วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

สบท. ระบุผู้บริโภคยังไม่สนใจอ่าน สัญญาเพื่อรักษาสิทธิ

สบท. ระบุผู้บริโภคยังไม่สนใจอ่าน สัญญาเพื่อรักษาสิทธิ [15 เม.ย. 52 - 05:22]

นายแพทย์ประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) องค์กรอิสระในการกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ สบท. ได้ทำวิจัย เรื่อง สำรวจความตระหนักด้านสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์บ้าน และอินเทอร์เน็ตในที่พักอาศัย ของกลุ่มผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จาก 18 จังหวัดทั่วประเทศ จากผลสำรวจพบว่าผู้บริโภคประสบปัญหาการใช้บริการโทรคมนาคมด้านต่างๆ จำนวนมาก และยังไม่ทราบสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
ผอ.สบท.กล่าวถึงผลสำรวจด้านด้านการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พบว่า กลุ่มตัวอย่างใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินมากกว่าแบบรายเดือน เฉลี่ยจะใช้โทรศัพท์วันละ 35.89 นาที มีค่าบริการโดยเฉลี่ย 404.75 บาทต่อเดือน จากการสำรวจเรื่อง การทำสัญญาเพื่อใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรายเดือน พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างไม่เคยอ่านสัญญาการให้บริการถึง 57.2 % ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เคยอ่านสัญญา และยอมรับในข้อสัญญาเชิงบวก คือ ผู้ให้บริการเปิดเผย หรือ แสดงสัญญาการให้บริการ สัญญามีความชัดเจน เข้าใจง่าย ผู้ให้บริการแจ้งข้อมูลในสัญญาอย่างครบถ้วน และเงื่อนไขข้อกำหนดในสัญญามีความเป็นธรรมกับลูกค้ามีอยู่ 45.8%
นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนผลการสำรวจเรื่องการแจกซิมฟรีพบว่า กลุ่มตัวอย่าง เคยได้รับซิมฟรี ที่มีการชี้แจงเรื่องรูปแบบบริการ และอัตราค่าบริการ แต่ไม่ได้รับการชี้แจงเรื่องสิทธิที่จะได้รับ หรือ บริการเสริมและเงื่อนไขด้านระยะเวลามีอยู่ 21.4% ส่วนในกรณีที่ผู้ได้รับแจกซิมฟรีพบว่า มีการให้บริการที่ไม่เป็นไปตามที่พนักงานแจ้งนั้น จากการสำรวจพบว่า ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ปัญหา 72.9% ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่จะใช้วิธีโทรฯ แจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์เพื่อยกเลิกบริการ หรือเปลี่ยนไปใช้เบอร์อื่น และเปลี่ยนโปรโมชันมีอยู่ 27.1% ทั้งนี้ผลของการโทรแจ้งปัญหาพบว่า ผู้ให้บริการไม่รับผิดชอบใดๆ มีถึง 81.4% ส่วนที่รับผิดชอบด้วยการดำเนินการแก้ไขให้ หรือ ให้คำแนะนำ มีเพียง 18.6% เท่านั้น
ผอ.สบท.กล่าวถึงผลการสำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตในที่พักอาศัยพบว่า จำนวนวันโดยเฉลี่ยที่อินเทอร์เน็ตขัดข้องใช้การไม่ได้ คือ 4.71 วันต่อเดือน  สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้การเหมาจ่ายเป็นรายเดือนนั้น พบว่า ร้อยละ 72.2  เสียค่าบริการในวันที่อินเทอร์เน็ตขัดข้องใช้ไม่ได้ด้วย ร้อยละ 66.5 เห็นว่า ความเร็วของอินเทอร์เน็ตช้ากว่าในโฆษณา วิธีการแก้ปัญหาอินเทอร์เน็ตช้าที่ตัวอย่างระบุมา 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. เรียกช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ 2. รีสตาร์ทเครื่องคอมพิวเตอร์ 3. ไม่ได้แก้ไข  4.รอเวลาไปเรื่อย ๆ และ 5. เชื่อมต่อเครือข่ายใหม่อีกครั้ง 
นพ.ประวิทย์ กล่าวด้วยว่า มีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 72.7 ไม่ทราบว่า การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ Dial-up โดยใช้เลขหมายโทรศัพท์ข้ามพื้นที่ จะต้องเสียค่าบริการในอัตราโทรทางไกล สำหรับช่วงเวลาในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยากนั้น ส่วนมากจะระบุในช่วงหลัง 5 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน กรณีการติดตั้งอินเทอร์เน็ต ADSL ที่ต้องเสียค่าบริการ 2 ต่อ คือ ค่ารักษาคู่สายโทรศัพท์ และค่าบริการแบบเหมาจ่ายรายเดือน จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 50.9 ไม่ทราบว่าเป็นเช่นนี้ แต่อีกร้อยละ 51.5 เห็นว่าเป็นธรรมดีแล้ว ส่วนกลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 48.5 เห็นว่าไม่เป็นธรรม ควรคิดอัตราค่าบริการที่ถูกกว่านี้และ ไม่ควรมีค่ารักษาคู่สายโทรศัพท์
http://www.thairath.co.th/news.php?section=technology03b&content=132948