เปิด 'พื้นที่ความเห็นต่าง' อย่าขยาย 'พื้นที่ยัดเยียด' |
|
สุรพศ ทวีศักดิ์ มีความพยายามจากสื่อและนักวิชาการฟากเสื้อเหลือง รวมทั้งบุคคลในภาครัฐ (บางคน) เคยเรียกร้องและกำลังเรียกร้องอีก (หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดง) ว่า ให้ใช้สื่อของรัฐนำเสนอข้อเท็จจริงหรือให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะสื่อที่เข้าถึงรากหญ้า เช่น ทีวีช่อง 7, 5, 9 และ 11 ความพยายามดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า จะทำให้ประชาชนรากหญ้า (ที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองของทักษิณ) ได้หูตาสว่างจากการปลุกระดมของทักษิณและลิ่วล้อ ดังนั้น แนวทางดำเนินการ (เท่าที่เห็นเสนอผ่านสื่อ) จึงมีประเด็นหลักๆ คือ.- - อธิบายให้ประชาชนรากหญ้าทราบข้อเท็จจริงว่า ทักษิณ หรือ 'ระบอบทักษิณ' สร้างความเสียหายต่อประชาธิปไตยอย่างไร (เช่น เป็นเผด็จการรัฐสภา, แทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงสื่อ ฯลฯ) และสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างไร (เช่น คอรัปชันเชิงนโยบาย, บริหารประเทศบนจุดยืนผลประโยชน์ทับซ้อน, ละเมิดสิทธิมนุษยชน, มีแนวคิดที่เป็นอันตรายต่อสถาบัน ฯลฯ) พร้อมทั้งอธิบายด้วยว่าทำไมหรือมีเหตุผลอะไรจึงเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถ้าจำเป็นอาจต้องอธิบายด้วยว่ารัฐประหารดังกล่าวช่วยรักษา 'ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข' เอาไว้ได้อย่างไร
- ต้องสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชนรากหญ้าให้ชัดว่า รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลที่ผ่านกระบวนการของรัฐสภาหรือมาตามครรลองประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 เช่นเดียวกับรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย ดังนั้น จึงเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ดังที่ฝ่ายตรงกันข้ามพยายามบิดเบือน
- ประชาสัมพันธ์นโยบายและการทำงานของรัฐบาลให้ประชาชนรากหญ้าเข้าใจว่า ไม่ได้ไปยกเลิกนโยบายประชานิยมที่เป็นประโยชน์ต่อคนรากหญ้าที่รัฐบาลทักษิณริเริ่มเอาไว้ แต่ทำให้ดีขึ้นหรือต่อยอดประชานิยมให้ดีกว่าเดิม (เช่น ให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นโยบายเรียนฟรี ฯลฯ) และต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นความจำเป็นที่ต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ คนตกงาน การสร้างความปรองดองภายในชาติ ฯลฯ
ต่อแนวทางดังกล่าว ผู้เขียนขอแลกเปลี่ยนความเห็นดังนี้. - แนวทางแรกเกิดจากสมมติฐานผิดๆ ที่ว่า คนรากหญ้าถูกปิดหูปิดตาจากข่าวสารทางการเมือง แต่ที่จริงข้อโจมตีต่างๆ เกี่ยวกับ 'ระบอบทักษิณ' ถูกนำเสนอผ่านทีวีทุกช่องและสื่อต่างๆ มากว่า 3 ปีแล้ว คนรากหญ้าทั้งในเมืองและชนบทต่างก็รับรู้และพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้ แต่ในวงสนทนาของพวกเขามีมุมมองที่ต่างออกไปว่า ทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเขาถูกยึดอำนาจและถูกไล่ล่าจาก 'แนวร่วม' ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามในทางการเมือง (พธม.+องคมนตรี+ ทหาร+ศาล+ประชาธิปัตย์) และพวกเขาก็เชื่อว่าประชาธิปไตยถูกทำลายไปแล้วด้วยฝีมือของ 'แนวร่วม' ดังกล่าวนั้น ดังนั้น การจะใช้สื่อของรัฐไปอธิบายให้ประชาชนรากหญ้าเข้าใจหรือยอมรับว่าทักษิณเลวอย่างไร จึงไม่น่าจะได้ผลดังที่คิด ซ้ำร้ายอาจไปเติมเชื้อไฟความแค้นให้ลุกลามมากขึ้นอีก
- การใช้สื่อของรัฐอธิบายให้ชาวบ้านเห็นว่าทักษิณเลวอย่างไร เป็นการยึดสื่อของรัฐ (ยิ่งกว่าแทรกแซงสื่อ) เพื่อ 'ยัดเยียด' ความคิดเห็นของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามกับทักษิณให้รากหญ้ายอมรับ ยิ่งจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะในสถานการณ์ที่สังคมมีความเห็นต่างอย่างกว้างขวางขนาดนี้ สื่อของรัฐจะถูกยึดให้เป็นกระบอกเสียงของฝ่ายเดียวโดยทำเสมือนว่าอีกฝ่ายไร้ตัวตน ไร้ความคิด ไร้อุดมการณ์ ต้องคอยรับ 'การยัดเยียด' ความเห็นจากอีกฝ่ายเท่านั้น เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อมโนธรรมสำนึกที่รักความเป็นธรรมอย่างรุนแรง หากรัฐยังคิดว่าคนรากหญ้าเป็น 'พลเมืองที่มีตัวตน' ก็ไม่ควรกระทำตามแนวทางแรก
- แนวทางที่สองที่สาม ต้องพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติให้เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อของรัฐ กล่าวคือ.-
พิสูจน์สปิริตประชาธิปไตยด้วยการ (1) เปิด 'พื้นที่ความเห็นต่าง' ผ่านสื่อของรัฐให้มากขึ้น รายการที่วิเคราะห์ปัญหาการเมืองต้องเชิญวิทยากรที่เห็นต่างหรือมีความเห็นเป็นกลางมาร่วมรายการให้ประชาชนได้พิจารณามุมมองที่หลากหลาย (2) สื่อของรัฐควรมีรายการที่สะท้อนมุมมองของการเมืองภาคประชาชนคนรากหญ้าเพื่อให้พวกเขาได้มี 'เวที' เสนอความคิดเห็น (แม้แต่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา) เสนอปัญหาหรือกำหนดประเด็นสาธารณะต่างๆได้มากขึ้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่มีทางลงไปสัมผัสรากหญ้าได้สนิทแนบแน่นเท่ารัฐบาลทักษิณ แต่อาจทำได้ด้วยการ 'เปิดเวที' ให้รากหญ้าได้ขึ้นมาสัมผัสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรัฐบาลและฝ่ายอื่นๆอย่างมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน รัฐบาลควรเร่งลบภาพของสิ่งที่เรียก 'สองมาตรฐาน' ออกไป โดยสร้างความชัดเจนในแนวทางดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมกับบุคคลที่ทำผิดกฎหมายทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและฝ่ายเสื้อแดงโดยทุกขั้นตอนต้องโปร่งใสอธิบายกับสาธารณะได้ (เช่น ล้มการประชุมกลุ่มประเทศผู้นำอาเซียน+3 และ+6 กับยึดทำเนียบฯและปิดสนามบินสุวรรณภูมิ การปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาและบทลงโทษหนัก-เบา ต้องอธิบายได้ว่าไม่ใช้สองมาตรฐาน) ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลควรปรับให้แข็งมากขึ้น ทำงานเชิงรุก และสื่อสารให้เข้าถึงประชาชนทุกภาคส่วนให้ดีกว่าที่ผ่านมา ควรเร่งรัดกระบวนการปฏิรูปการเมืองให้เป็นเวทีที่ประชาชนทุกสีทุกภาคส่วนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้จริงๆ และประกาศแก่สาธารณะว่าจะใช้เวลาดำเนินการภายในกี่เดือน เสร็จแล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ นักวิเคราะห์ปัญหาการเมืองต่างมองว่า อุปสรรคขวากหนามของรัฐบาลมีมากและหนักหนาสาหัสจริงๆ ถ้ายิ่ง 'ปิด' พื้นที่ความเห็นต่าง แล้ว 'ขยาย' พื้นที่ยัดเยียด ความแตกแยกที่ร้าวลึกอยู่แล้วยิ่งจะปะทุรุนแรงมากขึ้น โอกาสของรัฐบาลจึงอยู่ที่ความกล้าหาญในการใช้ 'สปิริตประชาธิปไตย' เปิดพื้นที่ความเห็นต่างผ่านสื่อของรัฐให้ได้ และขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จโดยเร็ว แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ |
http://www.prachatai.com/05web/th/home/16470 โดย : ประชาไท วันที่ : 17/4/2552 | |
Windows Live™: Life without walls.
Check it out.