วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

ทอท.ทำพิลึกทิ้งเค้กรายได้ 523 ล. จ่อยกเลิกสัญญา"แท็กส์"ทุบบริษัทลูกเสียหายยับ

วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4097

ทอท.ทำพิลึกทิ้งเค้กรายได้ 523 ล. จ่อยกเลิกสัญญา"แท็กส์"ทุบบริษัทลูกเสียหายยับ



ทอท.ทำพิลึก ! ทุบหม้อข้าวองค์กร เล็งยกเลิกสัญญา "แท็กส์" บริษัทลูกซึ่งตั้งมากับมือและทุกวันนี้ยังถือหุ้นรายใหญ่ ยอมสูญส่วนแบ่งรายได้ 523 ล้านบาท อ้างชนวนรถเข็นกระเป๋าสุวรรณภูมิหาย แถมยื้อการเจรจาลากยาวกว่า 3 เดือน ปล่อยผู้โดยสารและสายการบินทั่วโลก รับชะตากรรม จับตาแผนเปิดประมูล ดึงบริษัทใหม่เข้ารับงาน



แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ที่มีนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต เป็นประธาน เตรียมยกเลิกสัญญาจ้างเหมาของ บริษัท ไทย แอร์พอร์ตส กราวนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด (Thai Airports Ground Services : TAGS) ผู้ให้บริการรถเข็นกระเป๋าผู้โดยสารในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ

ทั้งที่เป็นบริษัทลูกของ ทอท. ก่อตั้งขึ้นเองเมื่อปี 2533 ปัจจุบันยังถือหุ้นใหญ่ 28.5% จำนวน 2,707,500 หุ้น มูลค่าประมาณ 27 ล้านบาท ได้รับส่วนแบ่ง รายได้จากกิจการแท็กส์รวมเกือบ 200 ล้านบาท ส่วนสัญญาสัมปทานรถเข็นกระเป๋าทำไว้ 7 ปี ด้วยค่าจ้าง 532,860,000 บาท

ขณะนี้ ทอท.พยายามจะยกเลิกสัญญากับบริษัทลูกตนเอง จะยิ่งสร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้นทั้งด้านภาพลักษณ์ รายได้ และหากเปิดทางให้บริษัทรายใหม่จากภายนอกเข้ามารับจ้างโดยใช้เงินรัฐวิสาหกิจลงทุนจัดหารถใหม่ซึ่งตั้งราคาไว้สูงเกินจริง เฉลี่ยราว 30,000 บาท/คัน ทั้งที่ต้นทุนการผลิตเพียง 10,000 บาท/คันเท่านั้น

ประการสำคัญที่สุดผู้โดยสารและสายการบินซึ่งเป็นลูกค้าของ ทอท.จะได้รับความเดือดร้อนต่อไป ซ้ำเติมอุตสาห กรรมการท่องเที่ยวของประเทศรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผสมโรงกับวิกฤตการเงินโลก อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินผันผวน ความ วุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ นักท่องเที่ยวยังต้องเจอกับบริการรถเข็นสนามบินไม่สะดวกอีกเรื่อง

แหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะนี้ ทอท.กำลังใช้วิธีการแก้ปัญหา อันอาจสร้างความสูญเสียให้หน่วยงานหนักกว่าเดิม 2 ส่วน ส่วนแรก ภาพลักษณ์บริการสุวรรณภูมิลดลง เพราะยื้อเจรจากับแท็กส์มากว่า 3 เดือน จำนวนรถเข็นกระเป๋าในสนามบินเหลือเพียง 50%

ไม่ถึง 5,000 คัน แถมต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการจ้างพนักงานบริษัทในเครือ บมจ.ล็อกซเล่ย์เข้ามาจัดเก็บเคลื่อนย้ายรถไปยังสายพานกระเป๋าช่วงเที่ยวบินหนาแน่น แทนที่จะเจรจาหาข้อยุติให้ได้ เพราะแท็กส์เองก็พร้อมนำรถใหม่ตามสเป็กมาเพิ่มในสุวรรณภูมิช่วงพฤษภาคมนี้ 2,000 คัน จัดส่งจนครบภายในสิงหาคม 2552

"นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการพิจารณายกเลิกสัญญารถเข็นกระเป๋า ตามมติการประชุมบอร์ด ทอท.เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2552 และ/หรือภายในบอร์ดเตรียมแนวทางที่จะลงทุนจัดซื้อรถเข็นกระเป๋าเอง พร้อมกับจ้างบริษัทอื่นเข้ามาบริหาร ตามขั้นตอนต้องใช้เวลาขั้นต่ำ 6 เดือน ระหว่างนั้นผู้โดยสารที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย แต่ต้องเดินทางผ่านเข้าออกสนามบิน สุวรรณภูมิวันละประมาณ 5 หมื่นคน จะต้องเดือดร้อนเพราะการบริหารจัดการของ ทอท.ด้วยหรือ" แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนที่สอง ทอท.เป็นทั้งผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในแท็กส์และผู้ก่อตั้งตามเหตุผลเดิม คือขอให้รัฐบาลอนุมัติการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแท็กส์ขึ้นเพื่อรับทำกิจกรรมภาคพื้นในสนามบิน ทอท.จะได้ไม่ต้องเสียเงินจ้างบริษัทภายนอก แถมยังมีรายได้เป็น กอบเป็นกำ แต่ขณะนี้บอร์ดชุดนายปิยะพันธ์แสดงท่าทีจะยกเลิกสัญญารถเข็นกระเป๋า

สำหรับนโยบายการยกเลิกสัญญาของบอร์ดชุดนายปิยะพันธ์ จัมปาสุตนั้นสวนทางกับมติบอร์ดชุดนายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ ช่วงปลายปี 2551 เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการเจรจากับแท็กส์ ร่วมมือกันแก้ไขเร่งด่วนที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ผู้โดยสารและลูกค้าของ 70 สายการบินนานาชาติ จากปัญหารถ เข็นถูกขโมยจนเหลือเพียงกว่า 2,000 คัน

จากทั้งหมด 9,034 คัน จึงไม่เพียงพอใช้งาน รวมทั้งตำรวจราชาเทวะได้บันทึกคำให้การผู้ต้องหาถึงกรณีรถเข็นกระเป๋านั้น มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและพนักงาน ทอท. เกี่ยวข้องอยู่ด้วย แท็กส์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ต้องมีหน้าที่หารถใหม่มาเพิ่มให้ครบตามสัญญา และ/หรือการจะฟ้องดำเนินคดีด้วย ข้อกล่าวหาว่า แท็กส์ทำให้ ทอท.เสียหายนั้น ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ เพราะตามสัญญาข้อ 8 ระบุชัดว่า ต้องพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหาย แท็กส์หรือ ทอท. และจากบันทึกการสอบสวนของตำรวจราชาเทวะปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในความดูแลของ ทอท.เกี่ยวข้องกับรถเข็นที่หายไป ดังนั้นคณะกรรมการพิจารณาการยกเลิกสัญญาบริการรถเข็นกระเป๋าจึงได้เลื่อนการประชุมสรุปเรื่องแท็กส์ มาถึง 2 ครั้ง จาก 26 มีนาคมเป็น 9 เมษายน และครั้งสุดท้ายนัดกันวันที่ 22 เมษายนนี้

รายละเอียดผู้ถือหุ้น บริษัท ไทย แอร์พอร์ตส กราวนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ประกอบด้วย บมจ.ท่าอากาศยานไทย 2,707,500 หุ้น 28.5% บริษัท เวิร์ลด์ แทรเวล เซอร์วิส จำกัด 1,424,981 หุ้น 15% บริษัท เอสเจ แอสเซท แมเนจเมนท์ เอสดีเอ็ม บีเอชดี กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย 2,127,497 หุ้น 48.5% บริษัท เพาเวอร์ลิงค์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 760,000 หุ้น 8% นายกุศะ ปันยารชุน 19 หุ้น นายสมโภชน์ ทรงพิพัฒน์ 1 หุ้น นายเชิดศักดิ์ ธีรนันทวาณิช 1 หุ้น นายธีรวุฒิ เหลืองอนันต์ 1 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท


หน้า 22
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02tou01160452&day=2009-04-16&sectionid=0208