วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4097 "มิลคอม"ม้ามืด ยึด"สุวรรณภูมิ" ให้บริการ"ไวไฟ" "มิลคอม ซิสเต็มส์" มาแรง คว้า โปรเจ็กต์ "ไว-ไฟ" ให้บริการอินเทอร์เน็ต ไร้สายในสนามบินสุวรรณภูมิ 3 ปี หวังชดเชยรายได้บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ "เซย์ไฮ" เผยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ-การเมืองฉุดนักท่องเที่ยวหด กระทบยอดขายบัตรโทรศัพท์-บริการโรมมิ่งยอดตก
นายพาอนันต์ อุรุนานนท์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท มิลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้ให้บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศในชื่อ "เซย์ไฮ" เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในปีนี้ตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศน่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งทำให้คนเดินทางเข้าประเทศไทยน้อยลง ขณะที่กลุ่มโรงแรมที่บริษัทเข้าไปให้บริการอินเทอร์เน็ตและจำหน่ายบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศก็มีลูกค้าเข้าพักน้อยลงราว 30% คาดว่าหลัง เม.ย.นี้จะเห็นผลกระทบที่ชัดขึ้น อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบริษัทได้รับคัดเลือกจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยให้เป็นผู้ให้บริการระบบอินเทอร์เน็ตไร้สาย (ไว-ไฟ) ทั่วพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายใต้ชื่อ "WLAN NET" สัญญาให้บริการเป็นเวลา 3 ปี ใช้งบฯลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท คาดว่าจะคืนทุนได้ภายในปีครึ่ง ช่วยสร้างรายได้อีกด้าน นอกจากนี้บริษัทยังร่วมมือกับบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเลขหมายไอพีหมวด "06" ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้บริการลูกค้ากลุ่มองค์กรที่ใช้ตู้สาขาเพื่อช่วยลด ค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรธุรกิจด้วย ขณะที่นายพีรศักดิ์ อรุณสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจโทรศัพท์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในขณะนี้ทำให้ธุรกิจโทรศัพท์ระหว่างประเทศได้รับผลกระทบเล็กน้อยในส่วนของกลุ่มลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์เพื่อติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งบางส่วนต้องปิดกิจการ และบางส่วนต้องประหยัดค่าใช้จ่ายโดยหันมาใช้ "CAT 009" ซึ่งเป็นบริการราคาประหยัด จากเดิมที่ใช้ "CAT 001" ซึ่งเป็นบริการพรีเมี่ยม "กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน่าจะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ปริมาณอินบาวนด์โรมมิ่ง (ต่างชาติเข้ามาใช้ในไทย) ลดลงมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลง กสทฯเองก็ลดลงบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะทราฟฟิก กสทฯลดลงมากตั้งแต่ปีที่แล้ว จากการที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือใช้เครื่องหมายบวก (+) ผ่านบริษัทลูกตัวเองแทนที่จะเป็นเลขหมาย 001" ทั้งนี้ปี 2551 ที่ผ่านมารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของ กสทฯอยู่ที่ 6,900 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ประมาณ 30% อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะตั้งเป้ารายได้ไว้แค่ 6,500 ล้านบาท และปี 2552 บริษัทน่าจะยังรักษารายได้และส่วนแบ่งตลาดเท่ากับปีที่ผ่านมา "ปลายปี 2551 คู่แข่งเล่นสงครามราคากันค่อนข้างแรง อย่างไรก็ตามพบว่าหลายบริการมีรายได้เข้ามามาก ชดเชยรายได้ที่หายไป เช่น บริการบัตรโทรศัพท์ที่มียอดการใช้งานเพิ่มขึ้น และมีรายได้เกินหลักร้อยล้านบาทถือว่าคุ้ม และนโยบายของ กสทฯจะเกาะติดราคาตลาดโดยไม่ปล่อยให้คู่แข่งแซงหน้าอีก ต้องเร่งสร้างฐานลูกค้า" ส่วนแนวทางระยะยาว กสทฯจะเร่งหาคู่ค้าในส่วนของ wholesale และ transit ให้มากขึ้น เพื่อดึงทราฟฟิกมาวิ่งบนโครงข่ายให้มากที่สุด และภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีเพราะบริษัทโทรคมนาคมรายเล็กๆ ที่เป็นนายหน้าขายทราฟฟิกของโครงข่ายต่างๆ ต้องเลิกกิจการไป กสทฯจึงมีโอกาสโดยจะเร่งเจรจากับบริษัทผู้ให้บริการทั้งในและต่างประเทศเพื่อดึงทราฟฟิกมาใช้โครงข่ายของ กสทฯ และเชื่อว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนี้จะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 3-5% ของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ดร.เจน จูฑา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศในขณะนี้ว่า มีมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท แต่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทำให้การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณการใช้งานโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มบริการ international roamming เพราะนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศน้อยลง ในส่วนของทรูซึ่งให้บริการ 006 ด้วยเทคโนโลยี VoIP ไตรมาส 1 ของปี 2552 มีปริมาณการโทร.น้อยลง 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตามไม่มีผลกระทบกับ รายได้รวมของบริษัทเนื่องจากทรูเพิ่งเริ่มเปิดให้บริการ ทุกอย่างจึงเริ่มจากศูนย์ แต่การเติบโตที่เกิดขึ้นนั้นควรจะโตได้อีก หากอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่านี้ หน้า 24 http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02com03160452&day=2009-04-16§ionid=0209 | |