรถ ตั้งเป้าไว้ผู้โดยสารสาย City Line วันละ 8 หมื่นคนถึง 1 แสนคน เก็บค่าโดยสาร 15-40 บาท ถ้าเป็น Express Line วันละ 1.5-2.5 หมื่นคน ค่าโดยสาร 150 บาท มีคนถามว่า ถ้าผู้โดยสารแค่ 50% จะมีกำไรหรือไม่ ยังยืนยันว่า กำไร เพราะรายได้จะมาจาก 2 ส่วน คือค่าโดยสารและพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามสถานี เช่น ป้ายโฆษณา ร้านค้า ภัตตาคาร เป็นต้น ปีแรกจะได้ 50-100 ล้านบาท จะมากขึ้นในปีที่ 5 เพราะเก็บ ค่าเช่าได้สูงขึ้น โดยสรุปรายได้จากค่าโดยสารปีที่ 5 จะประมาณ 2-3 พันล้านบาท ส่วนที่ดินจะได้ประมาณ 1 พันล้านบาท และขึ้นเป็น 2 พันล้านบาท ในปีที่ 5-6 เพราะแรกๆ ค่าเช่าที่ดินจะถูกเพราะเพิ่งลงทุน รูปแบบการลงทุนจะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาบริหารแบบ outsource ทั่วไป

- การรถไฟฯในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ผมเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ถ้าแผนฟื้นฟูโอเค บริษัทลูก run เต็มที่ โดยมีแอร์พอร์ตลิงก์เป็นจุดเชื่อมโยงสิ่งใหม่ๆ

แต่สิ่งแรกผมอยากเห็นคนการรถไฟฯโชว์ศักยภาพเต็มที่ ไม่อยากให้ใครมาดูถูก เราต้องร่วมใจทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรมและผลงานนั้นต้องได้รับการยอมรับ

การร่วมใจโดยมีเป้าหมาย มีความหวังและแรงจูงใจก็น่าจะทำให้การรถไฟฯดีขึ้น เรากำลังสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา และเพิ่มประสิทธิภาพ ขยายขีดความสามารถในด้านการแข่งขัน ผมเชื่อว่าในโมเดลใหม่ จะช่วยให้การรถไฟฯดีขึ้น พัฒนาขึ้น นี่คือความหวัง (สีหน้าจริงจัง)

อย่าลืมว่า รถไฟวันนี้ยังบริหารของเก่าอยู่ ของใหม่จะมาอีก 3 ปี ผมเป็นผู้ว่าการมา 6 เดือน สิ่งที่ทำได้คือเน้นเรื่องบริการให้ดีที่สุด

หน้า 1
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02p0103160452&day=2009-04-16&sectionid=0201