วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

เปรียบการต่อสู้ "ปรีดี -ทักษิณ" 2475 เสี่ยงกว่า 2552 หลายเท่า

วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4097

เปรียบการต่อสู้ "ปรีดี -ทักษิณ" 2475 เสี่ยงกว่า 2552 หลายเท่า


รายงานพิเศษ


"พี่น้องครับ อดทนครับ พวกเราเป็นพวกรัก ความจริง พวกเราไม่เคยกลัวความจริง พวกเราคือคนรุ่นใหม่ คนที่ต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยที่แท้จริงคือสิ่งที่พิสูจน์ได้ เป็นสิ่งที่ความจริงต้องเป็นความจริง แต่อำมาตยาธิปไตยที่พวกเราไม่ต้องการ เพราะพวกนี้บิดเบือนความจริง แทรกแซงระบบ สร้างสองมาตรฐาน ข่มขู่พวกที่ทำมาหากิน ทำให้กลัวไปหมด ข้าราชการก็กลัว"

"มันหมดยุคนั้นไปแล้ว โลกไปถึงไหนแล้ว แต่พวกคร่ำครึยังต้องการอย่างนั้นอยู่ ถ้าปล่อยไว้ พี่น้องครับ ถ้าใครเป็นนายกฯ ที่ประชาชนรัก ก็ต้องมาเช่าห้องแถวอยู่แบบผมนี่แหละครับ เขาต้องการนายกฯ ที่อยู่แล้วไป อยู่แล้วก็ไป แล้วประเทศจะเจริญได้อย่างไร"

นี่คือคำประกาศกร้าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านวิดีโอลิงก์เข้ามาบนเวทีเสื้อแดงผ่านทั้ง 3 เวที ได้แก่ทำเนียบรัฐบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า และหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ (บ้านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี) เมื่อค่ำวันที่ 8 เมษายน 2552

ย้อนไปเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ฟ้าได้ผ่าเปรี้ยงลงกลางพระนคร เมื่อนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้อ่านคำประกาศของคณะราษฎร ประณามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างรุนแรง พร้อมทั้งเสนอรูปแบบการปกครองใหม่ ที่ให้กษัตริย์ "อยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" และให้มีสภาที่จะเป็น ที่ปรึกษาหารือกัน

"การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตายทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริยะ" นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า"

นี่คือ คำแถลงการณ์คณะราษฎร์ ฉบับที่ 1 ท่อนสุดท้าย

โดยผู้เขียนคำประกาศคณะราษฎร ฉบับดังกล่าว คือคนเดียวกันกับเด็กมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยคนนั้น ที่ชื่อ นายปรีดี พนมยงค์

จักรภพ เพ็ญแข และแกนนำเสื้อแดงหลายคนเชื่ออย่างหมดใจว่า ทักษิณกับ ปรีดี พนมยงค์ เหมือนกัน ตรงจุดยืนที่ต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย

ยิ่งกว่านั้น เส้นทางเดินของทักษิณกับปรีดี พนมยงค์ ก็เหมือนกันตรงที่ทักษิณ ตกเป็นบุคคลที่เมืองไทย ไม่ต้องการเช่นเดียวกับปรีดีที่ต้องลี้ภัยไปอยู่เมืองจีนและต้องตายที่ฝรั่งเศสอย่างเดียวดาย

พวกเสื้อแดงยกให้ทักษิณเป็น "ไอคอน" ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มลูกศิษย์ของปรีดีที่ยกย่องให้ปรีดีเป็นบุคคลสำคัญของโลกสำเร็จ

และที่สำคัญ ปรีดียังถูกประชาธิปัตย์ทำลาย เหมือนเช่นที่ทักษิณกำลังโดน เทพเทือกและกษิต ภิรมย์ ไล่ล่าไปทั่วโลก

ตัวละครหลายตัวในโลกยุคเก่าฟื้นคืนชีพกลับมาเล่นบทบาทเดิมอีกครั้ง... อย่าน่าตกใจ

เอาเข้าจริงแล้ว บุคคล 2 คน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ด็อกเตอร์ฝรั่งเศส ลูกศิษย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้หนึ่งกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" แบบฟันธงว่า...เปรียบเทียบกัน ไม่ได้เลย

ปี 2475 อาจารย์ปรีดีต่อสู้กับระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเสี่ยงสูงมากที่จะโดนตัดหัว 7 ชั่วโคตร แต่ทักษิณในปี 2552 อ้างว่าตัวเองต่อสู้กับกับระบบอำมาตยาธิปไตย เพื่อเอาประชาธิปไตยกลับคืนมา การต่อสู้และความเสี่ยงแตกต่างกันมาก ทักษิณมีแนวร่วมประชาธิปไตยเป็นจำนวนมากมาย

หรือประเด็นที่ทักษิณโจมตีอำมาตยาธิปไตย ใครหลายคนก็เป็นแนวร่วมกับทักษิณ เพราะเห็นตรงกันว่า องคมนตรีไม่ควรยุ่งกับการเมือง

ฉะนั้นการต่อสู้ของทักษิณง่ายกว่าอาจารย์ปรีดีมากมายหลายเท่า เพราะประชาธิปไตยได้หยั่งรากในสังคมไทยมานาน แม้จะล้มลุกคลุกคลานอยู่บ้างก็ตาม

อย่างไรก็ตาม บทบาทของทักษิณ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความโดดเด่น หากตัดเรื่องทุจริตเชิงนโยบายออกไป เพราะทักษิณเรียกร้องในหลายเรื่องที่ตรงใจคนทั่วไป

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือการต่อต้านระบบอำมาตยาธิปไตย เพราะคนทั่วไปต่างก็เห็นด้วยกับ สิ่งเหล่านี้

หากสิ่งเหล่านี้ยังดำรงอยู่ ประชาธิปไตยไทยก็ไม่เดินหน้า

นักเศรษฐศาสตร์การเมืองอีกคนที่เคยให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจในประเด็นเดียวกันนี้คือ ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ

ดร.ณรงค์ ลั่นประโยคแรกว่า...อย่าเอาทักษิณไปเปรียบเทียบกับท่านปรีดีอย่าง เด็ดขาด

ประการแรก คนอย่างอาจารย์ปรีดี เป็นนักบริหาร ไม่ใช่นักธุรกิจ จึงไม่มีผลประโยชน์พัวพันเหมือนกับทักษิณและครอบครัวที่มีธุรกิจสัมปทานกับรัฐ ฉะนั้นเมื่อคนอย่างอาจารย์ปรีดีตัดสินใจอะไรลงไปเชิงนโยบาย คนก็เชื่อว่าเพราะไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ทักษิณเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก มีผลประโยชน์ ทางธุรกิจมากมาย

ประการที่สอง ลูกน้องของอาจารย์ปรีดี ไม่มีใครเลวทราม แต่คนใกล้ชิดทักษิณ คนในสังคมย่อมรู้ดีว่า คนพวกนี้เป็น อย่างไร ?

ประการที่สาม คุณค่าของอาจารย์ปรีดี มีมากกว่าทักษิณอย่างเทียบกันไม่ได้

อาจารย์ปรีดี เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นเสรีไทยเป็นผู้แก้ไขสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบ ต่างชาติ และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แล้วทักษิณทำอะไรให้กับบ้านเมืองบ้าง...ผมนึกไม่ออก

หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ก็ไม่ใกล้เคียงกันแม้แต่น้อย อาจารย์ปรีดีต้องออกจากประเทศไทย จากการ ช่วงชิงอำนาจรัฐ ในหมู่ผู้มีอำนาจด้วยกันเอง หรือกรณีอาจารย์ป๋วย ก็ถูกขบวนการ ขวาจัด...เล่นงาน

แต่กรณีทักษิณไม่ใช่...เหตุที่ต้องไปอยู่ต่างแดน เพราะพ่ายแพ้พวกเสื้อเหลือง


หน้า 28
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02pol02160452&day=2009-04-16&sectionid=0202