วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สะพานผ่านพิภพลีลา - ผ่านฟ้าลีลาศ

สะพานผ่านพิภพลีลา - ผ่านฟ้าลีลาศ

..ประวัติ..

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้เสด็จฯ กลับจากเสด็จประพาสยุโรป ก็มีพระราชดำริที่จะปรับปรุงระบบคมนาคมของกรุงเทพมหานครให้เจริญรุดหน้าและสวยงามเหมือนดั่งที่ยุโรป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "ถนนราชดำเนิน" ขึ้นเป็นถนนแบบตะวันตก ทั้งกว้างใหญ่และงดงาม

จากนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้ปรับภูมิทัศน์ของ "สนามหลวง" โดยขยายออกไปให้เป็นรูปวงรีดังในปัจจุบันและปลูกต้นมะขามโดยรอบ ส่วนสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม (หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าคลองหลอด) ตรงจุดที่ถนนราชดำเนินในเลี้ยวเข้าสู่ถนนราชดำเนินกลางนั้น ในปี พ.ศ.2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงสะพานโครงเหล็กที่มีอยู่เดิม ให้เป็นสะพานพื้นคอนกรีตกว้างใหญ่ มีราวสะพานเป็นเหล็กดัดลวดลายสวยงาม คล้ายกับ "สะพานมัฆวานรังสรรค์" ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไปก่อนหน้า

สะพานแห่งนี้สร้างเสร็จและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2449 แล้วพระราชทานนามให้ว่า "สะพานผ่านพิภพลีลา"

สะพานผ่านพิภพลีลา เป็นสะพานที่มีความชันน้อยมากจนเกือบเสมอกับระดับถนน และราวสะพานเป็นเหล็กดัดลวดลายงดงาม แต่ภายหลังได้มีการปรับปรุงสะพานผ่านพิภพลีลาหลายครั้ง และที่สำคัญเมื่อมีการก่อสร้าง "สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า" ตรงจุดที่ถนนเจ้าฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาลงถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานผ่านพิภพลีลาก็ถูกเบี่ยงให้พ้นจากทางลาดของสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า จนมาตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของโรงแรมรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

ส่วนราวสะพานเหล็กดัดก็ถูกถอดออกไปด้วย กลายเป็นกำแพงปูนแกะสลักลายมาแทน น่าเสียดายที่ความสวยงามของสะพานต้องลดลงไป จนกลายเป็นสะพานคอนกรีตเหมือนทั่วไปๆ ที่ไว้ให้รถยนต์แล่นสัญจรผ่านไปมาเท่านั้น



ข้อที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของสะพานผ่านพิภพลีลาก็คือชื่อสะพาน ซึ่งคล้องจองกับชื่อสะพานในบริเวณใกล้เคียงอีกสะพานหนึ่ง คือ "สะพานผ่านฟ้าลีลาศ"

สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุง (ช่วงที่ชาวบ้านเรียกว่าคลองบางลำพู) บริเวณจุดเชื่อมระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนราชดำเนินนอก ใกล้กับป้อมมหากาฬและภูเขาทอง วัดสระเกศ

ในอดีตเคยเป็นสะพานไม้ ไม่ปรากฏว่าสะพานเดิมสร้างขึ้นเมื่อใด แล้วคงปรับปรุงเป็นสะพานโครงเหล็ก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงจากสะพานโครงเหล็กมาเป็นสะพานพื้นคอนกรีตใหญ่ขนาดโตขึ้น ประดับราวสะพานด้วยเหล็กดัดลวดลายสวยงาม ปลายสะพานทั้ง 2 ฝั่งมีเสาหินอ่อนประดับด้วยเครื่องสำริดเป็นรูปเรือสีดำ และมีลวดลายสลักที่เสาหินอ่อนกับเชิงลาดสะพานอย่างงดงามมาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามให้สะพานใหม่นี้ว่า "สะพานผ่านฟ้าลีลาศ" เพื่อให้คล้องจองกับชื่อสะพานผ่านพิภพลีลา

ต่อมาภายหลังการจราจรบริเวณนี้คับคั่งมาก โดยเฉพาะตรงสะพานผ่านฟ้าลีลาศเนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่จะไปขึ้นสะพานพระปิ่นเกล้า แต่ช่องทางจราจรบนสะพานผ่านฟ้าลีลาศมีจำนวนน้อยกว่าช่องทางจราจรบนสะพานปิ่นเกล้า จึงทำให้เกิดปัญหาคอขวด และรถติดบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ดังนั้นในปี พ.ศ.2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน จึงมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้างและขยายผิวการจราจรถนนราชดำเนินบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศให้กว้างขวางขึ้น พร้อมทั้งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนการก่อสร้าง



กรุงเทพมหานครได้ก่อสร้างปรับปรุงขยายสะพานผ่านฟ้าลีลาศออกไปทั้ง 2 ข้างทาง กว้างข้างละ 7 เมตร ยาวประมาณ 25 เมตร ปรับปรุงผิวการจราจรเพิ่มขึ้นเป็น 13 ช่องทาง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 30 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2537 แล้วเสร็จเปิดใช้การจราจรได้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2537

การก่อสร้างในครั้งนั้นแม้ต้องขยายสะพานออกไป แต่ก็ยังได้มีการเก็บราวสะพานเหล็กดัดเอาไว้มาเชื่อมเข้ากับสะพานที่ปรับปรุงเสร็จ จึงยังคงความสวยงามไว้ได้ดังเดิม ต่างจากการปรับปรุงสะพานผ่านพิภพลีลา

นอกจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศจะเป็นเส้นทางจราจรทางบกที่สำคัญแล้ว บริเวณคลองใต้สะพานแห่งนี้ก็ยังเป็นท่าต้นทางของเรือหางยาวประจำทาง ซึ่งวิ่งรับส่งผู้คนในเส้นทางคลองแสนแสบจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงวัดศรีบุญเรือง ย่านบางกะปิ ถือเป็นเส้นทางจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง






ที่มาข้อมูล : www.bma.go.th
www.dek-d.com
www.nattawat.org
www.wikipedia.org
www.wikimapia.org
www.bloggang.com
www.library.ssru.ac.th
 https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=66581


Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.