วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้

หลังจากที่มีการก่อสร้างมานานหลายปี แถมยังเปิดให้เข้าชมเป็นการทดลองไปเมื่อสามเดือนก่อน มาในวันนี้ "พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้" หรือที่เปลี่ยนชื่อเป็น "พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม" ก็ได้ฤกษ์ดีวันที่ 2 เมษายนวันนี้เป็นวันเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมกันได้ฟรี

สำหรับคนที่ยังไม่เคยได้ยินชื่อ "พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม" มาก่อน ฉันก็จะขออธิบายเสียหน่อยว่าพิพิธภัณฑ์นี้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่บนถนนสนามไชย เรื่องราวในพิพิธภัณฑ์นั้นก็เน้นเรื่องประวัติศาสตร์ไทย แต่ที่โดดเด่นก็คือการเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่เน้นสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในการชมพิพิธภัณฑ์ และยังเน้นให้เด็กและเยาวชนไทยสร้างสำนึกในการรู้จักตนเอง รู้จักเพื่อนบ้าน และรู้จักโลก ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และทำให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

พูดไปก็สองไพเบี้ย เพราะสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น และสิบตาเห็นก็ไม่เท่ามือคลำ เพราะฉะนั้นจงไปคลำพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยามด้วยตนเองเลยดีกว่า ที่บอกว่าให้คลำนั้นไม่ได้โม้ เพราะที่พิพิธภัณฑ์นี้เขาให้ทั้งจับ ทั้งคลำ ทั้งเล่น ทั้งถ่ายรูป ไม่หวงห้ามให้เสียอารมณ์

ภายในพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยามนั้น ได้จัดแบ่งห้องแสดงนิทรรศการออกเป็น 17 ห้องด้วยกัน โดยห้องแรกสุดที่เราจะเข้าไปดูกันนั้นก็คือ ห้อง "ตึกเก่าเล่าเรื่อง" ด้วยเหตุที่ว่าตึกที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยามนั้นเป็นตึกเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเคยเป็นกระทรวงพาณิชย์มาก่อน อีกทั้งยังมีสถาปัตยกรรมที่งดงาม เราจึงควรมารู้จักกับตึกนี้กันก่อน

ภายในห้องนี้มีรูปเก่าและข้าวของต่างๆ ที่ขุดพบในระหว่างบูรณะตึกนี้ และยังมีพระรูปของ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ" ต้นสกุลกิติยากร ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พระองค์แรก ในปี พ.ศ.2463

จากนั้นเราไปต่อกันที่ "ห้องเบิกโรง" ซึ่งจะเป็นการชมวีดีทัศน์ที่จะเป็นการแนะนำตัวละครทั้ง 7 ตัวที่จะเป็นคนพาผู้ชมย้อนกลับไปสู่เรื่องราวที่เป็นต้นกำเนิดตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิมาจนถึงการเป็นประเทศไทย ฉันเชื่อว่า หลังจากที่ทุกคนได้เข้าไปในห้องเบิกโรงแล้ว ก็แทบจะรอไม่ไหวที่จะเข้าไปชมห้องอื่นๆ ในพิพิธภัณฑ์ แถมยังจะเกิดคำถามขึ้นในหัวว่า คนไทยมาจากไหน? เราเป็นใคร? และใครคือไทย?

ออกจากห้องเบิกโรงมาที่ห้อง "ไทยแท้" ที่มีจุดเด่นอยู่ที่รถตุ๊กๆ ของจริงที่นำมาไว้ในห้อง โดยห้องนี้จะทำให้เราเกิดความอยากรู้ว่า ไทยแท้คืออะไรกันแน่? จากนั้นไปที่ห้อง "เปิดตำนานสุวรรณภูมิ" ที่แสดงถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ ก่อนที่จะมาเป็นบรรพบุรุษของชาวสุวรรณภูมิ ซึ่ง "สุวรรณภูมิ" นั้นก็คือชื่อที่ชาวโลกเมื่อ 3,000 ปีก่อนใช้เรียกดินแดนแห่งความมั่งคั่งทางทิศตะวันออกของอินเดีย

จากนั้นมาที่ห้อง "สุวรรณภูมิ" ที่ทำให้ฉันได้รู้จักสุวรรณภูมิผ่านผู้คน การเกษตร การค้า การสร้างเมือง โลหะ และความเชื่อผี พราหมณ์ และพุทธในสมัยนั้น แล้วเดินต่อมาที่ห้อง "พุทธิปัญญา" ที่มุ่งให้ผู้ชมเข้าใจถึงหัวใจของพุทธศาสนาซึ่งทำให้สังคมสงบสุข


คราวนี้มาถึงห้องที่สำคัญห้องหนึ่ง นั่นก็คือห้อง "กำเนิดสยามประเทศ" ที่พูดถึงนานาแว่นแคว้นก่อนการกำเนิดของอาณาจักรอยุธยา สิ่งหนึ่งที่ฉันสังเกตก็คือ ที่นี่จะไม่บอกว่าประเทศไทยเริ่มจากกรุงสุโขทัย จากนั้นมาเป็นอยุธยา แล้วจึงกลายมาเป็นกรุงเทพฯ แต่จะพูดถึงการรวมตัวของแว่นแคว้นต่างๆ รวมไปถึงอยุธยาก็เป็นหนึ่งในรัฐที่เข้มแข็งและมีอำนาจ โดยมีพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น

เมื่อกรุงศรีอยุธยาถือกำเนิดขึ้นแล้ว ก็มาดูความรุ่งเรืองของอยุธยาในห้อง "สยามประเทศ" ที่มีทั้งสภาพภูมิศาสตร์เหมาะสม มีความสมบูรณ์ของธรรมชาติ จึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้า และทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลายในหลายๆ ด้าน สิ่งที่โดดเด่นในห้องนี้ก็คือกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค ที่ถือพระราชสัญลักษณ์แห่งสมมุติเทวราชของกรุงศรีอยุธยา แขวนลอยไว้อย่างสวยงามกลางห้อง

แต่อาณาจักรที่สงบและรุ่งเรืองก็ไม่พ้นจะต้องทำสงครามเพื่อแสดงสิทธิ์เหนืออาณาจักรอื่น และเพื่อกวาดต้อนคนไปเป็นแรงงาน อีกทั้งเพื่อครอบครองสินค้าสำคัญของรัฐอื่น ชมเรื่องราวการต่อสู้ได้ในห้อง "สยามยุทธ์" โดยนอกจากการสู้รบแล้ว ก็ยังแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญา การวางยุทธพิชัยสงคราม กลุ่มชาติพันธ์ และศิลปกรรมอีกด้วย

จากนั้นมาที่ห้อง "แผนที่ ความยอกย้อนบนกระดาษ" แสดงให้เห็นถึงกำเนิดของแผนที่ประเทศ แม้ว่าผืนดินตามธรรมชาติไม่ได้มีเส้นแบ่งใดๆ มาขวางกั้น แต่คนก็สร้างพรมแดนนั้นขึ้น และสร้างให้ "ชาติ" มีตัวตนขึ้นมาจริงๆ

หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาล่มสลายลง ชาวกรุงศรีก็มาสร้างเมืองของพวกเขาขึ้นมาใหม่บนผืนดินบางกอก ที่พวกเขาได้จำลองแนวคิดและสืบสานวัฒนธรรมมาจากเมืองเก่ามากมาย ไม่ใช่เพียงคนกรุงเก่าเท่านั้นที่มาช่วยสร้างเมืองกรุงเทพฯ แต่จะมีใครมาช่วยบ้างนั้นก็ต้องเข้าไปดูในห้อง "กรุงเทพใต้ฉากอยุธยา"

ส่วนห้อง "ชีวิตนอกกรุงเทพ" ก็แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวเกษตรนอกกรุงเทพฯ และเราจะได้รู้จักกับอุปกรณ์ดักจับสัตว์ เครื่องมือทำกิน ความเชื่อ พิธีกรรมของวิถีเกษตร รวมไปถึงภูมิปัญญาที่มีค่ามากมาย


แต่ความเปลี่ยนแปลงก็ถือเป็นนิรันดร์ รวมไปถึงสยามประเทศด้วยเช่นกัน ชมการเปลี่ยนแปลงได้ที่ห้อง "แปลงโฉมสยามประเทศ" ที่แสดงให้เห็นว่า "ถนน" เป็นตัวเปลี่ยนวิถีชีวิตที่คุ้นชินกับสายน้ำและความแช่มช้า มาเป็นความรวดเร็วเร่งรีบ การเปลี่ยนแปลงยังไม่หมดเท่านั้น แต่เปลี่ยนไปถึงชื่อประเทศจากสยามประเทศมาเป็นประเทศไทย ชมการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ที่ห้อง "กำเนิดประเทศไทย"

แต่เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ทำให้เกิดสีสันและชีวิตชีวามากขึ้น ที่ห้อง "สีสันตะวันตก" เราจะได้เห็นบ้านเมืองช่วงทศวรรษที่ 1940 ช่วงที่เศรษฐกิจกำลังรุ่งเรือง ผู้คนยิ้มแย้ม มีเสียงเพลงแห่งความหวัง กล่อมให้ผู้คนลืมความเจ็บปวดจากสงครามไปได้ ประเทศไทยเองก็เปิดรับวัฒนธรรมของอเมริกาเข้ามาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

จากนั้นมาถึง "ห้องเมืองไทยวันนี้" ที่มีแนวคิดว่า หากทุกคนเรียนรู้ความเป็นไทยที่แท้จริง ความเป็นไทยที่อยู่บนพื้นฐานของความหลากหลาย ความเป็นไทยที่รู้จักเลือกรับและปรับใช้ ก็น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้

แล้วก็มาถึงห้องสุดท้าย ห้อง "มองไปข้างหน้า" ที่เน้นการจัดแสดงที่ชวนให้คิดและตระหนักว่า อนาคตประเทศไทย แท้จริงอยู่ในมือของคนรุ่นปัจจุบัน ห้องนี้รับรองว่าสนุก เพราะจะมีปากกาดิจิตอลให้เราเขียนบอกความคิดของเราที่อยากฝากถึงนายกรัฐมนตรี แม้ว่านายกฯคงไม่ได้มาอ่าน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความต้องการหลายๆ แนวทางของผู้ที่มาชมได้

เดินจนเหนื่อย แต่ก็ครบถ้วนทั้ง 17 ห้องของพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์ที่ทำให้ฉันก็รู้สึกว่าสามารถสนุกไปกับเรื่องราวต่างๆ ในนี้ได้ เพราะที่นี่ตั้งใจให้มาตั้งคำถาม มาหาคำตอบ และสนุกกับทุกสิ่งในพิพิธภัณฑ์ได้ไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ การจับต้อง และเล่นสนุกกับอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ ที่มีไว้ให้ ยิ่งถ้าหากเป็นเด็กยิ่งสนุกสนานกันได้เต็มที่ ส่วนผู้ใหญ่ใจเป็นเด็กก็สามารถสนุกสนานกับความรู้ใน "พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม" กันได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป




พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม ตั้งอยู่ที่ ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ (กระทรวงพาณิชย์เดิม ตรงข้ามโรงเรียนวัดราชบพิธ) เปิดให้เข้าชมฟรี (ในระยะเริ่มแรก) ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ในเวลา 09.30-18.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-2622-2599 หรือ www.ndmi.or.th


ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=61400

Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.