วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

วันผู้สูงอายุ คอลัมน์ โลกสองวัย โดย บางกอกเกี้ยน bangkokkian@matichon.co.th

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11357 มติชนรายวัน


วันผู้สูงอายุ


คอลัมน์ โลกสองวัย

โดย บางกอกเกี้ยน bangkokkian@matichon.co.th



ทำไมวันสงกรานต์จึงผูกพันกับสังคมไทย และครอบครัว ซึ่งปัจจุบันกำหนดวันขึ้นปีใหม่ของไทยปรับเปลี่ยนไปจากเดิมหลายสิบปีแล้ว (พ.ศ.2483)

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) มีผู้รู้จักมักคุ้นคนหนึ่ง ชื่อ เอนก จงเสถียร ท่านผู้นี้ขยันเรียนตอนอายุมากแล้ว จึงมีโอกาสได้พบกันตอนไปรับการอบรมที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการเสริมสร้างผู้จัดการยุคใหม่ รุ่นแรก ถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 25

ต่อมาไปเรียนต่อปริญญาตรี แล้วกลับมาเรียนปริญญาโทที่คณะเดิมหลักสูตรสำหรับผู้บริหาร รวมทั้งเข้าร่วมรับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ อีกหลายหลักสูตร

นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการใหม่ในบริษัท เอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เขาเป็นผู้บริหารใหญ่ระดับ CEO จัดให้มีร้านอาหารที่บริษัทเพื่อจำหน่ายให้บุคคลภายนอกและกับพนักงานบริษัทในราคาถูก (ถึงจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่มีน้อยแห่งที่บริษัทขนาดไม่ใหญ่นัก มีพนักงานไม่มากเปิดร้านอาหารระดับนี้ได้)

สามสี่ปีที่ผ่านมา คุณเอนกเห็นข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เป็นญาติผู้ใหญ่ที่ต้องส่งเจ้าหน้าที่นำน้ำอบไทย พวงมาลัย และผ้าไหมมาคารวะ พร้อมกับแนบแผ่นพับตีพิมพ์เรื่องตำนานสงกรานต์ และประเพณีสงกรานต์มาให้อ่านประดับความรู้อีกด้วย

ในแผ่นพับมีเรื่องของวันสงกรานต์ดังที่เขียนถึงเมื่อวานไปแล้ว ยังแจ้งถึงคุณค่าและความสำคัญของวันสงกรานต์ไว้ด้วยว่า

ประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ ช่วงสงกรานต์จึงเป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพันที่มีต่อกันทั้งครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสนา ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสอยู่ร่วมกันเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา ดังที่แสดงไว้เมื่อวานนี้

นอกจากนั้น ยังสร้างความรู้สึกผูกพันกลมเกลียวต่อบุคคลในสังคมเดียวกัน และสร้างความรู้สึกหวงแหนในสาธารณสมบัติของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยการช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม และอาคารสถานที่ต่างๆ

วันนี้ ทางจารีตประเพณีถือเป็นวันเนา ซึ่งทางราชการไทยกำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดงานไปแล้วเมื่อวันที่ 9 เมษายนจากแนวคิดที่ว่า "ผู้สูงวัยคือคุณค่าของสังคม"

และประกาศให้ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา วัย ๙๙ ปี เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ - ข้าพเจ้าชาวโลกสองวัยขอชื่นชมยินดีและคารวะท่านอาจารย์มา ณ ที่นี้ ท่านอาจารย์ยังแข็งแรง แม้ต้องเดินทางด้วยรถเข็นเป็นบางครั้ง แต่สติสัมปชัญญะของท่านยังสมบูรณ์ จำลูกศิษย์ได้ และพูดคุยเป็นปกติราวกับเพิ่งจะพ้นวัยเกษียณมาหยกๆ

ความสำคัญของผู้สูงอายุมิใช่จะมีเพียงคุณค่าของสังคมเท่านั้น แต่สังคมและครอบครัวต้องรู้จักไหว้วานประโยชน์จากท่าน ทราบหรือไม่ว่า บรรดา ส.ว.เหล่านี้เลี้ยงหลานดีที่สุด

ดังมักจะกล่าวกันว่า "แก่แล้วอย่าทำงานการอื่นเลย อยู่บ้านเลี้ยงหลานดีกว่า" ฟังดูเหมือนประชดประชัน แต่คิดให้ลึกๆ จะเห็นประโยชน์อย่างแท้จริงของผู้สูงอายุในการเลี้ยงหลาน หรือเลี้ยงเด็ก เพราะผู้สูงอายุเหล่านี้ที่ยังมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์มีประสบการณ์ดูแลเด็กมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นพ่อแม่

ที่สำคัญ คือคนแก่ย่อมมีความรักและเมตตาเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เป็นหลานเหลนรวมถึงเด็กทั่วไปอย่างแท้จริง ความรักและเมตตาจากผู้เฒ่าผู้แก่นี้แหละที่จะถ่ายทอดลงไปให้น้องหนูทั้งหลายได้เติมโตมาอย่างมีความรักและเมตตาติดตัวมาด้วย

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เคยได้ยินคุณปู่คุณตาพูดว่า ข้าเลี้ยงลูกไม่เลี้ยงหลานนะเว้ย แต่เมื่อลูกฝากให้ดูแลหลานประเดี๋ยวจะไปทำธุระหน่อยหนึ่ง คุณปู่คุณตาได้ยินเสียงอ้อแอ้ หัวร่อเอิ๊กอ๊าก และหลานยิ้มให้ เท่านั้นแหละ

"ติดหลานไม่ยอมปล่อยตั้งแต่วันนั้น นักต่อนักแล้ว"

หน้า 21

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra04140452&sectionid=0131&day=2009-04-14