"ไม่สิ้นคม" แม้สิ้นลมหายใจ "รงค์ วงษ์สวรรค์" จอมกระบี่ "กรีดนักกินเมือง
| “เขาก็บอกว่าอาจจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งระยะสั้นหรือยาวแค่ไหนเขาก็ไม่สามารถระบุได้ คือความตายตอนนี้มันมารออยู่หน้าประตู (พูดพลางชำเลืองมองไปที่ประตู) นั่นแหละ...มันจะก้าวเข้ามาเมื่อไหร่ ?” ...เป็นส่วนหนึ่งจากคำกล่าวที่กล่าวไว้กับ “เดลินิวส์” เมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ของนักเขียนชื่อก้อง เจ้าของสมญา “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร” นามปากกา ’รงค์ วงษ์สวรรค์ แล้วเมื่อเย็นวันที่ 15 มี.ค. 2552 ที่ผ่านมา ความตายก็ก้าวเข้าประตูและดูดกลืนลมหายใจแห่งอักษรศิลป์ของนักเขียนอาวุโสท่านนี้ไป... เหลือไว้เพียง “มรดกทางความคิด” อันมีคุณค่า... @@@@@
ย้อนเวลาไปเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ณ ภายใต้หลังคาไม้แป้นเกล็ดของกระท่อมที่ถูกตั้งชื่อว่า “ลาบ- หลู้ SALOON” อันเป็นทั้งที่ทำงานและที่รับแขกไปในเวลาเดียวกันของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ หรือชื่อ-นามสกุลจริง ณรงค์ วงษ์สวรรค์ ท่ามกลางบรรยากาศล้านนา ที่รายล้อมไปด้วยสีเขียวของผืนป่าอันสงบเย็น ภายในสถานที่ที่เจ้าของตั้งชื่อว่า “สวนทูนอิน” เจ้าของสวน-เจ้าของกระท่อม-เจ้าของสมญานามพญาอินทรีแห่งสวนอักษร เคยเจียดเวลาพักผ่อน-พักฟื้นจากอาการป่วยด้วย “โรคไต” ให้มุมมองความคิดที่น่าสนใจผ่าน “เดลินิวส์” ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่ง ณ ขณะนั้นมีอายุใกล้ 70 ปี ขณะนั้นพำนัก ณ สวนทูนอินราว 20 ปีแล้ว ได้บอกเล่าสั้น ๆ ถึงบางช่วงชีวิตก่อนที่จะตัดสินใจบ่ายหน้าออกจากกรุงเทพฯ เมืองหลวงไปลงหลักปักฐานที่สวนทูนอิน ท่ามกลางความสงบงามของธรรมชาติอันพิสุทธิ์ ของดอยโป่งแยง จ.เชียงใหม่ ใจความบางตอนว่า..... “...ชีวิตผมเป็นเด็กชนบท (เกิด 20 พ.ค. 2475 ที่ จ.ชัยนาท วัยเด็กอยู่ จ.ราชบุรี) แล้วก็มาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯซะนาน จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนกรุงเทพฯ แต่วันดีคืนดีผมก็พบว่าผมพ่ายแพ้กรุงเทพฯ
พ่ายแพ้ด้วยเหตุอย่างน้อยสองข้อ คือหนึ่ง... ผมไม่เชื่อว่าผมจะดำรงความเป็นคนหนังสือพิมพ์และนักเขียนได้โดยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งราคาแพงขึ้นทุกวัน ๆ แพงเกินกว่าที่ผมจะรับไว้ได้ ผมก็เตรียมตัวที่จะเริ่มหนีกรุงเทพฯ สอง...ผมคิดว่ากรุงเทพฯมันจะต้องล้มเหลว มลพิษต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ถ้าเราไปอยู่ที่สูงจะเห็นว่ากรุงเทพฯเป็นป่าคอนกรีต อากาศก็ไม่พอจะหายใจ ผมคิดว่าผมอยู่ในสภาพอย่างนั้นไม่ได้ ผมคิดว่าผมยอมแพ้ โยนผ้าขาวแล้วสำหรับสังเวียนกรุงเทพฯ แล้วก็คิดมาอยู่กับป่า ซึ่งคนกรุงเทพฯเรียกกันว่าห่างจากความศิวิไลซ์ ไม่มีสีสันแสงสี อยู่อย่างนี้ผมรู้สึกว่าได้กลับคืนมาสู่โลกบริสุทธิ์อีกครั้ง คนในชนบท ผมว่ามีมาตรฐานทางจริยธรรมสูง ผมมาอยู่ในป่าด้วยความคารวะต่อป่า ไม่ได้มาเบียดเบียนป่า มาอยู่ด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัว สังคมชนบท สังคมป่า เขาก็มีแบบแผนที่ผมคิดว่างดงามมาก ซึ่งหาได้ยากมากในกรุงเทพฯ หรือในตัวเชียงใหม่เองก็ชักจะเหมือนกรุงเทพฯเข้าไปทุกวัน ๆ...” ทั้งนี้ นอกเหนือจากประวัติชีวิตของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งผู้สนใจงานเขียนของเขา ทั้งในฐานะนักหนังสือพิมพ์-นักเขียน คงจะทราบกันดีอยู่แล้ว ซึ่งคนทั่วไปก็คงจะพอทราบบ้าง หลังมีข่าวการเสียชีวิตของ“ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2538” ท่านนี้ กับบางมุมมองของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งมีต่อสังคมไทย ในภาคการเมือง...ที่ยุคนี้ก็กำลังร้อนรุ่ม และในภาคนายทุน...ที่กี่ยุคสมัยก็ยังคงเป็นชนชั้นพิเศษเสมอ แค่เพียงการกล่าวสะท้อนผ่าน “เดลินิวส์” สั้น ๆ ก็อาจ “ได้ใจ-กินใจ” ใครต่อใครมากมายได้ง่าย ๆ เมื่อเกือบ ๆ 8 ปีก่อน ’รงค์ วงษ์สวรรค์ สนทนา กับ “เดลินิวส์” ถึง “โคบาล-คาวบอย” อีกหนึ่งอิทธิพลต่องานเขียนของเขา โดยบอกว่า...“ชีวิตแบบโคบาลมันเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เป็นชีวิตของลูกผู้ชาย ชีวิตของผู้ที่กล้าหาญ เป็นสุภาพบุรุษ ยกเว้นคาวบอยที่เลว โดยบุคลิกของคาวบอยที่แท้จริงจะต้องเป็นสุภาพบุรุษ เป็นนักต่อสู้ เป็นคนทำงานหนัก ซึ่งวิถีชีวิตอย่างนี้ผู้ชายทุกคนในโลกชอบ...เกือบทั้งโลกต้องชอบ” และเมื่อถูกถามว่าถ้าไม่ใช่คาวบอย “แล้วแม่แบบของคนไทยล่ะ ?” พญาอินทรีอาวุโส แต่ “คมกระบี่ทางปัญญา” ยังคงความเฉียบ ตอบทันควันว่า... “...มีซิครับ..!! ความเป็นคนกล้าหาญ เป็นวีรบุรุษ เรามีอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ตลอดเวลา แต่เรามักจะมองข้ามไปโดยไม่ยกย่อง ทุกวันนี้เรามักจะยกย่องคนรวย หรือแม้แต่กระทั่งนักการเมืองที่เลวที่สุดเราก็ยังยกย่อง เพราะเขามีสตางค์มาก เราไปยกย่องคนผิด คนดีในสังคมไทยมีอยู่ตลอดเวลา แต่คนดีไม่มีบทบาทออกมาโดดเด่นเพราะถูกครอบงำหรือถูกกดเอาไว้ด้วยคนเลว คนเลว ตัวอย่างที่เห็นง่าย ๆ คือนักการเมือง ค่อนข้างจะเลว (กล่าวเสียงเน้น) ถ้านัก การเมืองดี ประเทศไทยคงจะไม่ฟกช้ำเป็นบาดแผลมากขนาดทุกวันนี้...ที่คุณหรือ ผมกำลังเผชิญหน้าอยู่
เรามีคนดีอยู่ตลอดเวลาแต่คนดีมักไม่ออกมาปรากฏในสังคม มีหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้คนดีไม่อยากปรากฏ หรือแม้แต่คนดีจริง ๆ ก็ไม่อยากลงมาเล่นการเมือง เพราะกลัวว่าตัวเองจะสกปรกไปด้วย...” ขอย้ำ...ว่านี่เป็นคำกล่าวตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อน !! ปัจจุบันคำกล่าวนี้ล้าสมัยหรือไม่...แล้วแต่จะคิด ??
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้น ๆ ปี 2544 ตั้งแต่ครั้งช่วงวัยของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ใกล้จะครบ 70 เขาเผยไว้กับ “เดลินิวส์” ถึง “งานเขียนที่ตั้งใจจะเขียนก่อนตาย” ว่า... “...มีเรื่องที่ตั้งใจมาก 2 เรื่อง แต่ไม่รู้ว่าจะทำไหวหรือไม่ไหว คือจะเขียนนวนิยายเกี่ยวกับการเมือง การทรยศหักหลังคดโกงประชาชน” “เรื่องที่สองก็เกี่ยวกับเขื่อนหลายแห่งในประเทศไทย การมีรีสอร์ท มีสนามกอล์ฟมากมายในประเทศไทย คิดว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับประชาชน เห็นง่าย ๆ มีการแย่งน้ำจากเขื่อนไปใช้รดหญ้าแทนที่จะใช้ทำการเกษตรกรรม ข้อสำคัญคือการบุกรุกเป็นเจ้าของแผ่นดินมากมายก่ายกองของคนไม่กี่สกุลวงศ์ในประเทศไทย” “ชาวนาชาวไร่ ที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เป็นหยาดเหงื่อแรงงานของประเทศ กลับไม่ได้รับผลประโยชน์จากผืนแผ่นดินไทย เพราะกรรมสิทธิ์ตกเป็นของคนรวยไม่กี่คน ซึ่งซื้อมาทิ้ง เอาไว้เฉย ๆ บางคนมีที่ดินเป็นหมื่น ๆ ไร่ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร มันควรจะเป็นของประชาชนเค้า มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า...ขายนามาได้ 10 ล้าน 2 ปีก็หมด แล้วที่ดินก็ไปอยู่ในมือนายทุน ชาวนาบางคนเช่าที่นายทุนที่เคยซื้อที่ดินของตัวเองมาทำ มันไม่เป็นธรรมกับสังคม...” @@@@@ ตั้งแต่ปี 2544 เรื่อยมาจนถึง 15 มี.ค. 2552 ถึงวันที่เสียชีวิต “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร- ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้เขียนเรื่องที่เขาอยากเขียนก่อนจะตายแล้วหรือยัง ? จุดนี้อาจไม่สำคัญแล้ว อาการเส้นเลือดในสมองแตกอาจนำพาลมหายใจอายุใกล้ 77 ปีของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไปแล้วก็จริง แต่ความตายก็ไม่อาจพราก “คมความคิดเพื่อสังคมไทย” ที่เขาได้สะท้อนสู่พวกพ้องน้องหลาน “ญาติอักษร” ไว้ในช่วงที่มีชีวิต... “มรดกความคิด” ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ย่อมมีผู้รับไว้
นักการเมืองขี้โกง-นายทุนเห็นแก่ได้...จะไม่สิ้นศัตรู !!!.
@@@@@
"เรื่องเล่า" ถึง "เรื่องเหล้า" แม้ช่วงหนึ่งซึ่งยาวนานในช่วงชีวิตของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในกายอยู่ตลอด แต่เรื่องน้ำเมา-เรื่องเหล้าสำหรับเขาคนนี้แล้ว ใช่จะมีเพียงแง่มุมแห่งการดื่ม-แห่งการเมา อย่าง น้อย “เรื่องเล่า” เพียงสั้น ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับ “เรื่องเหล้า” ตามความคิด-ความเห็นของเขานี้...ก็น่าคิด ?? “ศาสตร์ในการทำเหล้าของไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าใครเลย การทำเหล้าเริ่มต้นลงท้ายนี่เหมือนกันหมด เพียงแต่เปลี่ยนรสชาติ เปลี่ยนกลิ่น ไปตามสภาพแวดล้อมของประเทศนั้น ๆ สิ่งที่ทำให้คิดว่าไม่เหมือนกันก็คือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำให้คนไปจำแนกว่าเหล้าไอ้นั่นดีกว่าไอ้นี่...” “ประเทศไทยมีการผลิตเหล้าที่ดีที่สุดทุกภาค แต่ก็ถูกปิดกั้นเสรีภาพมาตลอด เงินที่ได้กำไรจากการผูกขาดเหล้าก็ไปตกอยู่กับนักการเมือง ซึ่งไม่เป็นเผด็จการก็เหมือนเป็น ไม่เป็นด้วยมีดพร้าอาวุธก็ต้องเป็นด้วยเผด็จการทางรัฐสภา ใครจะปฏิเสธผมบ้างล่ะว่านักการเมืองไม่เคยมาแตะต้องเงินของพ่อค้าเหล้าที่ผูกขาด” ...เป็นอีกแนวคิด-มุมมองของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่เคยสะท้อนผ่าน “เดลินิวส์” ไว้เมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ที่หยิบยกมาเล่าสู่กันอีกครั้ง ณ ที่นี้ ซึ่งเรื่องแบบนี้...สงสัยว่าเข้าข่าย “ผู้ปกครอง (บ้านเมือง) โปรดพิจารณา” ทีมวิถีชีวิต : รายงาน | |
Rediscover Hotmail®: Get e-mail storage that grows with you. Check it out.