ถนนอุทยาน (Thanon Utthayan) เดิมชื่อถนนอักษะ เป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย 3 ในเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ถึงถนนพุทธมณฑลสาย 4 ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีระยะทาง 4 กิโลเมตร เป็นถนนที่มีทัศนียภาพสวยงาม จนได้ชื่อว่าเป็นถนนที่สวยที่สุดในประเทศไทย
ถนนอุทยาน หรือเดิมชื่อถนนอักษะ เป็นถนนที่สร้างมุ่งไปพุทธมณฑลซึ่งได้เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ.2498 สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (พ.ศ. 2500) โดยเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินของราษฎรเพื่อสร้างถนนตั้งแต่ พ.ศ.2494 แต่การก่อสร้างพุทธมณฑล และถนนอักษะได้หยุดชะงักไปเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจใน พ.ศ.2500
ต่อมาในสมัย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เริ่มรื้อฟื้นโครงการพุทธมณฑลขึ้นเนื่องจากใกล้การเฉลิมฉลองโอกาสที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปีใน พ.ศ.2525 และเสร็จสมบูรณ์ในสมัยที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนถนนอักษะได้รับอนุมัติให้ลงมือก่อสร้างในสมัยที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โครงการก่อสร้างถนนอักษะเป็นโครงการหนึ่งที่กรุงเทพมหานครดำเนินการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใน พ.ศ.2539 เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสง่างามแก่พุทธมณฑลซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ และอำนวยความสะดวกในพระราชพิธีที่พุทธมณฑล ถนนสายนี้ยาว 3,861 เมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 1,068,987,571 บาท และเสร็จสมบูรณ์เปิดให้ประชาชนใช้ได้ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542
สำหรับชื่อถนนอักษะซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า Axis แปลว่า แกนกลาง นั้นเป็นคำที่ใช้เรียกหมายถึง ประเทศฝ่ายอักษะ คือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งทำสงครามกับฝ่ายพันธมิตร คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ เมื่อสร้างถนนเสร็จแล้ว กรุงเทพมหานครได้ประสานงานกับกรมศิลปากรในเรื่องชื่อถนนอักษะ ซึ่งกรมศิลปากรได้แนะนำให้ใช้ชื่อว่า ถนนอักษะ ซึ่งแปลว่าแกนกลาง เนื่องจากเป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย 3 กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 ต่อมากรุงเทพมหานครได้ประสานงานกับกรมศิลปากรเพื่อขอพระราชทานชื่อถนนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนว่า "ถนนอุทยาน" ซึ่งเป็นชื่อที่สัมพันธ์กับพุทธมณฑล
(เลื่อนเมาส์แตะแต่ละภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)