วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ตั้งอยู่เลขที่ 352 -354 ถนนศรีอยุธยา เป็นความริเริ่มของ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต หรือ เสด็จในกรมฯ และชายา คือ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร หรือ คุณท่าน โดยที่แต่เดิมได้ทรงรื้อเรือนไทยมาปลูกในวังสวนผักกาด ตั้งแต่ พ.ศ.2495 หลังจากที่ เสด็จในกรมฯ ได้สิ้นพระชนม์ลงใน พ.ศ.2502 คุณท่าน ได้ดำเนินการต่อ ต่อมาในปี พ.ศ.2530 คุณท่าน ได้อุทิศให้แก่ มูลนิธิจุมภฏ - พันธุ์ทิพย์

(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
แผนที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด
อาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นตำหนักไทยสมัยโบราณหลายหลัง หลังที่ 1-4 จัดเป็นหมู่เรือนไทย บางหลังก็เป็นของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ซึ่งเป็นต้นสกุลทางพระมารดาของ จอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือ ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ พระราชบิดาของเสด็จในกรมฯ ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นวัตถุโบราณที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ วัตถุที่ค้นพบภายในประเทศ และที่หามาจากประเทศอื่นๆ เรือนไทยที่กล่าวทั้งหมดมีอยู่ 8 หลังด้วยกัน เรือนหลังที่ 1 ตั้งอยู่ด้านหน้าทิศเหนือขนานกับถนนศรีอยุธยา มีสะพานเดินไปยังเรือนหลังที่ 2, 3 และ 4 ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ตามลำดับ เรือนหลังที่ 5-8 ปลูกอยู่ห่างกันทางด้านทิศตะวันตกของวัง นอกจากนี้ ยังมี "หอเขียน" ตั้งอยู่ถัดจากสนามหญ้าสุดไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นที่เก็บภาพลายรดน้ำสมัยอยุธยาที่สมบูรณ์ที่สุด ส่วนอาคารศิลปาคารจุมภฏ - พันธุ์ทิพย์ เป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2536 เพื่อใช้เป็นที่ทำการของมูลนิธิฯ และเพื่อจัดกิจกรรม หรือ นิทรรศการทางศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้ง ได้สร้างห้องประชุมห้องอเนกประสงค์ไว้ด้วย อาคารเรือนไทยหลังที่ 7 คือ โขน ซึ่งอยู่ถัดจากเรือนหลังที่ 5 และ 6 ส่วนเรือนหลังที่ 8 และศิลปาคารจุมภฏ - พันธุ์ทิพย์ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับความเป็นมาและวัตถุโบราณสมัยบ้านเชียง

โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รวมทั้งของใช้ส่วนตัวของสะสมของราชสกุล "บริพัตร" ได้รับการจัดแสดงอยู่ในหมู่เรือนไทยและอาคารต่างๆ ได้แก่

เรือนไทยหลังที่ 1

ชั้นล่างของเรือนหลังที่ 1 จัดแสดงพระรูปของราชวงศ์ไทย ราวพุทธศตวรรษที่ 23-25 และเครื่องดนตรีไทยของ ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ได้แก่ กลองโบราณขนาดใหญ่จำนวน 6 ใบ ซอสามสาย และระนาดเอก เป็นต้น ส่วนชั้นบนนั้น มีพระพุทธรูป สมัยอู่ทองของไทย อินเดียคันธราฐ และพม่า โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ ประติมากรรมสมัยต่างๆ เช่น เทวรูปศิลาพระอุมา เทวรูปอรรธนารี เป็นต้น
เรือนไทยหลังที่ 2

เรือนหลังนี้ส่วนใหญ่เก็บเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของ เสด็จในกรมฯ และ คุณท่าน ด้านนอกจัดแสดงสัปคับ ตู้พระไตรปิฎก ลายรดน้ำสมัยอยุธยา บนฝาผนังติดตาลปัตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชสกุลบริพัตร งาช้างแกะสลักลายไทย พานประดับมุก ตะลุ่มประดับมุก ตลับงาช้าง เป็นต้น
เรือนไทยหลังที่ 3

จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ อาทิกลองมโหระทึกที่ใช้ในพิธีขอฝนและพิธีต่างๆ ภาพที่ชาวฝรั่งเศสเขียนขึ้นจากจินตนาการก่อนเดินทางมากรุงศรีอยุธยา
เรือนไทยหลังที่ 4

เป็นหอพระอยู่ทางทิศตะวันตก หน้าหอพระมีบานประตูมุกสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 ภายในห้องพระ มีพระพุทธรูปสำริดสมัยต่างๆ เช่น สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี และสุโขทัย และมีพระบทเกี่ยวกับพุทธประวัติ ใต้เรือนไทยหมู่นี้ คือ "ถ้ำอาลีบาบา" เป็นห้องที่เก็บรวบรวมตัวอย่างหินสวยงามแปลกๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เรือนไทยหลังที่ 5

จัดแสดงเครื่องแก้วลายทอง เครื่องเงิน ซึ่งทูลกระหม่อมบริพัตรฯ และ เสด็จในกรมฯ ทรงสะสมไว้ นอกจากนี้ ยังมีตุ๊กตาสังคโลกดินปั้น เหรียญกษาปณ์สมัยต่างๆ ทั้งของไทย และต่างประเทศจำนวนมาก
เรือนไทยหลังที่ 6

ภายในเรือนหลังนี้จัดแสดงภาชนะต่างๆ ทั้งภาชนะดินเผาสมัยโบราณ เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย เครื่องลายครามจีน และตุ๊กตาดินเผาต่างๆ เป็นต้น

เรือนไทยหลังที่ 7

จัดแสดงบริบทของโขน เรื่องรามเกียรติ์ ในด้านศิลปกรรมแขนงต่างๆ ได้แก่ การแสดง จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรมและวรรณคดี นำเสนอด้วยกองทัพตุ๊กตา ตอนศึกกุมภกรรณ ที่เคลื่อนกองทัพโรมรัน ทำสงคราม ตุ๊กตาดินปั้น หัวโขนขนาดเท่าจริง หุ่นละครเล็ก ซึ่งล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นงานหัตถกรรมของช่างไทยทั้งฝีมือชาวบ้าน ช่างพาณิชย์และช่างวิจิตร
เรือนไทยหลังที่ 8

เรือนหลังนี้ ชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุยุคบ้านเชียง ได้แก่ ภาชนะดินเผาเขียนสี กำไลสำริด หัวขวาน ลูกปัดต่างๆ เป็นต้น ชั้นล่างของเรือนจัดแสดงตัวอย่างหิน เปลือกหอย และซากสัตว์โบราณขนาดเล็กที่อยู่ในหินฟอสซิล
พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง

พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง จัดแสดงบริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ของศิลปาคารจุมภฏ - พันธุ์ทิพย์ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม และโบราณคดีในยุคอารยธรรมบ้านเชียง โบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดง มีอายุประมาณ 4,0000 ปี ได้แก่ ภาชนะดินเผา ลายเขียนสี ลายงู ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ขวานสำริด ใบหอกสำริด ห่วงคอสำริด กำไลหิน ลูกปัดแก้ว
ห้องศิลปนิทรรศมารศี

ห้องศิลปนิทรรศมารศี ตั้งอยู่ ณ บริเวณชั้น 2 ของศิลปาคารจุมภฏ - พันธุ์ทิพย์ ภายในบริเวณวังสวนผักกาด การก่อตั้งห้องศิลปนิทรรศมารศี เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ งานด้านศิลปกรรมและวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นเวทีสำหรับศิลปินแขนงต่างๆ โดยการจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมและนิทรรศการศิลปะหมุนเวียนตลอดปี
หอเขียนลายรดน้ำ

หอเขียน ถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เรือนหลังนี้เดิมอยู่ที่วัดบ้านกลิ้ง จัหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23) เสด็จในกรมฯ และ คุณท่าน ได้ทำผาติกรรมไถ่ถอนย้ายมาที่วังสวนผักกาดและซ่อมแซมตัวเรือนและภาพลายรดน้ำ จากนั้น เสด็จในกรมฯ ทรงประทานหอเขียนเป็นของขวัญแก่ คุณท่าน เมื่ออายุครบ 50 ปี ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2502
เรือพระที่นั่งเก้ากึ่งพยาม

เยื้องจากหอเขียน เป็นอู่เก็บ เรือพระที่นั่งเก้ากึ่งพยาม ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานแก่ ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ใช้เป็นขบวนเรือตามเสด็จประพาสต้น เรือลำนี้มีขนาดยาว 9 วาครึ่ง ตัวเรือทำด้วยไม้ตะเคียนทองและเก๋งเรือ ทำด้วยไม้สักทอง




ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่อยู่ 352 - 354 วังสวนผักกาด ถนนศรีอยุธยา แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ 0-2245-0568, 0-2245-6368
โทรสาร 0-2247-2079
เวลาทำการ ทุกวัน เวลา 09.00 - 16.00 น.
รถประจำทาง สาย 14, 17, 63, 72, 74, 77, 204
รถไฟ รถไฟฟ้า : สถานีพญาไท
ที่จอดรถ ภายในพิพิธภัณฑ์
การถ่ายรูป สามารถถ่ายรูปได้เฉพาะภายนอกอาคาร
สถานที่ใกล้เคียง โรงพยาบาลพญาไท 1, โรงพยาบาลเดชา, King Power Complex, โรงเรียนสยามธุรกิจพาณิชยการ, โรงเรียนศรีอยุธยา
ข้อมูลอื่นๆ ค่าเข้าชม ชาวไทย 50 บาท ชาวต่างชาติ 80 บาท
แผนที่ คลิกดูแผนที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด


ที่มาข้อมูล : พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=63871

Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.