วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง โลกไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่เรายังทะเลาะกันเรื่องรัฐธรรมนูญ

 
วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4097

คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง โลกไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่เรายังทะเลาะกันเรื่องรัฐธรรมนูญ



วงเวียนแห่งวิกฤตการเมืองที่หมุนวนให้บรรยากาศของประเทศไทยกรุ่นไปด้วยไอร้อนแห่งการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลในเดือนเมษายน

เป็นการซ้ำรอยวิกฤตที่ฉุดการเดินหน้าของประเทศให้ซ้ำซากอีกครั้งหนึ่ง

จาก "สีเหลือง" ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาเป็น"สีแดง" ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการแห่งชาติ

ในวังวนของผลประโยชน์ที่ดูจะไร้ทางออกนี้ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ปัญหาการเมืองฐานะคนวงในถึงต้นตอของคำว่า"อมาตยาธิปไตย" ด้วยประวัติศาสตร์

ศ.ดร.ลิขิต หนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ย้อนหลังไปถึง 30 กว่าปีที่แล้ว เมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่าเป็นช่วงที่เกิดชนชั้นใหม่ของสังคมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากการคุกคามของภัยจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และระเบียบโลกที่มหาอำนาจบัญญัติขึ้น

"14 ตุลาคม 2516 สังคมเราเริ่มเปลี่ยนเนื่องจากสภาพสังคมดังกล่าวมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ มีสภาพัฒน์ หอการค้า ธนาคาร บรรษัทการเงินเกิดขึ้นมาก เทคโนโลยีเปลี่ยนจากเกษตรมาเป็นกึ่งเกษตรกึ่งอุตสาหกรรม 19 ปีต่อมาเกิดพฤษภาทมิฬ ยุคนั้นเรียกว่าม็อบมือถือ ม็อบรถเก๋ง ส่วนการเคลื่อนไหวโจมตีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นม็อบอินเทอร์เน็ต"

"ผมพยายามชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยนั้นอยู่ภายใต้กรอบเทคโนโลยีและระเบียบโลก เศรษฐกิจโลก เราไม่ได้อยู่เดี่ยวๆ เราต้องเปลี่ยนแปลงไปตามนั้น ประเด็นของการอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจสังคมของแต่ละประเทศก็คือว่า เมื่อกระแสของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาจากข้างนอก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากข้างใน เริ่มต้นจากการเพิ่มของปริมาณประชากรมากขึ้น มันจะไม่เหมือนเดิม 18 ล้านคน กลายมาเป็น 35 ล้านคน กลายมาเป็น 64 ล้านคน จะให้เหมือนเดิมไม่ได้"

ทั้งนี้ ศ.ดร.ลิขิตอธิบายประเด็นสำคัญว่า วัฒนธรรม สถาบันทางสังคม ระบบราชการ ระบบการศึกษา แม้กระทั่งคำสอนทางศาสนา ค่านิยม หมุนตามโลกทันหรือไม่ ถ้าหมุนตามโลกไม่ทันจะเกิดการเสียดุล

นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ที่อยู่ในสังคมตามทันเหตุการณ์หรือไม่ แก้ปัญหาได้หรือไม่ ถ้าคำตอบว่าทั้งสองมีการเสียดุลตามไม่ทัน นั่นคือสาเหตุของปัญหา

"เพราะฉะนั้นหลังปี 2475 จนถึง ปี 2500 มันก็เห็นชัดว่า สังคมการเมืองเศรษฐกิจโลกมันเปลี่ยน แต่สังคมไทยยัง ไม่เปลี่ยน ข้าราชการที่ปฏิรูปมาตั้งแต่ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 จึงผูกขาดการเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งหมดตั้งแต่ 2475 จนถึง 2516 เป็น 41 ปีที่มีนายกรัฐมนตรีที่มีปูมหลังเป็นทหาร 38 ปี นี่เป็นที่มาของอมาตยาธิปไตย คือเป็นทหาร ผ่านการเลือกตั้งที่ไม่ใช่สมบูรณ์ บางทีก็แต่งตั้ง วุฒิสภาก็มาจากการแต่งตั้ง แล้วนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง"

"หลังจากนั้นจึงเกิด 6 ตุลาคม 2519 นี่เป็นการพยายามที่จะกลับมาอีกครั้งของอมาตยาธิปไตย แต่กลับมาไม่ได้เพราะสังคมมันเปลี่ยน จึงนำไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รวม 10 ปีเต็ม หลังจากนั้นมีพฤษภาทมิฬเกิดขึ้น ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.จึงเริ่มมีเกณฑ์แห่งตัวเลขในชัยชนะของพรรคการเมืองนำไปสู่อำนาจ"

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็มีรัฐบาลที่มาจากทหาร 15 เดือน อันนี้คืออมาตยาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะสังคมมันเปลี่ยนจนจำไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

ข้อพิจารณาข้อที่ 1 เป็นคลื่นลูกที่สาม เป็นกระแสโลกาภิวัตน์ ข่าวสาร ข้อมูล จากเกษตรมาสู่อุตสาหกรรม

ข้อที่ 2 ประเทศไทยก็เปลี่ยน ประชากรไทยเพิ่มขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องปริมาณ ความรู้ของคนก็เปลี่ยนแปลง ข่าวสารข้อมูลพัฒนาไปเร็วมาก ทีวี โทรศัพท์มือถือมีกันเยอะ คนยากจนก็มี ระบอบการปกครองที่ให้ข้าราชการเป็นคนกำหนดทุกอย่างมันคงอยู่ไม่ได้ อย่างไร ก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมคือการเลือกตั้งยังไม่พอต้องมีการเมืองภาคประชาชน

ศ.ดร.ลิขิตวิเคราะห์ประเด็นที่เป็นปัญหาขณะนี้ว่า ระบบการเมืองที่จะตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยขณะนี้มัน ไม่ลงตัว เนื่องจากว่าประชาชนยังไม่มีบทบาทอย่างแท้จริง เพราะคนส่วนใหญ่ ที่อยู่ในชนบทยังจนและเขลา

"สอง ตัวแปรนี้มันทำให้เกิดการขายสิทธิขายเสียง ทำให้การเมืองเปลี่ยนจาก อมาตยาธิปัตย์มาสู่กลุ่มธนาธิปไตย คนที่ร่ำรวยมาจากการทำธุรกิจ วิธีการเข้าสู่อำนาจรัฐก็คือซื้อเสียง ตั้งพรรคการเมือง แล้วถอนทุนด้วยการคอร์รัปชั่นในโครงการใหญ่ๆ จึงทำให้เกิดปัญหาความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย ประชาชน ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องมือ การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมในการ หย่อนบัตร ไม่ใช่การเลือกตั้งที่เกิดจากข้อมูลความรู้แล้วเลือกด้วยการตัดสินใจ ของตัวเอง"

"ปัญหาที่เกิดความขัดแย้งในขณะนี้คือระบบมันไม่ลงตัว มันไม่สามารถจะตอบสนองได้ต่อกลุ่มต่างๆ คุณทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการให้ประชาธิปไตยดำเนินไปได้ด้วยดี แต่คุณทักษิณก็ไม่ได้เป็นนักประชาธิปไตยในความเป็นจริง กลายเป็นคนใช้ความอ่อนแอของระบบ ของสังคม ทำให้อยู่ในอำนาจในลักษณะที่ขาดความชอบธรรม เช่น การควบคุมองค์กรอิสระ ทั้งหลาย รวมทั้งการเข้าไปควบคุมวุฒิสภา แล้วยังมีข่าวในการใช้อำนาจรัฐไปทำธุรกิจ

นี่คือที่มาที่ไปของปัญหาว่าระบบการเมืองต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสังคม แต่พอปรับเปลี่ยนเสร็จแล้วกลับถูกคนที่มีอำนาจเงิน มีฐานะทางสังคม และมีอำนาจจากการเลือกตั้งนั้นใช้ประโยชน์จากความอ่อนแอของสังคมนี้"

"มันจึงเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่วิธีการอันนั้นก็แก้ปัญหาสมัยใหม่ไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อแก้ไม่ได้ก็พยายามเปลี่ยนรูปแบบ ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญ 2550 หวังว่าจะทำให้ดีขึ้นแต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้

ดังเห็นกันอยู่แล้วว่าเลือกตั้งก็กลับมาใหม่ จึงมีความพยายามตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารัฐธรรมนูญที่สถาบันพระปกเกล้ากำลังจะทำ คำถามคือเราจะศึกษาอะไรกันอีก ในเมื่อเราก็รู้กันหมดแล้ว อยู่ที่ว่าเราปฏิบัติไปแล้วมันไม่ได้ผล"

ราชบัณฑิตให้ความเห็นต่อไปอีกว่า ประชาธิปไตยจะได้ผลนั้นมีอยู่ 3 ตัวแปรหลัก 1.สภาพสังคมเศรษฐกิจต้องเอื้ออำนวย คนมีการศึกษา ประชาธิปไตยไม่เกิดในพื้นที่ที่จนมากๆ อาจจะเป็นบางที่ที่เป็นข้อยกเว้น โดยทั่วไปคือคนชั้นกลางต้องเยอะ เช่น การลงคะแนนเสียงใน กทม. ซึ่งมาจากฐานะ รายได้ ข้อมูลข่าวสาร การศึกษา

2.โครงสร้างและกระบวนการ หรือเรียกง่ายๆ ว่าตัวรัฐธรรมนูญ คุณจะจัดระบบแบบไหนมาที่ต้องทำงานได้ จะทำงานได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรที่ 1 เศรษฐกิจสังคมมันเอื้ออำนวยหรือเปล่า ทำให้ดีเยี่ยมไปเลยก็อาจจะไม่ได้ผล

ตัวแปรที่ 3 สำคัญต้องทำประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนและหมู่ผู้นำทางการเมือง นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจรัฐจะต้องมีศรัทธาในประชาธิปไตย มีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย

"มีคำกล่าวว่าอินเดียและฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จเพราะผู้นำเขาเชื่อในประชาธิปไตย เขามีศรัทธาจริงๆ เขาจะไม่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ส่วนประชาชนก็เข้าใจเรื่องสิทธิของตัวเองไม่ยอมขายสิทธิขายเสียง แล้วต่อสู้เพื่อสิทธิใครมาขู่เข็ญรังแกไม่ได้ นี่เรียกว่าประชาชนต้องตื่นตัวทางการเมือง ตัวนี้เป็นตัวมีปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าเสนอให้มีการแก้ไขปฏิรูปการเมืองมันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าคนไม่มีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย"

"มันต้องเริ่มตั้งแต่ในครอบครัวให้ลูกหลานมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจเอง มีเหตุมีผล ไม่ถูกจูงได้ง่าย ซึ่งตรงข้ามกับวัฒนธรรมไทยที่ต้องว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อ พอเข้าสู่ระบบการศึกษาก็สอนให้ท่องจำ ไม่ได้สอนให้คิด เพราะฉะนั้นกระบวนการกล่อมเกลาการเรียนรู้ ตั้งแต่ครอบครัวจนถึงโรงเรียน ยิ่งเข้ามาในสังคมมันก็สอดคล้องกับปัจจัยที่ 1 และ 2 เราจึงมีบุคคล 63 ล้านคน แต่ 42 ล้านคน มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มี selfhood ถูกจูงเข้ากลุ่มได้ง่าย ประชาธิปไตยเกิดไม่ได้หรอก ถ้าหากไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง" ศ.ดร.ลิขิตกล่าวและว่า

เพราะฉะนั้นเบื้องต้นหากจะพูดถึงการปฏิรูปการเมืองอย่าไปพูดให้เสียเวลาเลย เอาในครอบครัวก่อน จะทำอย่างไร สถาบันการศึกษาทำอย่างไร แล้วสังคมทำอย่างไร คือสถาบันพัฒนาการเมือง ทำสิ่งนี้โดยแจกคู่มือให้แม่บ้านอบรมสอนให้เด็กสร้างวัฒนธรรมใหม่ประชาธิปไตย หรืออย่างที่ 2 คือปล่อยไปเรื่อยๆ อย่างนี้ 30-50 ปี สังคมเปลี่ยน มันจะเปลี่ยน ของมันไปเอง เพราะพ่อแม่ก็ไม่สามารถจะคุมลูกได้เต็มที่แล้ว แต่อย่างนั้นมัน อาจจะกลายเป็นผิดทิศทาง เป็นว่า ไม่รับผิดชอบอีก

"การวางแผนพัฒนาสถาบันทางการเมือง สร้างบุคลากรที่มีวัฒนธรรมทางประชาธิปไตย จึงเป็นข้อเสนอแนะที่น่า จะรับฟัง"

"โดยสรุป สังคมเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน เปลี่ยนทุกอย่าง โลกกำลังมีวิกฤต เราก็มีวิกฤตกับเขาด้วย ระบบการเมืองเราไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ หมายความว่าโลกเปลี่ยนไปเยอะ เรายังมาทะเลาะกันเรื่องรัฐธรรมนูญ"

"เราไม่สามารถสถาปนาระบบที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าดีแล้ว สู้กันตามครรลอง เขาไม่เชื่อ เลือกตั้งใหม่เขาก็ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง ไม่มีใครฟังใครทั้งสิ้น แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร มันเป็นทางตัน ถ้าไปอย่างนี้เรื่อยๆ มันก็ต้องประจันหน้ากันอย่างนี้เรื่อยๆ"

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ลิขิตให้ความเห็นว่า รัฐบาลในปัจจุบันไม่ใช่ระบอบอมาตยาธิปไตย

"แต่ว่าถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนี้อยู่ภายใต้ของการชักใยอยู่เบื้องหลังของคนที่เป็นกลุ่มอำมาตย์ จริงไม่จริงผมไม่รู้ เขาจะหมายรวมถึงอมาตยาธิปไตย เพราะว่าไม่ยอมให้เกิดประชาธิปไตย แต่จริงๆ มันก็มีประชาธิปไตยอยู่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มาจากการเลือกตั้ง"

จริงหรือไม่ ที่เมื่อเหลียวหันไปดูคนบนโลกนี้แล้ว

เพราะเรามัวแต่หลงทางทะเลาะกันเองเรื่องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

จนทำให้ประเทศไม่ไปถึงไหนสักที

หน้า 28
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02pol01160452&day=2009-04-16&sectionid=0202