วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

หมิ่นประมาทออนไลน์ หลักฐานใดเชื่อถือได้

วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11358 มติชนรายวัน


หมิ่นประมาทออนไลน์ หลักฐานใดเชื่อถือได้





บทบาทของอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันนั้นนอกจากจะเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร, ตลาดนัดออนไลน์,ตลาดแรงงาน,สถานีวิทยุ/โทรทัศน์ ที่เข้าถึงได้ง่าย ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายแล้วยังวิวัฒน์จนกลายเป็นสังคมเสมือนที่ผู้คนทุกเพศ ทุกวัย สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติและข้อมูลที่มีอยู่ได้ ผ่านเครือข่ายสังคม "SocialNetworking" ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางสังคม ซึ่งคนรุ่นใหม่น้อยคนนักที่ไม่เคยสื่อสารผ่านช่องทางนี้

โกลบอลเทคโนโลยี อินทิเกรเทด ให้ข้อมูลว่า การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามหรือการหมิ่นประมาท จึงไม่จำเป็นต้องเกิดบนเวทีปราศรัย, บทสัมภาษณ์ผ่านสื่อ ฯลฯ อีกต่อไป หากเกิดขึ้นง่ายดายบนปลายนิ้ว คำถามคือ หากเกิดคดีความขึ้น หลักฐานใดเชื่อถือได้ในชั้นศาล?

หากนาย ก. โพสต์ว่าร้ายนาย ข. ลงบน Hi5 ของนาย ก.เอง มีคนเข้าอ่านมากมายจนรู้ถึงหูนาย ข. นาย ข.เข้ามาเห็นจึง save หน้าจอ และพิมพ์ข้อความเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมแจ้งความดำเนินคดีกับนาย ก. ข้อหาหมิ่นประมาท กระดาษแผ่นนั้นถือเป็นหลักฐานได้หรือไม่?เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำสามารถสร้างและแต่งเติมข้อความหรือรูปภาพได้ด้วยคอมพิวเตอร์แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่านาย ข.มิได้สร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาใส่ความนาย ก. อีกมุมหนึ่ง หากนาย ก. กระทำผิดจริง และได้ลบข้อความนั้นออกไปแล้ว ก็ย้อนสู่คำถามเดียวกัน ศาลจะประทับรับฟ้องด้วยหลักฐานกระดาษพิมพ์ข้อความหรือ?

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ต้องเก็บบันทึกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Log File) เพื่อใช้เป็นหลักฐานหากเกิดคดีความออนไลน์ขึ้น แต่หากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดการลบหรือแก้ไขข้อความเพื่อให้ตนพ้นผิด

เหตุนี้เจ้าของเว็บไซต์ ทั้งเว็บไซต์ส่วนบุคคลและเว็บไซต์องค์กร/หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ให้บริการเว็บบอร์ด เว็บล็อกจึงควรใช้โปรแกรมเก็บบันทึกข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของตน เพื่อให้ทราบว่ามีใครเข้ามาใช้บริการที่เพจไหน ทำอะไร เมื่อไร อย่างไร โดยจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ไม่ต่ำกว่า 90 วัน สามารถสืบค้นย้อนหลังและยืนยันได้ว่าข้อความดังกล่าวจะไม่ถูกแก้ไขสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ให้สามารถตรวจสอบหลักฐานย้อนหลังได้หากเกิดคดีความออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

หน้า 26
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01epe01150452&sectionid=0147&day=2009-04-15