| ถนนกำแพงเพชร ชื่อถนน 7 สาย มีถนนกำแพงเพชร 1 ถึง ถนนกำแพงเพชร 7 กรุงเทพมหานคร
ถนนกำแพงเพชรเป็นถนนที่สร้างในปี พ.ศ.2521 โดยกรุงเทพมหานครได้ ดำเนินการตัดถนนเชื่อมระหว่างถนนย่านสินค้าถนนพหลโยธินกับถนนวิภาวดีรังสิต โดยได้รับความร่วมมือจากกองพันทหารช่างที่ 111 มาดำเนินการก่อสร้าง และถนนสายนี้ได้ ตัดผ่านที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยตลอดสาย
| ป้ายถนนกำแพงเพชร
กรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาเห็นว่า พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระนามเดิมพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ต้นราชสกุลบุรฉัตร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงและได้ทรงวางรากฐานและสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่กิจการรถไฟของไทยเป็นอันมาก และยังทรงเกี่ยวข้องกับกิจการทหารช่างโดยทรงดำรงตำแหน่งจเรการช่างทหารบกด้วย เพื่อเป็นเกียรติแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้ให้ความร่วมมือในเรื่องที่ดินที่ถูกตัดถนน และเพื่อเป็นเกียรติแก่หน่วยทหารช่างของกองทัพบกที่ได้ให้ความร่วมมือดำเนินการก่อสร้างถนนสายนี้ และเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน กรุงเทพมหานครจึงเห็นควรให้เชิญพระนามของพระองค์มาเป็นชื่อถนน ซึ่งเชื่อมระหว่างถนนย่านสินค้าพหลโยธินกับถนนวิภาวดีรังสิตว่า "ถนนกำแพงเพชร"
แต่เมื่อกรุงเทพมหานครได้หารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ.2522 การรถไฟแห่งประเทศไทย เห็นควรให้ใช้ชื่อถนนสายดังกล่าวว่า "ถนนบุรฉัตร" ตามพระนามเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และเมื่อกรุงเทพมหานครได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพระนามของพระราชวงศ์มาเป็นชื่อถนน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชกระแสว่า ชื่อถนนที่ใช้ พระนามกรมเจ้านายที่ตรงกับชื่อจังหวัดมีอยู่แล้วหลายสายเช่น ถนนพิชัย ซึ่งมาจากพระนามกรมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดมและถนนเพชรบุรี ถนนนครสวรรค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ชื่อถนนว่า"ถนนกำแพงเพชร"
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีโครงการตัดถนนผ่านที่ดินในย่านสินค้าพหลโยธิน โดยได้รับความร่วมมือจากการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกหลายสาย เพื่อขจัดปัญหาในการตั้งชื่อถนนและให้การใช้ชื่อถนนเป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงตั้งชื่อถนนที่กรุงเทพมหานครจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป โดยได้รับความร่วมมือใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในบริเวณย่านสินค้าพหลโยธินทั้งหมดว่า "ถนนกำแพงเพชร" ทั้งนี้ รวมถึงถนนที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เป็นผู้ตัดไว้แต่เดิมและมอบให้กรุงเทพมหานครแล้ว คือ สายแยกจากถนนพหลโยธินผ่านหน้าองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรถึงสะพานย่านสินค้าพหลโยธิน (คลองบางซื่อ) ออกบรรจบถนนพระรามที่ 6 (ริมคลองประปา) โดยใช้หมายเลขกำกับเพื่อกันการสับสนคือ
- ถนนสายแยกจากถนนพหลโยธิน ผ่านหน้าองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรถึงสะพานย่านสินค้าพหลโยธิน (คลองบางซื่อ) ซึ่งเป็นถนนคู่ขนานถนนพหลโยธินผ่านหน้าสวนจตุจักร เป็น ถนนกำแพงเพชร 1
- ถนนเชื่อมระหว่างถนนกำแพงเพชรกับถนนวิภาวดีรังสิต เป็น ถนนกำแพงเพชร 2
- ถนนเชื่อมระหว่างถนนกำแพงเพชร 1 กับถนนวิภาวดีรังสิต เป็น ถนนกำแพงเพชร 3 ต่อมาในปี พ.ศ.2542 กรุงเทพมหานครได้ขอพระราชทานนามถนน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ก่อสร้างเป็นถนนท้องถิ่นเลียบทางรถไฟ (Local Road) สายเหนือช่วงที่ 1 และ 2 และสายตะวันออกจำนวน 3 สาย และต่อมาได้ส่งมอบถนนดังกล่าวให้กรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ยังมีการตัดถนนในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก 1 สาย คือ ถนนเชื่อมระหว่างถนนกำแพงเพชร 2 กับถนนกำแพงเพชร 3 โดยที่กรุงเทพมหานครได้ พิจารณาว่าถนนทั้ง 4 สายนี้สร้างในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงเชิญพระนามพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินมาเป็นชื่อถนนทั้ง 4 สาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตถนนทั้ง 4 สาย มีดังนี้
- สายที่ 1 ถนนเชื่อมระหว่างถนนกำแพงเพชร 2 กับถนนกำแพงเพชร 3 ชื่อ ถนนกำแพงเพชร 4
- สายที่ 2 ถนนท้องถิ่นเลียบทางรถไฟสายเหนือ ช่วงที่ 1 ตอนใต้จากถนนพระรามที่ 6 ถึงถนนกำแพงเพชร ชื่อ ถนนกำแพงเพชร 5
- สายที่ 3 ถนนท้องถิ่นเลียบทางรถไฟสายเหนือ ช่วงที่ 2 ตอนเหนือจากถนนกำแพงเพชร 2 ถึงถนนวิภาวดีรังสิต ชื่อ ถนนกำแพงเพชร 6
- สายที่ 4 ถนนท้องถิ่นเลียบทางรถไฟสายตะวันออกจากถนนมักกะสันถึงถนนพระราม 9 ชื่อ ถนนกำแพงเพชร 7
| |