"วังลดาวัลย์" ปฐมบทของการอนุรักษ์
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อิโคโมสไทย (ICOMOS Thailand) ได้จัดประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งที่ตั้ง ประจำปี 2008 หลังจากจำเป็นต้องเลื่อนกะทันหันเพราะเหตุการณ์ปิดสนามบิน การประชุมลุล่วงไปด้วยดี ทำให้อดไม่ได้ที่จะต้องเล่าถึงวังลดาวัลย์ ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนสถานที่จัดงานในครั้งนี้ วังลดาวัลย์ ตั้งอยู่เลขที่ 173 ถนนนครราชสีมา แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร วังลดาวัลย์หรือ “วังแดง” เดิมเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2449-2451 เพื่อพระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (ต้นราชสกุลยุคล) เมื่อคราวใกล้จะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ โดยพระราชทานนาม “วังลดาวัลย์” ตามพระนามเดิมของกรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์) ผู้เป็นเสด็จตาของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพรฯ และเพราะกำแพงวังทาสีแดงมาตั้งแต่แรกเริ่ม ประชาชนทั่วไปจึงนิยมเรียกว่า “วังแดง” และจากการที่ท่านเจ้าของวังทรงชื่นชอบศิลปะการแสดง โดยเฉพาะดนตรีไทยเป็นพิเศษ ทำให้วังลดาวัลย์แห่งนี้ได้เป็นต้นกำเนิด “วงลดาวัลย์” หรือ “ปี่พาทย์ วังแดง” ที่มีชื่อเสียงด้านการบรรเลงมโหรี ปี่พาทย์ประจำยุคสมัยนั้นอีกด้วย พระตำหนักวังลดาวัลย์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ทาสีเหลือง ตั้งอยู่โดดเด่นกลางสนามหญ้าเขียวขจี มีความสูงโดยทั่วไป 2 ชั้น มีมุขระเบียงทางเข้าด้านหน้า และหอคอยสูง 4 ชั้น ออกแบบโดยนาย ยี.บรูโน นายช่างชาวอิตาเลียน สร้างขึ้นด้วยรูปแบบที่สง่างามตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยมีรายละเอียดคล้ายกับอาคารในยุโรปยุควิกตอเรีย (พ.ศ. 2373-2444) และวิลล่าแบบอิตาเลียน เช่น การใช้ส่วนโค้งในกำแพงเหนือช่องเปิดในผนัง การประดับกำแพงด้วยเสาหลอก การใช้วิธีเซาะร่องผนังปูนฉาบให้ดูเป็นวัสดุก้อนใหญ่ การใช้ปูนปั้นสีขาวเป็นบัวและลวดลายในบริเวณต่าง ๆ เป็นต้น แต่เดิมวังลดาวัลย์นี้ได้ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมากในช่วงปลายของสงครามมหาเอเชียบูรพา ก่อนที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะได้เข้ามาดูแลในปี พ.ศ. 2498 ในเวลานั้นมีเพียงพระตำหนัก และอาคารหลังเล็กท้ายวังเท่านั้นที่ยังแข็งแรงพอใช้งานได้ จึงได้มีการรื้อถอนอาคารบริวาร แล้วปลูกสร้างขึ้นใหม่ จนล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2530 จึงได้มีการริเริ่มแนวคิดที่จะทำการบูรณะให้เป็น “อาคารต้นแบบของการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ” จากนั้นจึงได้มีการวางแผนดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร และผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นที่ปรึกษาตลอดการบูรณะ จากประสบการณ์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในการที่จะพยายามบูรณะรักษามรดกสถาปัตยกรรมโดยเริ่มจากวังลดาวัลย์นี้ ก่อเกิดโครงการสืบเนื่องต่อมาในเชิงของการพัฒนาเชิงอนุรักษ์อีกหลายแห่ง อาทิ ตึกแถวย่านถนนพระอาทิตย์ ตลาดนางเลิ้ง ฯลฯ โดยล่าสุดโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางมณฑลปราจีน ในเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา จนกลายเป็นถนนสายวัฒนธรรมของชุมชน ทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้รับรางวัลประเภท Honourable Mention จาก 2008 UNESCO Asia-Pacific Heritage Awards เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าการอนุรักษ์สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และทำให้เกิดทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible Heritage) คืนกลับสู่ชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้นับได้ว่ามีปฐมบทเริ่มต้นมาจากที่วังลดาวัลย์นั่นเอง. **สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites หรือ ICOMOS) คือองค์กรวิชาชีพทางมรดกทางวัฒนธรรมในระดับสากล ซึ่งมีเป้าหมายการทำงาน เพื่อการอนุรักษ์ และปกป้องคุ้มครองโบราณสถานในลักษณะขององค์กรอิสระ NGO ที่จะมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการของ UNESCO โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคณะกรรมการมรดกโลก ** อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก : สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, วังลดาวัลย์ เปิดประตูสู่การพัฒนาเชิงอนุรักษ์ เพื่อประโยชน์ยั่งยืน, ม.ป.ป. และ Nithi Sthapitanonda, Architectural Drawings of Historic Buildings & Places in Thailand, Li- Zenn Publishing, 2008. ** ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะด้านงานสถาปัตย์เชิงอนุรักษ์ได้ที่ www.thai-heritage-building.com หรือ เข้าผ่านหน้าเว็บของ www.asa.or.th ** ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
| http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=71822&NewsType=2&Template=1 |
Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.