| วันที่ 05 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6732 ข่าวสดรายวัน
ม.237 ควรแก้หรือไม่ควรแก้ ?
รายงานพิเศษ
ประพันธ์ นัยโกวิท/จาตุรนต์ ฉายแสง
| ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษว่า คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สภาตั้งขึ้น จะทำอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้ตรงไหน อย่างไร
โดยเฉพาะมาตรา 237 เกี่ยวกับการยุบพรรค ที่มีเสียงเรียกร้องกันมากจากพรรคการเมืองต่างๆ บ้างก็ให้ยกเลิกไปเลย บ้างก็เสนอให้เลิกเฉพาะบทลงโทษแบบเหมาเข่ง
แต่ขณะเดียวกันก็มีบางกระแสที่ไม่เห็นด้วย เพราะถือว่ามาตรา 237 คือหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาทุจริตการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้มีผู้เสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ไว้ ดังนี้
ประพันธ์ นัยโกวิท
กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง
การจะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 นั้น อยู่ที่ฝ่ายการเมืองจะคุยกัน เจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าว คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการแก้ปัญหาหลักในการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
จึงกำหนดให้กรรมการบริหารพรรคต้องร่วมรับผิดชอบหากมีการกระทำความผิด เพราะถือเป็นการกระทำที่ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยมิชอบ
มาตรา 237 เคยมีบัญญัติไว้ในพ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2540 และเคยถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยมาแล้ว กฎหมายยุบพรรคการเมือง จึงไม่ใช่เพิ่งนำมาบังคับใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่เป็นกฎหมายเดิมที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2540 เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่
นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 บัญญัติให้พรรคการเมืองเป็นฝ่ายส่งบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ถ้าผู้มีอำนาจบริหารพรรคกระทำผิดเสียเอง ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้ลูกพรรคซื้อสิทธิ์ขายเสียง ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายที่บัญญัติไว้
รัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านการลงประชามติจากประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว หากจะแก้รัฐธรรมนูญจริงต้องนึกถึงประเด็นนี้ด้วย ถ้าไม่รับฟังความคิดเห็นหรือเสียงจากประชาชน อาจถูกมองว่าดูถูกประชาชน ซึ่งการทำประชามติไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไพจิต ศรีวรขาน/ศุภชัย โพธิ์สุ
|
ส่วนที่จะมีการนิรโทษกรรมให้ผู้ถูกตัดสิทธิ์นั้น ต้องพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ รัฐธรรมนูญปี 2550 ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกับหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค ถือเป็นกติกาที่ทุกคนรู้ก่อนจะเข้ามาทำหน้าที่ในจุดนี้แล้ว
หากเปรียบการเมืองเหมือนกีฬาฟุตบอล ก่อนลงสนามทุกคนรู้กติกาอยู่แล้ว ว่าถ้ากระทำผิดกติกาต้องถูกลงโทษอย่างไร เช่น กติกาเขียนไว้ว่าถ้ามีผู้กระทำผิดกฎต้องถูกไล่ออกทั้งทีม แต่ยังมีคนทำผิดกติกา อย่างนี้ต้องไล่ออกทั้งทีม
แต่ถ้ายืนยันว่าจะต้องแก้มาตรา 237 หรือต้องการนิรโทษกรรมจริง ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาให้ดี และอธิบายถึงเหตุผลในส่วนนี้ได้
จาตุรนต์ ฉายแสง
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
ผมไม่ได้มองแค่ว่าการแก้มาตรา 237 จะต้องตัดเรื่องยุบพรรคออกไป หรือให้เป็นแค่ความผิดคณะกรรมการบริหาร
แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เรื่องการยุบพรรคควรเป็นส่วนหนึ่งของการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะทั้งฉบับหรือแก้บางมาตรา เนื่องจากมีมาตราที่สำคัญกว่านี้
ความจริงไม่ควรมีโทษยุบพรรคเพราะเป็นปัญหามากในระบอบประชาธิปไตย คนที่กระทำผิดเพียงคนเดียวแต่ไปยุบและเพิกถอนสิทธิ์กรรมการบริหารถึง 5 ปี เหมือนลงโทษแบบหมู่คณะ ขัดต่อหลักนิติธรรมเพราะคนไม่ผิดก็ถูกลงโทษ
ฉะนั้น ควรแก้ไขใหม่ ใครผิดคนนั้นก็รับโทษ ถ้ากรรมการบริหารพรรคร่วมกันกระทำผิดก็ลงโทษทั้งคณะ แต่ให้พรรคยังคงอยู่ และการเพิกถอนสิทธิ์ไม่ควรมี ไม่ว่ากรณีใดๆ
ยังยืนยันว่าควรแก้รัฐธรรมนูญก่อน โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง จากนั้นทำประชามติ หรืออาจจะแก้เพียงบางมาตรา ไม่แก้ทั้งฉบับ ซึ่งจะใช้เวลาน้อยกว่าก็ได้ หรือจะทำคู่ขนานกันไปก็พิจารณาให้ดี
ที่สำคัญไม่ควรให้การแก้รัฐธรรมนูญมุ่งให้มีผลต่อนักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ไปก่อนหน้านี้
การจะไปกระทำเรื่องที่มีผลต่อการนิรโทษกรรม หรือคืนสิทธิ์ให้นักการเมือง ควรจะทำโดยสภาชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยผ่านการแก้รัฐธรรมนูญให้เรียบร้อยก่อน ไม่ใช่แก้เพื่อหวังให้พรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อแผ่นดินรอดจากคดีที่จะถูกยุบ
ส่วนระยะเวลาแก้ไขจะนานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าถ้าแก้ทั้งฉบับอาจใช้เวลา 9 เดือน ถ้ารวมการลงประชามติก็ราว 1 ปี แต่ถ้าแก้บางมาตรา หากตั้งใจจะทำให้แล้วเสร็จจริงๆ คงไม่นาน
กรรมการที่ตั้งขึ้นมาโดยสภาจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนกับประเด็นนี้ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจว่าจะแก้ไขปัญหาการเมือง หรือเพื่อชิงไหวชิงพริบกัน
ถ้าเป็นอย่างหลังก็คงไม่น่าจะทำอะไรได้ สุดท้ายปัญหาจะหนักกว่าเดิม
ไพจิต ศรีวรขาน
คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ พรรคเพื่อไทย
การแก้มาตรา 237 ไม่ได้มองว่าจะต้องตัดเรื่องการยุบพรรค หรือจำกัดให้เป็นความผิดเฉพาะรายบุคคล
แต่อยู่ที่รัฐบาลจะเอาอย่างไร ไม่ใช่พูดกันคนละที จึงอยากให้รัฐบาลจริงใจที่จะแก้ปัญหาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะการทำงานขององค์กรอิสระต่างๆ ที่จะมีผลต่อพรรคการเมือง
ที่สำคัญรัฐบาลต้องคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล พันธมิตรฯ และผู้ที่สนับสนุนก่อนว่าจะเอาอย่างไร ก็ให้บอกคณะกรรมการฯ
ผมและพรรคเพื่อไทยไม่มีปัญหา ว่าจะต้องตัดทั้งหมดหรือจะให้เป็นความผิดส่วนบุคคล ขอเพียงให้รัฐบาลสรุปมาว่าต้องการเต็มใบหรือครึ่งใบ โดยไม่ใช้เป็นเกมเตะถ่วง
อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณาในเรื่องนี้ก็ควรจะนิรโทษกรรมทั้งหมด ไม่ใช่จะทำเพียงฝ่ายเดียวให้กับพวกพ้องของตัวเองหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากเป็นเช่นนั้นคงไม่ใช่การสมานฉันท์ปรองดอง
หากจะให้ปัญหายุติจะต้องเท่าเทียม เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ประเด็นนิรโทษกรรม ทางคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ยังไม่ได้พูดคุยกัน แต่หลักๆ คิดว่าทุกฝ่ายคงอยากให้เกิดความเท่าเทียม
ทิศทางในการแก้มาตรา 237 คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ อยากให้นายกฯ มีความชัดเจน เพราะเรื่องนี้รัฐบาลถือเป็นเจ้าภาพหลัก สภาเป็นฝ่ายปฏิบัติการ อำนาจอยู่ที่รัฐบาล อยู่ที่ตัวนายกฯ รวมถึงคนข้างหลังนายกฯ ว่าต้องการให้ออกมาเป็นแบบไหน เพราะมาตรา 237 ถือเป็นดาบไปฆ่าพรรคการเมือง
ดังนั้น นายกฯ ต้องตอบโจทย์และตอบใจตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะทำหรือไม่ทำ ต้องคำนึงถึงผลได้เสีย เพราะถ้าอยากจะเริ่มใหม่ เราจะดูที่ความจริงใจ และพร้อมจะให้ความร่วมมือถ้ามีเจตนาที่ต้องการแก้จริงๆ
ศุภชัย โพธิ์สุ
คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ พรรคภูมิใจไทย
พรรคเห็นว่ามาตรา 237 ยังมีอยู่ ไม่ได้ตัดทิ้งทั้งมาตรา เพียงแต่ไม่ให้มีการยุบพรรคเพราะเป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคล
การตัดสิทธิ์ทางการเมืองผู้กระทำผิดให้คงไว้ได้ แต่ไม่ควรยุบพรรค
ส่วนการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคคนอื่น ต้องมีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนว่ากรรมการบริหารพรรคคนนั้นไปร่วมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดด้วย
มิฉะนั้นจะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกลงโทษ จะเป็นการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล เพราะผู้ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิด แต่ต้องมารับโทษเสมือนเป็นตัวการกระทำผิด ไม่เป็นธรรมต่อสมาชิกพรรค หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคหรือพรรคการเมืองนั้น
จึงควรให้เป็นความผิดเฉพาะตัว
ส่วนการนิรโทษกรรม เบื้องต้นยังหาข้อสรุปชัดเจนไม่ได้ แต่แนวทางที่หารือไว้ หากเป็นการนิรโทษกรรมในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา เราไม่คัดค้าน
แต่หลักการของพรรคภูมิใจไทยต้องให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อน
หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นอย่างไรก็น่าจะเป็นไปตามนั้น
หน้า 6 | http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROd2Iyd3dOVEExTURVMU1nPT0=§ionid=TURNd05BPT0=&day=TWpBd09TMHdOUzB3TlE9PQ== |
Windows Live™: Keep your life in sync.
Check it out.