วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

จับกระแสสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม Reuse Reduce Recycle ...ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจฉลุย


 
วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4096

จับกระแสสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม Reuse Reduce Recycle ...ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจฉลุย



ผ่านพ้นปีวัวมาได้ 3-4 เดือน หลายๆ ธุรกิจต้องวิ่งด้วยอาการเหนื่อยหอบแฮกๆ เพราะต้องวิ่งวิบากให้ข้ามพ้นวิกฤตเศรษฐกิจให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ไม่ได้เกิดขึ้นจากภายในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาหลักเกิดจากประเทศผู้ซื้อที่ประสบปัญหากำลังซื้อหดหาย เงินในกระเป๋าอ่อนแรง

แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่ประสบกับวิบากกรรมเศรษฐกิจ เพราะยังมีอีกหนึ่งกลุ่ม ที่ได้ผลกระทบเพียงแผ่วๆ นั่นคือธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกรีนคอนเซ็ปต์ หรือธุรกิจที่อยู่ข่ายช่วยลดโลกร้อน ที่ปัจจุบันแม้ทุกประเทศจะเจอปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ธุรกิจนี้ยังมีเส้นทางเดินที่เติบโตขึ้นได้เรื่อยๆ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

ขยะขาดตลาด ใครๆ ก็อยากซื้อ

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการ บริษัท โรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จำกัดกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจ ณ เวลานี้ มีหลายๆ อุตสาหกรรมกำลังประสบปัญหา แต่สำหรับวงจรธุรกิจรีไรเคิลขยะ กลับดีขึ้น เวลานี้สินค้าจากขยะไม่พอขาย

"ตอนนี้ขยะขาดตลาด เพราะหลายๆ อุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจต่างก็มุ่งในเรื่องการลดต้นทุน ลดการใช้สินแร่มือหนึ่งที่มีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก เหล็ก ทองแดงต่างหันมาใช้รีไซเคิลกันมากขึ้นเพราะราคาถูกกว่า ทำให้สินแร่รีไซเคิลจากขยะขายดีมาก จนไม่พอขาย จนเวลานี้ราคาสินแร่หลายๆ ตัว อาทิ ทองเหลือง ทองแดง หรือแม้แต่กระดาษ ฯลฯ ที่เคยตกต่ำเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ราคาปรับสูงขึ้น เพราะผู้ผลิตจากทั่วโลก ต่างก็มุ่งในเรื่องลดต้นทุนเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นการปรับตัวตามสภาพกำลังซื้อของผู้บริโภค ยกตัวอย่างผู้บริโภคจากที่เคยซื้อเก้าอี้พลาสติกมือหนึ่งตัวละ 600 บาท ก็หันมาซื้อเก้าอี้ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลที่ราคา 300-400 บาท เป็นต้น



ดร.สมไทยกล่าวอีกว่า ส่วนที่มาของขยะรีไซเคิล ก็ไม่มีปัญหา เพราะปัจจุบันมีคนรวยที่ขายของเก่ามากขึ้น ทำให้ซัพพลายขยะ ไม่มีปัญหา

"วิกฤตเศรษฐกิจตอนนี้กระทบกลุ่มเจ้าของโรงงานจำนวนมาก ที่เดินหน้าสานต่อธุรกิจของตัวเองไม่ไหว ต้องบอกขายกิจการ ขายโรงงาน ขายเครื่องจักรจำนวนมาก ซึ่งส่วนนี้แหละที่เป็นซัพพลายให้โดยการรับจ้างชำแหละชิ้นส่วนโรงงานเก่า เครื่องจักร ฯลฯ จากนั้นก็นำมาหลอมรวมกลายเป็นวัสดุรีไซเคิล แยกประเภทขายตามที่ตลาดต้องการ" ดร.สมไทยกล่าวและว่าเพราะฉะนั้นแนวโน้มหลังจากนี้สำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะยังดีต่อเนื่อง

ฐานลูกค้ากระจายอยู่ทั่วโลก

ด้าน น.พ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกแพ็กเกจจิ้ง ตรา "BIO" แพ็กเกจจิ้งที่ผลิตจากชานอ้อยที่ย่อยสลายได้ง่ายสามารถใช้ทดแทนโฟม ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หลายๆ สินค้าเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าส่งออก ต่างได้รับผลกระทบ แต่สำหรับสินค้าของบริษัทนั้นไม่ถึงกับไม่ได้รับผลกระทบเลย แต่เรียกว่า ได้รับผลกระทบบ้างแต่น้อย

สาเหตุน่าจะเป็นเพราะเป็นสินค้าที่อยู่ในเทรนด์สุขภาพและช่วยลดโลกร้อน ที่มีกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายชัดเจน !



"ผู้บริโภคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ จะคิดก่อนซื้ออยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเขามีการคิดก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ นั่นหมายความว่า ลูกค้ามีข้อมูล มีเหตุและผล และมีกำลังซื้อ เพราะเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไป ว่าสินค้าในกลุ่มกรีน นั้นจะมีราคาที่สูงกว่าสินค้าปกติ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มลูกค้าลักษณะนี้มีกระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งอาจจะมีจำนวนไม่มากนักในขณะนี้ แต่มีแน่นอน ซึ่งถ้าเราหาเจอ สินค้าเราก็ขายได้"

น.พ.วีรฉัตรอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า แพ็กเกจจิ้งตรา "BIO" ก็เหมือนกับสินค้าเครื่องสำอาง ที่แม้เศรษฐกิจจะตกต่ำอย่างไร เครื่องสำอางก็ยังขายได้ เพราะผู้หญิงมองเห็นถึงความจำเป็นต้องใช้ แพ็กเกจจิ้งไบโอก็เช่นเดียวกัน จะต่างกันก็ตรงที่วิธีคิดของลูกค้า ที่มองในเรื่องของคุณประโยชน์ที่ตัวเองและสังคมจะได้รับ กับคุณสมบัติที่ย่อยสลายได้ง่าย ไม่ทำร้ายตัวเอง และดีกับสิ่งแวดล้อม

"ซึ่งตลาดผู้บริโภคกลุ่มนี้ถ้าโฟกัสเป็นรายประเทศอาจจะยังไม่ใหญ่มาก แต่ถ้ารวมทั่วโลกนับว่าใหญ่เพราะมีกระจายอยู่ในทุกประเทศ ซึ่งบางประเทศอย่างอเมริกา อาจจะได้รับผลกระทบ ผมก็ไปหาตลาดใหม่ อย่างตะวันออกกลาง

ซึ่งก็มีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่เช่นกัน ซึ่งวอลุ่มในแต่ละประเทศอาจจะไม่มาก ขอเพียง 500,000-1 ล้านชิ้นในแต่ละประเทศ แต่มีหลายๆ ประเทศ ยอดขายโดยรวมก็ไม่ตกแล้ว" น.พ.วีรฉัตรกล่าวและว่า เราไม่เน้นวอลุ่มที่จะขายเยอะๆ ในประเทศเดียว แต่เราเน้นหลายๆ ประเทศซึ่งแม้วอลุ่มน้อยก็ไม่เป็นไรสามารถอยู่ได้

ฉะนั้นจากสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เราจึงอยู่ได้และเติบโต และการที่ค่าเงินบาทอ่อนก็ยิ่งช่วยได้มากขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่เป็นเรื่องปัญหาการเมืองในประเทศ ที่แตกแยกแบ่งฝ่าย ซึ่งเป็นปัญหาที่เราไม่สามารถจะเข้าไปจัดการได้ แต่ทว่ากระทบมาก เฉพาะอย่างยิ่งกับลูกค้าต่างประเทศที่เขาจะเดินทางมาประเทศไทยก็ไม่กล้า เพราะกลัวว่าปัญหาจะเกิดซ้ำรอย

กรีนคอนเซ็ปต์ยังโตได้

ด้าน วีรนุช ตันชูเกียรติ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Osisu จำกัด ผู้ผลิตและออกแบบสินค้าเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุรีไซเคิล กล่าวว่า จากการที่สอบถามและติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ พบว่าในภาพรวมได้ รับผลกระทบจริงๆ แต่สำหรับสินค้าของบริษัทกลับได้รับผลกระทบน้อยมาก สาเหตุน่าจะเป็นเพราะว่า เทรนด์ในเรื่องการตระหนักเรื่องลดโลกร้อน ผู้บริโภคยังให้ความสนใจ และยังมีกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ให้ความสำคัญ และที่สำคัญกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้มีกำลังซื้อ

"ตอนนี้เรายังมีลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ทำให้ยอดขายโดยรวมของบริษัทไม่ตกเช่นบริษัทอื่นๆ และจากการที่สอบถามลูกค้าต่างประเทศก็พบว่า สินค้าในกลุ่มกรีน คอนเซ็ปต์ยังมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างล่าสุด ก็คือลูกค้าที่ฮ่องกง ที่เปิดเป็นช็อปภายใต้คอนเซ็ปต์กรีนโดยเฉพาะ ที่ทำการซัพพลายสินค้ากลุ่มนี้จากทั่วโลก มาขาย ซึ่งนับวันตลาดกลุ่มนี้จะเติบโตขึ้น" วีรนุชกล่าวตอนท้าย


หน้า 40
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02biz01130452&day=2009-04-13&sectionid=0214
 


Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.